บทบรรณาธิการ : ดิ้นรนสู่ไตรมาส 3

สินค้า ซูปเปอร์มาร์เก็ต
บทนำ

เศรษฐกิจในไตรมาส 3 จะเป็นช่วงเวลาตึงเครียดและเข้าสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของทุกคน เนื่องจากภาวะแวดล้อมยังกดดันหลายด้าน โดยเฉพาะราคาข้าวของแพงขึ้นจากปัจจัยเดิม คือ ราคาพลังงาน ซ้ำเติมด้วยภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินบาทอ่อนลง

แม้รัฐบาลยังใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าจำเป็น และที่ชัดเจนคือยังไม่ให้ผู้ประกอบการเอกชนขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่การยื้อเวลานี้อาจทำไม่ได้นาน เพราะเอกชนอธิบายได้ว่าต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งแต่ละส่วนขึ้นมาแล้ว

เงื่อนไขที่ไม่ตรงกันระหว่างรัฐบาลกับเอกชนอีกเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และยื้อมาพักหนึ่งโดยยังไม่มีทางออก คือ กรณีที่รัฐบาลจะขอแบ่งกำไรจากค่าการกลั่นของบริษัทเอกชนมาช่วยสมทบให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีสถานะติดลบเกินแสนล้านบาท และจะติดลบต่อเนื่อง หากยังต้องดูแลราคาเชื้อเพลิงต่อไปจนถึงเดือน ก.ย. 2565 ตามนโยบายของรัฐบาล

รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานถูกจับตาจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 3 ขณะที่เงินฝากของกองทุนมีสภาพคล่องเหลืออยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท

ความเป็นไปได้ที่หลายคนคาดการณ์ คือ ถึงที่สุดแล้วรัฐบาลต้องขยับเพดานภาระอุดหนุนราคาดีเซล จากเดิมที่กำหนดไว้ 35 บาทต่อลิตร จากราคาจริงอยู่ราว 45 บาท เพราะไม่อาจจะหาเงินมาใส่เพิ่มให้กองทุนเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นหากมีการขยับเพดานเมื่อใด ย่อมหมายถึงต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากเดิม และวนเป็นวงจรที่ทำให้สินค้าต่าง ๆ รวมถึงวัตถุดิบอาหารย่อมต้องเพิ่มขึ้นตาม

ดังนั้นไตรมาส 3 จึงเป็นช่วงเวลาที่คาดได้ว่าทุกฝ่ายต้องปรับตัวอย่างมากในการดิ้นรนอยู่กับเศรษฐกิจที่ยากลำบาก

จุดที่น่าเป็นห่วงในสถานการณ์นี้คือครัวเรือนที่มีหนี้และมีรายได้ต่ำ เมื่อมีสถานการณ์เงินเฟ้อซ้ำเติมเข้ามา ภาระค่าใช้จ่ายยิ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว

หนี้ในภาคครัวเรือนที่ในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเกิน 90% ของจีดีพี และสูงเป็นลำดับที่ 11 ของโลก เพราะรายได้น้อยไม่เพียงพอกับรายจ่ายโดยเฉพาะเมื่อภาวะเงินเฟ้อเป็นตัวกระตุ้นรายจ่าย ผู้มีรายได้น้อยจึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อบริโภค

ดังนั้นภาระหน้าที่ของภาครัฐและราชการควรทำ คือ ต้องปรับตัวและปรับปรุงระบบการทำงาน และอาจรวมถึงการปรับความคิดให้เอื้อต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชน เพื่อจะได้ใช้ชีวิตได้อย่างไม่ตึงเครียดจนเกินไป และภาคเอกชนจะขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปต่อได้ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองรายจ่ายค่าอำนวยความสะดวก หรือค่าน้ำร้อนน้ำชา อีกทั้งไม่ต้องสูญเสียเวลารอการตัดสินใจของรัฐ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่สุดอีกด้านหนึ่ง