“แก้มลิง” ศาสตร์พระราชา ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ในลุ่มน้ำยม-น่าน และเจ้าพระยา

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย ประสิทธิ์ อรรคไกรสีห์ TEAM GROUP

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริถึงลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมาก ๆ และมีพระราชกระแสอธิบายว่า “ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อย ๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง” ต่อมาจึงเกิดเป็น “โครงการแก้มลิง” เพื่อสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ ไว้รอการระบายและนำไปใช้ประโยชน์ในภายหลัง

กรมชลประทานได้นำศาสตร์พระราชาในเรื่อง “แก้มลิง” มาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านเหนือจังหวัดนครสวรรค์ บริเวณจังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก และจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี

ต่อมาได้พัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมซ้ำซากเป็นพื้นที่แก้มลิง เมื่อน้ำล้นตลิ่งและเกิดน้ำท่วมจะมีการผันน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านเข้ามาเก็บไว้ชั่วคราวในพื้นที่แก้มลิง เสมือนลิงอมน้ำไว้ในกระพุ้งแก้ม และคายน้ำออกมาเมื่อลำน้ำยมและลำน้ำน่านมีระดับน้ำลดลง สามารถบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดจากน้ำท่วมตลอดลำน้ำยมและลำน้ำน่าน รวมทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ในการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงเหนือจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบด้วย พื้นที่แก้มลิงย่อยทั้งหมด 69 แห่ง ในเขตจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่ 153 ตำบล 24 อำเภอ

ดังแสดงในรูปที่ 1 ทำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวเพื่อรอการระบายได้ 2,049 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งเป็นพื้นที่แก้มลิงในเขตชลประทาน 723 ล้านลูกบาศก์เมตร และพื้นที่แก้มลิงนอกเขตชลประทาน 1,326 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในการควบคุมและบริหารจัดการน้ำดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ จำเป็นต้องมีการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารชลประทาน เช่น ประตูระบายน้ำ ถนนหรือคันคลองที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ เป็นต้น ดังรูปที่ 2

พร้อมทั้งจะต้องมีกฎหมายหรือกฎระเบียบในการบริหารจัดการพื้นที่แก้มลิงรองรับด้วย ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งหมดประมาณ 29,000 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและค่าบำรุงรักษารวมทั้งค่าสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีกประมาณปีละ 1,350 ล้านบาท

เมื่อการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงเหนือจังหวัดนครสวรรค์แล้วเสร็จจะส่งผลให้สามารถควบคุม ป้องกันการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากได้เป็นอย่างดี ประชาชนกว่า 122,000 ครัวเรือนในลุ่มแม่น้ำยมและน่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ที่สำคัญยังเป็นการช่วยชะลอน้ำหลากก่อนเข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เป็นอย่างดี เกษตรกรในพื้นที่แก้มลิงสามารถเพาะปลูกได้ต่อเนื่อง สร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ93,000 บาทต่อครัวเรือน ทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่แก้มลิงที่เคยถูกน้ำท่วมถึง 3,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสียหาย ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาคิดเป็นมูลค่า 5,500 ล้านบาทต่อปี