งานท้าทายยุคผู้ว่าฯชัชชาติ

Photo by Jack TAYLOR / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

แม้มีการวิเคราะห์กันว่าอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯภายใต้กฎหมายปัจจุบัน มีจำกัด เพราะอำนาจการตัดสินใจ ไม่ว่าเรื่องจราจร น้ำ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อยู่ที่กระทรวงใหญ่ ๆ ของรัฐบาล แต่ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้คะแนนเกิน 1.38 ล้านเสียง

สะท้อนว่าเสียงสนับสนุนจากประชาชนคนกรุงเทพฯ ให้ผู้ว่าราชการคนใหม่ทำงาน ทำงาน และทำงานเต็มที่ เพื่อจะมีผลงานให้เห็นเร็ววัน หลังจากประชาชนไม่ได้เชื่อมต่อกับผู้ว่าฯ กทม.โดยตรงมานานกว่า 8 ปี โจทย์ยากของผู้ว่าฯคนใหม่จึงอยู่ที่การทำงานในกรอบอำนาจที่จำกัด และแสดงถึงประสิทธิภาพสูงสุด

หลังการเลือกตั้ง มีข้อถกเถียงทางการเมืองว่า การเลือกตั้งกรุงเทพฯ ทั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก. สะท้อนภาพการเมืองระดับชาติมากน้อยเพียงใด ต่อการเลือกตั้งทั่วไปในอนาคตแต่เรื่องที่ชัดเจนคือ กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่แค่จังหวัดเดียว

แต่เป็นศูนย์กลางเกือบทุกสิ่งในประเทศไทย มียอดมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด-GPP อยู่ราว 4 ล้านล้านบาท จากตัวเลขเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ขณะที่ประเทศไทยมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม-GDP ของประเทศเมื่อปี 2561 อยู่ 16.3 ล้านล้านบาท หรือราว 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรุงเทพฯในฐานะเขตปกครองพิเศษ ได้งบประมาณปี 2565 ราว 79,855 ล้านบาท ส่วนจังหวัดต่าง ๆ มีวงเงินที่จัดสรรรวมกันประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี หรืออาจน้อยกว่า องค์ประกอบทางเศรษฐกิจเหล่านี้ รวมถึงการเลือกตั้งที่ประชาชนเลือกพ่อเมืองได้เอง

บ่งบอกว่ากรุงเทพฯ มีสถานะพิเศษกว่าจังหวัดอื่น ๆ และมีปัญหาใหญ่ที่ซับซ้อนมากมาย ยุคของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โจทย์ยากและเพิ่มความซับซ้อนจากประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจไว้ด้วยกันคือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ระหว่างการหาเสียง ผู้สมัครหลายคน รวมถึง ดร.ชัชชาติ ต่างเห็นตรงกันว่า ควรยุติการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี ดังนั้น เมื่อ ดร.ชัชชาติได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ย่อมมีประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด

ก่อน ดร.ชัชชาติจะเข้ามาบริหาร กทม.มีหนี้สะสมที่ต้องจ่ายบีทีเอส ตั้งแต่ปี 2560 เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ตามสัญญาสิ้นสุดสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักถึงปี 2572 หาก ดร.ชัชชาติต้องการเปิดประมูลหาผู้เดินรถรายใหม่ เพื่อหาทางลดค่าโดยสารลง ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ อาจเกิดข้อพิพาทกับบีทีเอส

ไม่เท่านั้น การขยายสัญญาสัมปทานดังกล่าวให้กับบีทีเอส ยังเป็นการงัดข้อกันมาอย่างยาวนานตลอด 3 ปี ระหว่างเจ้ากระทรวงคมนาคมกับกระทรวงมหาดไทยมหาดไทยเสนอให้ขยายสัญญาออกไป เพื่อแลกกับการเก็บค่าโดยสาร 65 บาท ตลอดสาย

แต่ทางคมนาคมไม่เห็นด้วย และแสดงออกถึงการประท้วงหลายครั้ง การเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้ของผู้ว่าฯชัชชาติ จึงเป็นงานท้าทายและพิสูจน์อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. อย่างแท้จริง