การเปลี่ยนแปลงของ Yield Curve ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันอย่างไร ?

คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)

ก่อนที่จะเข้าเรื่องผลกระทบต่อธุรกิจประกัน เรามาทำความรู้จักก่อนว่า yield curve คืออะไร ?

yield curve คือการเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนแต่ละช่วงอายุของพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งโดยปกติแล้วพันธบัตรที่มีอายุมากกว่าจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าระยะสั้น ด้วยเหตุผลเรื่องเวลาความเสี่ยงและสภาพคล่อง

นักลงทุนจึงคาดหวังที่จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเพื่อเป็นค่าชดเชยความเสี่ยง (liquidity premium) กรณีที่ต้องลงทุนในระยะเวลาที่มาก และเมื่อเราเอาผลตอบแทนมาพลอตเป็นกราฟก็จะมีลักษณะชันขึ้นจากซ้ายไปขวาดังแผนภูมิที่ 1 ซึ่งเป็นลักษณะปกติของผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล หรือเรียกว่า “yield curve” ตั้งแต่รุ่นอายุ 1 เดือน จนถึง 30 ปี

หรืออีกนัยหนึ่ง คือยิ่งอายุในการไถ่ถอนยาวนานมากเท่าไร ผลตอบแทนยิ่งมากขึ้นตามนั่นเอง

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน จะสังเกตเห็นว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลมีการฟื้นตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบัน (เดือนเมษายน 2022) ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกัน

โดยหากเปรียบเทียบผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระหว่างธันวาคม 2021 และเมษายน 2022 จะมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 1 ในช่วงระยะเวลาไถ่ถอนที่ 1 ถึง 20 ปี ตามกราฟิก

เมื่อเทียบผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจากปีก่อน ๆ การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร รัฐบาลที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นถือว่าเป็นเรื่องดีและเป็นประโยชน์โดยตรงสำหรับธุรกิจประกันภัย แต่ก่อนจะเข้าใจว่าดียังไงนั้น ขออธิบายภาพรวมของธุรกิจประกันก่อน

ธุรกิจประกันมีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นในเรื่องของการรับรู้รายได้ เพราะโครงสร้างธุรกิจประกันเป็นการนำสัญญามาดำเนินการและสัญญาว่าจะจ่ายเงินในอนาคต หรือพูดง่าย ๆ คือเป็นธุรกิจที่ได้รับเงินมาก่อนและต้นทุนเกิดขึ้นทีหลัง ซึ่งตามปกติแล้วในภาวะดอกเบี้ยสูงนั้นการได้เม็ดเงินเบี้ยประกันเข้ามาจะมีการตั้งสำรองที่ต่ำ ทำให้บริษัทมีเม็ดเงินที่จะบันทึกกำไรได้สูง

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ สมมุติว่า “บริษัทมีสัญญาที่จะต้องจ่ายเงินให้ผู้ถือกรมธรรม์ในอนาคต 1 ล้านบาท วันนี้บริษัทเลือกใส่เงินพอร์ตลงทุน 9 แสนบาท เพื่อให้งอกเงินเป็น 1 ล้านบาทในอนาคต แต่เพราะอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น บริษัทจึงคิดว่า วันนี้ลงทุนในพอร์ตเพียงแค่ 8 แสนบาทก็เพียงพอ ที่จะทำให้เงินงอกเงยเป็น 1 ล้านบาทในอนาคตได้”

ซึ่งในประเทศไทยนั้น จะมีบริษัทประกันอยู่ 2 ประเภท คือประกันชีวิต และประกันวินาศภัย ในส่วนของบริษัทประกันชีวิตหลัก ๆ คือการรับประกันชีวิต ประกันสุขภาพ รวมไปถึงประกันแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งประกันประเภทเหล่านี้เป็นประกันภัยที่มีระยะเวลาสัญญายาว บริษัทประกันชีวิตเหล่านี้ก็จะเก็บเงินของผู้เอาประกันภัยที่ได้จ่ายในช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิตของเขาไว้ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก และระหว่างทางนี้เอง บริษัทก็จะนำเงินตรงนี้ไปสร้าง
ผลกำไร ไม่ว่าจะเป็นการนำไปซื้อตราสารหนี้ หรือนำไปลงทุนอื่น ๆ ซึ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็จะได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้ด้วย

และในส่วนการประกันอีกประเภท คือการประกันวินาศภัย บริษัทกลุ่มนี้จะรับความคุ้มครองเกี่ยวกับวินาศภัยต่าง ๆ เช่น ประกันรถยนต์ ประกันขนส่ง ประกันอัคคีภัย ฯลฯ ซึ่งก็ได้รับผลประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นเหมือนกัน แต่อาจจะไม่มากเท่ากับบริษัทประกันชีวิต เพราะว่าโครงสร้างการประกันวินาศภัยส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาระยะสั้นแบบปีต่อปี ซึ่งต่างจากบริษัทประกันชีวิตที่มีสัญญากับผู้ถือกรมธรรม์ที่ยาวนานมากกว่า ส่วนบริษัทประกันชีวิตต่อนั้นจะรับประกันภัยต่อจากธุรกิจประกันชีวิตที่มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว และบริษัทประกันวินาศภัยต่อนั้นจะรับประกันภัยต่อจากธุรกิจประกันวินาศภัยเท่านั้นจึงได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปตามแต่ธุรกิจที่ได้รับมา