นำพื้นที่ว่างมหา’ลัย พัฒนาเชิงพาณิชย์ดีไหม ?

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

วันก่อน เห็นข่าวเล็ก ๆ บนหนังสือพิมพ์รายวันลงข่าวทำนองว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งทยอยปิดคณะนิเทศศาสตร์ และคณะต่าง ๆ ที่มีผู้เรียนน้อยลง เพราะไม่มีคนเรียน

เห็นแล้วพอจะเข้าใจได้ เพราะทุกวันนี้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคณะนิเทศศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ โฆษณา และประชาสัมพันธ์ ต่างถูกกงล้อของเทคโนโลยีสมัยใหม่หมุนรอบตัวเองเร็วมาก จนทุกอย่างเข้าไปอยู่ในสมาร์ทโฟนหมดแล้ว

ใครเล่าจะอยากเสพสื่อเหล่านี้ ใครเล่าจะอยากเสียตังค์ เพราะทุกอย่างสามารถดาวน์โหลดฟรีมาอ่าน มาดู และมาฟังได้ทั้งสิ้น

แต่กระนั้น อย่างที่ทุกคนเข้าใจ ในการเสพสื่อต่าง ๆ ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งจะว่าไปใคร ๆ สามารถเป็นผู้รายงานข่าวได้ทุกคน ทั้งในรูปแบบของตัวหนังสือ คลิปวิดีโอ หรือแม้แต่การไลฟ์สดอะไรก็ตาม แต่จะมีสักกี่สำนัก หรือกี่คนที่รายงานอย่างถูกต้องครบถ้วนรอบด้าน

โดยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งไม่มีอคติเข้ามาเจือปน ผมว่าตรงนี้คือปัญหาอย่างหนึ่งของการทำหน้าที่สื่อออนไลน์ของบางสำนัก และบางคน โดยเฉพาะอาชีพบล็อกเกอร์ที่ดูเหมือนกำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำงานสื่อ บล็อกเกอร์บางคนมีค่าตัวด้วย

เพราะเขามีแฟนเพจติดตามเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ คน ดังนั้น เวลาองค์กรหนึ่งองค์กรใดเชิญไปทำข่าว นอกจากจะต้องจ่ายค่าเดินทาง ค่าที่พัก และรับรองอาหารทั้ง 3 มื้อแล้ว องค์กรเหล่านั้นจะต้องจ่ายค่าตัวอันแสนดีงามให้กับพวกเขาด้วย และเขาจะทำหน้าที่รีวิวในทุกสิ่งที่องค์กรต้องการ ด้วยการนำเสนอผ่านโลกออนไลน์

ทั้งยังมีแนวโน้มว่า “บล็อกเกอร์” จะเกิดขึ้นจำนวนมากด้วย เพราะนักข่าวหลายคนที่ลาออกจากงานประจำ (จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ต่างผันตัวเองมาทำงานทางด้านนี้ แต่กระนั้น มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า เส้นจริยธรรมของการทำงานข่าวครอบคลุมบุคคลเหล่านี้ด้วยหรือไม่

เพราะเขาเมกมันนี่กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

สิ่งที่เล่าให้ฟังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของผลผลิตที่เกิดจากคณะนิเทศศาสตร์ หรือสาขาที่เรียนเกี่ยวกับด้านสื่อสารมวลชน ที่ปัจจุบันกำลังกลายเป็นคณะที่ไม่มีคนอยากเรียน

ทั้ง ๆ ที่สมัยหนึ่งเป็นคณะยอดฮิต คิดอะไรไม่ออกก็เรียนนิเทศศาสตร์ไปก่อน เพราะเท่ เพราะเป็นอาชีพที่อหังการ และเป็นฐานันดรที่ 4 ที่มีอภิสิทธิ์ชน (สำหรับบางคน) แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีใครอยากเป็น (สำหรับบางคนอีกเช่นกัน) ผมอ่านจากข่าวก็พอเข้าใจได้

แต่กระนั้น อยากชวนคิดต่อว่า ถ้าหากคณะอื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะปิดตัวลงอย่างคณะนิเทศศาสตร์ด้วยล่ะจะทำอย่างไร เพราะจากความท่อนหนึ่งของอาจารย์ให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คณะ สาขามีคนเรียนน้อย เพราะอัตราการเกิดของประชากรมีแนวโน้มลดลง ยิ่งปัจจุบันมีการเรียนผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้นด้วย

หรือถ้าอยากจะเรียนปริญญาโทในต่างประเทศ ก็ไม่ต้องบินไกลถึงเมืองนอกแล้ว สามารถเลือกเรียนมหา”ลัยไหน ๆ ได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านโลกออนไลน์ เพราะโลกของการศึกษาถูกย่อเข้ามาอยู่ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กหมดแล้ว

คำถามคือมหา’ลัยจำเป็นต้องใช้พื้นที่มากมายในการเรียนการสอนไหม ?

นำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ดีไหม ? เพื่อจะได้มีเงินไปพัฒนางานวิจัย และงานวิชาการของนิสิต นักศึกษา และเหล่าบรรดาคณาจารย์

เพราะอย่างที่ทุกคนทราบ เงินอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการอาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของมหา’ลัยทั้งระบบในปัจจุบัน อีกทั้งจำนวนนิสิต นักศึกษาที่ลดลง จึงทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการลงทุนทางด้านการศึกษา

ดังนั้นเพื่อให้แต่ละมหา’ลัยมีงบประมาณเพิ่มขึ้น จึงน่าจะนำพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลมาพัฒนาเชิงพาณิชย์น่าจะดีกว่า ไหน ๆ มหา’ลัยก็เป็นธุรกิจการศึกษากันอยู่แล้ว สู้เปิดหน้า เปิดตา เปิดแผนการลงทุนกันให้รู้เรื่องไปเลย จะได้มีเงินอุดหนุนเข้ามามาก ทั้งยังจะได้นำเงินไปลงทุนให้นิสิตนักศึกษาบางคณะที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการพัฒนาทักษะอาชีพให้มีความเชี่ยวชาญทัดเทียมในระดับสากล

ผมคิดของผมเล่น ๆ นะครับ

อาจเสียงดังไปหน่อย

ไม่รู้มีใครคิดเหมือนผมบ้าง

ยกมือขึ้น ?