จับตาดึงเงินชราภาพ

ประกันสังคม
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สันติ จิรพรพนิต

แม้ช่วงนี้ข่าวคราวคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่… (พ.ศ.) กรณีเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพออกใช้ก่อนอายุ 55 ปี จะเงียบหายไปบ้าง เพราะมีเรื่องใหญ่อื่น ๆ อยู่ในความสนใจ

ล่าสุดไม่พ้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งได้ผู้ว่าฯคนใหม่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่ทำสถิติกวาดเสียงกว่า 1.38 ล้านคะแนน ถล่มทลายที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กันมา

แม้ข่าวเรื่องแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคมจะซา ๆ ไปบ้างเพราะอยู่ในขั้นเตรียมเข้าที่ประชุมสภา แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ของคนทำงานในระบบ และคนส่งเงินประกันสังคม เนื่องจากมีส่วนได้-เสียโดยตรง

เนื้อหาโดยสรุปการแก้ พ.ร.บ.ครั้งนี้ แบ่งเป็น “3 ขอ” ประกอบด้วย “ขอเลือก-ขอกู้-ขอคืน”

“ขอเลือก” เปลี่ยนจากเดิมที่ผู้ส่งเงินประกันสังคมครบ 180 เดือน เมื่ออายุ 55 ปี ได้สิทธิรับบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต ตามสัดส่วนที่ส่งเงินสมทบ แต่ถ้าส่งไม่ถึงจะได้รับบำเหน็จหรือเงินก้อนเดียว เป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินครบ 180 เดือน หรือมากกว่านั้น สามารถเลือกได้ว่าจะขอรับบำนาญ หรือบำเหน็จ

“ขอกู้” ผู้ประกันตนสามารถใช้วงเงินชราภาพที่ส่งไปแล้วมาค้ำประกันเงินกู้ได้

“ขอคืน” สามารถนำเงินกรณีชราภาพที่สมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคม ออกมาใช้ก่อนบางส่วน

การเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากกลุ่มนักวิชาการ แม้กระทั่งหน่วยงานของรัฐเอง เพราะมองว่าขัดหลักการดั้งเดิมที่แบ่งเงินส่วนหนึ่งดูแลช่วงหลังเกษียณอายุ เพื่อให้คนทำงานในระบบ มีเงินใช้จ่ายในช่วงที่ไม่มีรายได้ประจำแล้ว

ทั้งยังอาจกระทบกับผู้ประกันตนส่วนอื่นที่ไม่ต้องการใช้สิทธิ โดยเฉพาะกรณีขอกู้และขอคืน เพราะประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะมีคนใช้สิทธิ 5 ล้านคน ดึงเงินออกจากกองทุนชราภาพราว ๆ 1.5 แสนล้านบาท

ทำให้สำนักงานประกันสังคมต้องนำเงินที่อาจลงทุนระยะยาวได้ผลตอบแทนดีกว่า มาเป็นลงทุนระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า เพื่อเตรียมเงินให้สมาชิกใช้สิทธิ 3 ขอดังกล่าว

กรณี “ขอเลือก” นั้นไม่น่าห่วงเท่าใดนัก เพราะผู้ประกันตนแต่ละคนมีเงื่อนไขต้องการใช้เงินในวัยเกษียณต่างกัน บางคนอาจต้องการเงินก้อนไปใช้จ่าย เพราะคิดว่าตัวเองมีเงินเก็บมากพอแล้ว ขณะที่บางคนอาจต้องการเงินรายเดือนใช้ไปยันตาย โดยไม่ต้องห่วงว่าเดือนไหนจะไม่มีรายได้เข้ามา

ถึงแม้ตัวเลขอาจไม่มากนักราว ๆ 4-7 พันบาท/เดือน (แล้วแต่ระยะเวลาการส่งเงินสมทบ) แต่อย่างน้อยไม่ต้องกลัวอดตาย

แต่สำหรับ 2 กรณีหลังน่าเป็นกังวล เพราะเท่ากับนำเงินในยามแก่เฒ่ามาใช้ล่วงหน้า และไม่มีใครรับประกันได้เลยว่าผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิทั้ง 2 กรณี จะสามารถมีรายได้เพียงพอดำรงชีพเมื่อถึงวัยเกษียณ

ในทุกสังคมมีคนอย่างน้อย 2 ประเภท คือ มองการณ์ไกล กับมองระยะสั้น ๆ แน่นอนการดึงเงินชราภาพมาใช้ล่วงหน้าแบบขอกู้ หรือขอคืน บางคนอาจเดือดร้อนจริง ๆ แต่บางคนอาจต้องการเงินมาใช้สอยในทางอื่น โดยที่ตัวเองไม่ได้เดือดร้อนขนาดนั้น

ด้วยหลักคิดแบบนี้แหละทำให้ประกันสังคมเป็นภาคบังคับ เพราะหากไม่บังคับเชื่อว่ามีคนจำนวนหนึ่งเลือกไม่ส่งเงิน เพราะคิดว่ากว่าจะได้ใช้ต้องรอจนเกษียณ สู้นำเงินเดือนละ 750 บาท (ขั้นสูงสุดหักเงินประกันสังคมจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท) มาใช้ดีกว่า

นอกจากนี้ยังมีบางส่วนกังวลเกี่ยวกับการเริ่มเอื้อมมือเข้ามาของผู้มีอำนาจ เพราะต้องไม่ลืมว่าประกันสังคมมีเงินจำนวนมหาศาล ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามเข้ามาก้าวก่าย หรือชี้นำพอร์ตลงทุนของประกันสังคม


ได้แต่หวังว่านี่คงไม่ใช่ “ก้าวแรก” ก่อนจะมีก้าวต่อไปในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อหาประโยชน์จากเงินประกันสังคม ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม