ภาวะเสี่ยงหนี้เสีย

ห้างฯแมคโคร
บทนำ

ตัวเลขเงินเฟ้อทั้งในไทยและทั่วโลกยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ตัวอย่างล่าสุดที่อังกฤษ ที่เงินเฟ้อเดือน พ.ค.พุ่งแรงถึง 9.1% สูงสุดรอบ 40 ปี แต่อาจไม่หยุดแค่นั้น เพราะธนาคารกลางอังกฤษ คาดว่าดัชนีเงินเฟ้อของประเทศมีโอกาสสูงกว่า 11% ในเดือน ต.ค.นี้ ทำให้อังกฤษต้องขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 1.25% สูงสุดในรอบ 13 ปี

ผลจากเงินเฟ้อทำให้เริ่มมีสัญญาณ “หนี้เสีย” ในอังกฤษอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะกลุ่ม “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากกลุ่มอีคอมเมิร์ซ จากข้อมูลพบว่ามีถึง 1 ใน 3 หรือราว ๆ 31% ส่อเค้าว่าของที่ซื้อไปแล้วอาจไม่มีปัญญาจ่ายเงิน และอาจกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด สาเหตุมาจากปัญหาโควิด-19 รุนแรงกว่าที่ประเมิน บวกกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สินค้าและบริการต่าง ๆ แพงขึ้นจากปัจจัยราคาพลังงาน

สภาพเศรษฐกิจที่อังกฤษกำลังเผชิญแทบไม่ต่างจาก “ไทย” เพราะดัชนีเงินเฟ้อพุ่งทุบสถิติกว่า 10 ปี ราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วตามราคาน้ำมันดีเซล ที่แม้รัฐบาลกัดฟันตรึงราคาในช่วงแรกจนเงินกองทุนพลังงานติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท สุดท้ายต้องปล่อยกึ่งลอยตัว ลดการอุดหนุนเหลือ 50% พร้อมประกาศจะตรึงราคาไว้ที่ 35 บาท/ลิตรให้นานที่สุด เพื่อหวังสกัดราคาสินค้าในระดับหนึ่ง

ยิ่งเมื่อมามองค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนลงเรื่อย ๆ จนทะลุ 36 บาท/ดอลลาร์ ต่อเนื่องหลายวัน และอาจอ่อนค่าไปอีกหากธนาคารกลางสหรัฐยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้านำเข้าและน้ำมันยิ่งแพงขึ้นไปอีก แม้จะได้มุมบวกจากการส่งออกและท่องเที่ยว แต่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดหนักขึ้น แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามกดตัวเลข แต่แพทย์หลายส่วนออกมาระบุว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อแท้จริงสูงกว่าที่รับรู้ ทั้งเกรงว่าประชาชนจะไม่ระมัดระวังตัวเท่าที่ควร

พร้อมกันนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับค่าครองชีพที่แพงขึ้นจากสินค้าและพลังงาน แม้แต่บริษัทผู้ผลิต-จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มออกมาโอดครวญ เพราะไม่เพียงต้นทุนสูงขึ้น แต่ปริมาณการซื้อของผู้บริโภคยังน้อยลง เพราะคนไทยส่วนใหญ่ต้องรัดเข็มขัด ด้วยรายรับไม่พอค่าใช้จ่าย บางครอบครัวอาจต้องสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก

น่ากังวลมากขึ้นเมื่อศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ 3 ครั้ง ภายในสิ้นปีตัวเลขอาจไปถึง 1.25% จากปัจจุบันที่ 0.50% ยิ่งเป็นภาระหนักกับคนที่มีหนี้สินต้องผ่อนชำระ ภาครัฐจำต้องจับตาและหามาตรการช่วยเหลือ ก่อนที่ตัวเลขหนี้เสียจะยิ่งทะยานมากขึ้น