ตัวเลข “เที่ยวไทย” ของจริง หรือ “ดีมานด์เทียม”

ตัวเลข เที่ยวไทย
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

 

มีคนถามมามากมายว่า วันนี้ภาคธุรกิจ “ท่องเที่ยว” เราฟื้นตัวแล้วจริงหรือ ? มีใครบ้างที่ฟื้นแล้ว !

เพราะจากรายงานของ ททท.ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากหลักพันเมื่อครั้งเริ่มเปิดประเทศแรก ๆ เมื่อปลายปี 2564 เพิ่มเป็น 1 หมื่นกว่าคนต่อวัน และ 2 หมื่นคนต่อวัน กระทั่งเดือนนี้ (กรกฎาคม) มีจำนวนมากกว่า 3 หมื่นคนต่อวัน

นั่นหมายความว่า หากจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในทิศทางนี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 นี้เป็นต้นไป ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 1 ล้านคนต่อเดือน

แต่ประเด็นคือ คนโรงแรมยังร้องระงมว่า ธุรกิจไม่ดี ยังไม่ได้ทั้งในด้านจำนวนผู้เข้าพัก และราคาขาย จะเอารายได้ที่ไหนมาเสียภาษี บางรายบอกชัดว่าดีขึ้นบ้างในพื้นที่ภูเก็ต แต่ราคาขายยังต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

ผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่พูดตรงกันว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยและเข้าพักจำนวนมากในช่วงที่มีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เมื่อสิ้นสุดโครงการอัตราการเข้าพักก็ตกลงไปด้วย

จึงได้แต่หวังว่าการขยายมาตรการโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 อีกจำนวน 1.5 ล้านสิทธิ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม 2565 จะช่วยเติมให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง

เจ้าของโรงแรมรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า โรงแรมที่ได้ลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอินเตอร์เชน ระดับ 4-5 ดาวขึ้นไปเท่านั้น แต่ก็ยังถือว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนห้องพักที่เรามี ขณะที่โรงแรมที่เป็นโลคอลแบรนด์กว่า 70-80% ยังไม่กลับมาเปิดให้บริการ

จนมีคำถามที่แฝงด้วยความแดกดันจากฝั่งซัพพลายไซด์เข้ามายังผู้เขียนว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทุกเดือนนั้นไปพักที่ไหนกัน ทำไมอัตราการเข้าพักโรงแรมไม่ขยับแบบมีนัย

หรือว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากจำนวนคนไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศ และคนไทยที่กลับเข้าประเทศ

สรุปแล้วตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่รายงานมานั้นเป็น “ดีมานด์เทียม” หรือตัวเลขจริงกันแน่ ?

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในเซ็กเตอร์ภาคบริการขนส่ง บริษัทนำเที่ยว สปา-นวดแผนไทย สถานบันเทิง สวนสนุก รวมถึงร้านขายของที่ระลึก ยังบ่นอุบว่ายังมองไม่เห็น “โอกาส” ว่าธุรกิจจะฟื้นกลับมาได้อย่างไร

เสียงสะท้อนนี้สอดรับกับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยว Q2/2565 ของสภาท่องเที่ยวฯล่าสุดที่ระบุว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีรายได้เข้ามาเพียงแค่ 20-30% ของปี 2562 เท่านั้น

ที่สำคัญบางส่วนยังลดจำนวนการจ้างงานลง มีสัดส่วนน้อยมากที่มีแผนเพิ่มการจ้างงาน

ยิ่งมีปัจจัยเรื่องค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ ยิ่งเป็นห่วงว่าจะทำให้คนลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และชะลอการท่องเที่ยว


บอกตรง ๆ ประเด็นนี้ผู้เขียนเองอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเช่นกัน ผู้ประกอบการรายใด พื้นที่ไหนบ้างที่ฟื้นแล้วช่วยส่งเสียงมาหน่อยนะคะ…