เมื่อเศรษฐกิจ UK ป่วยหนัก จนอาจเป็น “ผู้ป่วยแห่งยุโรป” อีกครั้ง ?

เมื่อเศรษฐกิจ UK ป่วยหนัก
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Bnomics-ธนาคารกรุงเทพ

ช่วงนี้คงเป็นช่วงที่หลาย ๆ ประเทศได้สัมผัสกับเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็น

  1. เยอรมนี เงินเฟ้อ 7.6%
  2. อินเดีย เงินเฟ้อ 7.04%
  3. แคนาดา เงินเฟ้อ 7.7%
  4. กลุ่มยุโรป เงินเฟ้อ 8.6%
  5. สหรัฐ เงินเฟ้อ 8.6%

แต่อีกหนึ่งประเทศที่ดูเหมือนจะเผชิญกับเงินเฟ้อหนักกว่าประเทศอื่น ๆ ก็คือ “สหราชอาณาจักร” ที่เผชิญกับเงินเฟ้อถึง 9.1% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี และทางธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) คาดว่าจะสูงเกินกว่า 11% ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะมาถึงนี้

เมื่อเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูง แน่นอนว่าผู้บริโภคชาวอังกฤษก็ต้องเผชิญกับ “ภาวะข้าวยากหมากแพง” จนทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำลง ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายคนก็ออกมาเตือนว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นเค้าลางที่นำเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรไปสู่ภาวะถดถอย จนทำให้หลายคนนึกถึงภาพที่สหราชอาณาจักรเคยถูกเรียกว่าเป็น “ผู้ป่วยแห่งยุโรป” เมื่อครั้งช่วงทศวรรษ 1960-1970

เหตุใดเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรถึงได้เผชิญกับเงินเฟ้อสูงกว่าที่อื่น และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะป่วยหนักกว่าหลาย ๆ ประเทศ จนอาจจะหวนคืนกลับสู่การเป็นผู้ป่วยแห่งยุโรปอีกครั้ง

อดีตผู้ป่วยแห่งยุโรป สู่ว่าที่ผู้ป่วยใหม่ในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 1960-1970 การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรค่อนข้างย่ำแย่มานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงมาก ประกอบกับค่าแรงที่แทบจะไม่ขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ ส่งผลให้แรงงานในอุตสาหกรรมเกิดการหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่

ฟังดูแล้วสถานการณ์ตอนนั้นก็ดูคล้ายกับในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ที่ประชาชนชาวอังกฤษต่างประสบกับปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ไม่ค่อยขยับขึ้นตามจนเกิดการประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง

จากรายงานฉบับล่าสุดของ OECD ก็คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และน่าจะถึงจุดสูงสุดอยู่ที่เหนือระดับ 10% ภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานและห่วงโซ่อุปทาน ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่จะลดต่ำลงเนื่องจากสินค้าราคาสูงขึ้นไปกระทบกับรายได้ของครัวเรือน ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมที่น่าจะโตได้เพียง 3.6% เท่านั้น

ทำไมเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรถึง “ป่วยหนัก” กว่าประเทศอื่น

แม้ว่าเกือบทุกประเทศจะเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนเหมือนกับในหลาย ๆ ประเทศ แต่ขนาดของผลกระทบส่วนใหญ่นั้นจะตกหนักอยู่ที่กลุ่มประเทศยุโรป จึงทำให้ในกลุ่มประเทศเหล่านี้มีอัตราเงินเฟ้อที่สูง และการเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลง ซึ่งสหราชอาณาจักรก็เป็นหนึ่งในนั้น

แต่เหตุที่ทำให้เงินเฟ้อในสหราชอาณาจักร อาจจะสูงกว่าประเทศอื่น และอยู่ยาวกว่าประเทศอื่น รวมถึงเศรษฐกิจอาจจะเติบโตได้ช้ากว่าประเทศอื่นอีกด้วย ก็เนื่องมาจาก

1) การใช้ระบบการกำหนดเพดานอัตราค่าบริการ (price cap) ซึ่งจะกำหนดเพดานราคาไฟฟ้าและก๊าซที่สามารถคิดกับผู้บริโภคได้ต่อปีไปช่วยกดราคาพลังงานให้ต่ำลงในช่วงก่อนหน้า แต่ในตอนนี้เพดานอัตราค่าบริการกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่าน่าจะขึ้นไปถึงเกือบ 3,000 ปอนด์สเตอร์ลิงในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วงพอดี ส่งผลให้เงินเฟ้อที่ถูกกดเอาไว้ในช่วงก่อนหน้ากลับดีดตัวขึ้นมาในภายหลัง

2) เงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าอย่างหนัก เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในรอบหลายปี ยิ่งเป็นแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อสำหรับราคานำเข้าเชื้อเพลิงและพลังงาน

3) หลังมีมติโหวตออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) การค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักรก็ดูไม่ค่อยสดใส เพราะทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกต่างต้องเผชิญกับอุปสรรคการค้ามากมายที่เพิ่มขึ้น และถึงแม้ว่าค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงจะอ่อนตัวลงอย่างมากนับตั้งแต่มีมติโหวต Brexit ซึ่งทำให้สหราชอาณาจักรสามารถแข่งขันได้ง่ายขึ้น แต่ก็แทบไม่พบว่าจะได้รับอานิสงส์จากความสามารถการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

4) การลงทุนจากภาคเอกชนในสหราชอาณาจักร ลดต่ำลงนับตั้งแต่ปี 2016 ที่โหวต Brexit เมื่อเทียบกับช่วงก่อน Brexit แล้วคาดว่าการลงทุนในปัจจุบันต่ำกว่าแนวโน้มในอดีตถึง 3.1 หมื่นล้านปอนด์สเตอร์ลิง

5) ผลิตภาพของแรงงานที่ไม่ค่อยพัฒนาขึ้นมาหลังวิกฤตการณ์การเงินในปี 2008 ถือเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากเป็นตัวผลักดันให้เกิดศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

เมื่อปัญหาเดิมยังไม่หมดไป และปัญหาใหม่ยังตามมา จากหลายองค์ประกอบข้างต้นจึงทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงที่จะ “ป่วยหนัก” และ “ป่วยนาน” กว่าประเทศอื่น ก็ต้องรอดูว่าทั้งธนาคารกลางอังกฤษและรัฐบาลจะเอายาขนานไหนมาเข้าช่วยรักษาให้เศรษฐกิจแข็งแรงและหายป่วยได้โดยเร็ววัน เพราะยิ่งเศรษฐกิจป่วยหนักและป่วยนานเท่าไร คนที่ต้องล้มตายไปก่อนก็คือประชาชน