Urban Air Mobility แท็กซี่ลอยฟ้ากับจินตนาการที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง

แท็กซี่ลอยฟ้า
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : ปุญญภพ ตันติปิฎก 
        EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

 

หากคุณเคยจินตนาการว่าการเดินทางด้วยรถบินได้หรือแท็กซี่ลอยฟ้า เป็นเพียงจินตนาการของโลกอนาคต คุณรู้หรือไม่ว่าจินตนาการนี้กำลังจะเป็นรูปธรรมอีก 1-3 ปีข้างหน้าจากการพัฒนาการเดินทางรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า การเคลื่อนย้ายทางอากาศในเขตเมืองและชานเมือง (urban air mobility : UAM) ซึ่งจะพลิกโฉมการเดินทางในอนาคต

UAM คือระบบการขนส่งทางอากาศที่ให้บริการขนส่งทั้งผู้โดยสารและพัสดุสินค้าบริเวณภายในเมืองและชานเมืองในระดับความสูงต่ำ ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางทางอากาศมีความสะดวกปลอดภัยในราคาเหมาะสมและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

โดยหนึ่งในยานพาหนะหลักที่นำมาให้บริการ คือ อากาศยานไฟฟ้าที่ขึ้น-ลงแนวดิ่ง (electric vertical take-off and landing aircraft : eVTOL) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่โดรนขนส่งพัสดุจนถึงเครื่องบินขนส่งผู้โดยสารขนาดเล็ก อีกทั้งสามารถขับเคลื่อนได้หลายวิธี ตั้งแต่การใช้นักบินขับขี่ การใช้รีโมตคอนโทรลบังคับโดยนักบิน จนถึงระบบอัตโนมัติโดยไม่ใช้นักบิน โดยให้บริการผ่านสถานีขึ้น-ลงแนวดิ่งเฉพาะ

ธุรกิจ UAM เป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่กำลังเป็นที่สนใจและจะเติบโตในอนาคต จึงทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก โดย Mckinsey ประเมินว่าการลงทุนด้าน UAM เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา และยิ่งเร่งตัวมากขึ้นในปี 2021 จากมูลค่าลงทุนถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าระหว่างปี 2011-2020 ที่อยู่ที่ราว 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐกว่าเท่าตัว

อีกทั้งในปี 2021 มีบริษัทที่ลงทุนด้านนี้ถึง 5 แห่งที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก และมีมากกว่าอีก 200 แห่งรวมผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกด้วยที่กำลังศึกษา eVTOL และ KPMG ประเมินว่า ในปี 2035 มูลค่าตลาดให้บริการ UAM จะอยู่ที่ 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.19 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2040

ทั้งนี้ บริการขนส่งผู้โดยสารด้วย UAM จะช่วยให้การเดินทางภายในเมืองมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นในราคาที่เข้าถึงได้ พร้อมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดและมลพิษโดยเฉพาะในมหานครทั่วโลกที่จะยิ่งรุนแรงจากกระแส urbanization โดย J.P. Morgan ประเมินว่า การขนส่งผู้โดยสารด้วย UAM จะช่วยลดเวลาเดินทางมากกว่า 70%

ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางในเมือง ระยะทาง 40 กม. การใช้ UAM จะช่วยประหยัดเวลาจาก 1 ชม.ด้วยรถยนต์ เหลือเพียง 12 นาที ส่วนค่าบริการ UAM ยังอยู่ในระดับที่เข้าถึงได้ โดยแม้ค่าโดยสารที่ 82.5 ดอลลาร์สหรัฐ จะแพงกว่ารถยนต์ 1.2 เท่า แต่ยังถูกกว่าเฮลิคอปเตอร์กว่า 4 เท่า อีกทั้งผู้ผลิต eVTOL ยังคาดว่าหากการใช้ UAM เพิ่มสูงขึ้นจะยิ่งทำให้ค่าโดยสารลดลงจนสามารถแข่งขันกับธุรกิจ ride-hailing ได้จากการประหยัดต่อขนาด

ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มใช้ UAM บ้างแล้วในโดรนขนส่งสินค้า และอยู่ระหว่างทดสอบการขนส่งผู้โดยสารด้วย eVTOL ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล หน่วยงานกำกับดูแลทางอากาศ และบริษัทผู้ผลิต พร้อมทั้งตั้งเป้าเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 2023-2025

“ดูไบ” ถือเป็นเมืองแรก ๆ ที่วางแผนนำ UAM มาขนส่งผู้โดยสารตั้งแต่ปี 2017 โดยร่วมมือกับ Volocopter และ EHang ผู้ผลิต eVTOL และเตรียมเปิดให้บริการภายใน 1-2 ปีนี้ ส่วนในสหรัฐ Uber วางแผนจะให้บริการในปี 2023

ขณะที่ “ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น” ก็เตรียมจะเปิดใช้งานให้ทันช่วงมหกรรมระดับโลก ได้แก่ โอลิมปิก 2024 ที่ปารีส และเวิลด์เอ็กซ์โป 2025 ที่โอซากา ส่วนจีนระบุให้การพัฒนา UAM เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์แห่งชาติ และกำลังเร่งพัฒนาร่วมกับ EHang ในฝั่งอาเซียน สิงคโปร์ได้ร่วมมือกับ Volocopter ตั้งแต่ปี 2017 จนทดสอบเที่ยวบินแรกแล้ว และคาดว่าจะให้บริการภายในปี 2023

อีกทั้งผู้ให้บริการขนส่งในอาเซียนอย่าง Capital A กับ Grab เริ่มวางแผนให้บริการ UAM รวมถึงการให้เช่า eVTOL ขณะที่ไทยผู้ผลิต eVTOL กำลังเตรียมร่วมมือกับบริษัทของไทยในการพัฒนา UAM

อย่างไรก็ดี การพัฒนา UAM ยังมีความท้าทายอยู่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.กฎระเบียบข้อบังคับที่ต้องรับรองและอนุญาตให้เหมาะสม เช่น การออกใบอนุญาตและตรวจสอบมาตรฐานเครื่องบิน นักบิน และ vertiplaces การควบคุมจราจรทางอากาศ และมลพิษทางเสียง เป็นต้น 2.โครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรของ UAM เช่น vertiplaces สถานีจอด ชาร์จไฟฟ้า และซ่อมบำรุง รวมถึงนักบิน ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาและขยายให้ครอบคลุม 3.เทคโนโลยี UAM ที่จะต้องพัฒนาระบบตรวจจับและป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงพัฒนาระบบแบตเตอรี่ของ eVTOL ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับไทยภาครัฐควรจะเริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ UAM ที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในระดับโลก ทั้งในแง่ทางเลือกในการใช้งาน ควรเริ่มศึกษาแนวทางการใช้งานและการจัดทำกฎระเบียบจากหลายประเทศที่กำลังเร่งพัฒนาและนำมาปรับใช้กับไทยภายใต้ความร่วมมือกับผู้ผลิต eVTOL ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ UAM เกิดขึ้นจริง และในแง่การเป็นส่วนหนึ่งของ supply chain ในการผลิตพัฒนา UAM ซึ่งภาครัฐอาจกำหนดนโยบายดึงดูดผู้พัฒนา UAM ทั่วโลกให้เข้ามาผลิต วิจัย และทดสอบในไทยโดยเฉพาะบริเวณเมืองการบินภาคตะวันออกใน EEC ซึ่งตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการบิน

การพัฒนา UAM จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของไทยในการยกระดับการเดินทางในเขตเมือง การแก้ไขปัญหาจราจรและมลพิษ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ไทยก้าวทันความเปลี่ยนแปลงโลกได้

……………….