3 หมอ 3 รพ.พิสูจน์ “หัวใจ” เชื่อใครดี ?…

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังว่าเมื่อหมอ “วินิจฉัยโรค” อย่าเพิ่ง “ปักใจเชื่อ” ให้ลองไปหาหมอมากกว่า 1 คน ประสบการณ์ตรงจากการวินิจฉัยของหมอ 3 คนจาก 3 โรงพยาบาล

ทำเอา “งง”…เอ๊ะ ! ตกลง…เรา “ป่วย” ? หรือ “ไม่ป่วย” ? กันแน่ !!

เริ่มต้นจากผลการตรวจสุขภาพประจำปีที่ออฟฟิศ ปรากฏว่าผลตรวจสุขภาพทั่วไปทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ปกติหมด เพราะปกติเป็นคนมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เป็นความดันโลหิตสูง ไม่เป็นเบาหวาน น้ำหนักตัวและระดับไขมันทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานปลอดภัย

เพียงแต่ผลการตรวจ “คลื่นไฟฟ้าหัวใจ” หมอวินิจฉัยออกมาว่า “หัวใจโต”

แต่ร่างกาย “ไม่แสดงอาการผิดปกติ” ใด ๆ ของคนที่ “ส่อ” ว่าจะเป็น “โรคหัวใจ” เช่น ไม่หายใจลำบาก…ไม่เหนื่อยง่ายกว่าปกติ…ไม่หายใจเร็ว…

ไม่เวียนศีรษะ…ไม่อ่อนเพลียง่าย…

ไม่ใจสั่น…ไม่แน่นหน้าอก ฯลฯ

สรุปคือ ไม่มี “สัญญาณ” ใด ๆ เตือนสำหรับคนที่จะเป็น “โรคหัวใจ” จึงไม่ได้สนใจกับตัวเองเท่าใดนัก

มาปีนี้ผลการตรวจสุขภาพของออฟฟิศฟ้องว่า การตรวจคลื่นหัวใจ…ยังไม่ปกติเช่นเดิมต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

ประกอบกับวันนั้นมีข่าวของ “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ถึงแก่อนิจกรรมกะทันหัน ด้วยอาการ “หัวใจวายเฉียบพลัน”

ประกอบกับตัวเลขของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุถึงสถิติขององค์การอนามัยโลก ปี 2555 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ 7.4 ล้านคนต่อปี

และข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงปี 2555-2558 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการตายด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจต่อประชากร 100,000 คน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังพบว่าการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือด พบว่ามีอัตราตายและอัตราตายก่อนวัยอันควรระหว่างอายุ 30-69 ปี

จึงทำให้เริ่มหวาดหวั่น และได้ไปตรวจ

สุขภาพซ้ำอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นทันที !

โดยเลือกโรงพยาบาลเอกชนที่คิดว่าดีระดับหนึ่ง มีเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจซ้ำอีกครั้ง !! กับ “แพทย์เฉพาะทาง” ด้านหัวใจ เพื่อยืนยันว่า จะตรงกับผลการตรวจสุขภาพที่ออฟฟิศหรือไม่ !

ผลออกมา หมอหนุ่ม ๆ อายุราว 40 ปีต้น ๆ บอก พบว่า “หัวใจเต้นผิดปกติ” !! แต่ยังไม่สามารถฟันธง !! ได้ว่า เป็นอะไรกันแน่ !!

หมอบอก ถ้าอย่างนั้นตรวจ “อัลตราซาวนด์หัวใจ” ต่อ และให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการให้ตรวจด้วย “การเดินบนสายพาน” พร้อมติดสายระโยงระยางเต็มตัวไปหมด

สรุปผลเบื้องต้นพบ “หัวใจเต้นผิดปกติ” !! แต่ยังไม่ฟันธง !! เพียงบอกอาจจะ “ส่อ” เป็น “เส้นเลือดตีบ” ได้ !!

แต่ยังไม่มีอะไรชัดเจน พร้อมนัดมาตรวจซ้ำปลายเดือนนี้

ทำเอาเริ่มใจคอไม่ค่อยดี !

แต่ด้วยโรงพยาบาลแห่งแรกราคาค่อนข้างสูง จึงได้ปรึกษาเพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นคุณหมอท่านหนึ่งว่า จะเอาอย่างไรดีกับผลตรวจที่ยังค้างคาใจ และด้วยตัวเองมีประกันสังคมอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐอีกแห่งหนึ่ง

เพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นหมอแนะนำให้ลองมาตรวจสุขภาพซ้ำอีกครั้งกับ “คุณหมอมือหนึ่ง” ด้านโรคหัวใจใน “โรงพยาบาลของรัฐ” ชื่อดังแห่งหนึ่งอีกครั้ง

พร้อมนำเอกสารผลการตรวจทั้งหมดจากทั้ง 2 โรงพยาบาลมาด้วย (รวมถึงผลการตรวจสุขภาพประจำปีที่ออฟฟิศ)

ห่างกันเพียง 6 วัน คุณหมออาวุโสท่านนี้ตรวจสุขภาพเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ประกอบกับการพิจารณาข้อมูลทั้งหมด พร้อมกับวินิจฉัยแบบฟันธง ลงในใบรับรองแพทย์ว่า “หัวใจปกติดี” !!

ประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับ

ตัวเอง…จนถึงวินาทีนี้ ยังไม่แน่ใจว่า

ตกลง “หัวใจ” เรามัน “ปกติ” หรือ “ไม่ปกติ” กันแน่ !!

แต่ที่แน่ ๆ จึงไม่อยากให้ทุกคน

ตื่นตกใจ !! หากไปตรวจวินิจฉัยโรคใด ๆ ก็ตาม และถูกสรุปว่า เป็นโรคร้ายแรง !!

จนกว่าจะได้ตรวจสุขภาพซ้ำกันครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3

แต่ที่สำคัญทุกคนคงต้องมั่นตรวจเช็กร่างกาย ดูแลสุขภาพกันมากขึ้น

อย่าคิดว่าดูแลสุขภาพ เลือกกินอาหารมาดีพอสมควรระดับหนึ่งแล้ว…จะไม่เป็นอะไร

โดยเฉพาะการเลือกกินอาหาร ซึ่งมีเพื่อนสมัยเรียนที่เป็นโรคหัวใจ และทำบอลลูนถึง 4 ครั้งได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับโรคหัวใจมาหลายเล่ม

ระบุทำนองใกล้เคียงกันว่า “การเลือกรับประทานอาหาร มีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อคนเป็นโรคหัวใจถึง 70%”…

ทุกวันนี้อาหารขยะมีมากมาย ขณะที่วัตถุดิบผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ หลายครั้งพบการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นพิษ จึงเป็นเรื่องยากพอสมควร สำหรับคนที่ฝากท้องไว้กับร้านอาหารบางแห่ง และซื้อกับข้าวถุงจากบางร้าน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องหันมาใส่ใจทำอาหารทานเองกันมากขึ้น