คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
ในโลกที่กำลังพูดถึงระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (แชริ่งอีโคโนมี) กระแสการเกิดขึ้นของสตาร์ตอัพทั่วโลกรวมทั้งไทย ที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากฝันถึงการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธุรกิจ
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในประเทศไทย
สตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จไม่ได้มีแค่ความสามารถระดับหัวกะทิ สิ่งที่เห็นในประเทศไทย คือสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบุคคลที่มีฐานะทั้งทางสังคมและทางการเงิน เป็นทายาทนักธุรกิจใหญ่และมีเครือข่ายธุรกิจให้การสนับสนุน
และแม้เทคโนโลยีอาจทำให้สตาร์ตอัพสามารถเติบโตก้าวกระโดดขึ้นมาท้ารบธุรกิจยักษ์ใหญ่ได้ แต่ส่วนใหญ่ก็จะจบลงด้วยการถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ซื้อกิจการไปนั่นเอง
ทำให้ที่สุดกลุ่มธุรกิจ “ยักษ์ใหญ่” ที่มีเงินทุนมหาศาลยังคงถือแต้มต่อ และอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศคงยังอยู่ในมือเจ้าสัวหรือตระกูลดังไม่กี่รายเช่นเดิม
และในประเทศไทยคงไม่มีใครปฏิเสธว่า 2 กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ทรงอิทธิพล ที่มีบทบาทในแทบทุกแวดวงธุรกิจก็คือ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ และ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของอาณาจักรไทยเบฟ, ทีซีซีกรุ๊ป และอื่น ๆ อีกมากมาย
ไม่มีข้อมูลว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้การขับเคลื่อนของ “เจริญโภคภัณฑ์” และ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” คิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของจีดีพี แต่เชื่อว่ามากกว่าที่หลายคนจะคาดคิดได้
แค่ไล่เรียงธุรกิจก็นับไม่ถ้วน ทั้งอุตสาหกรรมเกษตร อาหารเครื่องดื่ม ค้าปลีกค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล เทคโนโลยีสื่อสาร ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจการศึกษา และเจ้าของที่ดินทั่วประเทศแบบนับไม่ถ้วน
กระทั่งเป็นเจ้าของ “สื่อทีวีดิจิทัล” ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์จับจองเป็นเจ้าของสถานี TNN24 และ True4U อยู่แล้ว
และขณะที่สถานการณ์ทีวีดิจิทัลยากลำบาก กลุ่ม “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ก็เป็นอัศวินม้าขาวเข้ามาช่วยให้ทีวีดิจิทัลหลายช่องเดินต่อไปได้ ตั้งแต่เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 47.62% ของ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ด้วยมูลค่า 850 ล้านบาท ตามด้วยการซื้อหุ้น 50% ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง เจ้าของช่อง GMM25 ด้วยเม็ดเงิน 1,000 ล้านบาท
ดูจากเม็ดเงินถือว่าเป็นดีลเล็ก ๆ ของเจ้าสัว แต่การรุกเข้าธุรกิจสื่อทีวีก็ทำให้เห็นภาพการเข้ามาเป็นผู้กุมระบบเศรษฐกิจที่มากกว่าคำว่า “ครบวงจร”
ขณะที่ข่าวการซื้อกิจการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเจ้าสัวเจริญ ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบบเกมธุรกิจของเจ้ามือรายใหญ่
จริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทยที่มีธุรกิจขนาดใหญ่แข็งแรงและสามารถต่อกรกับต่างชาติ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างงานให้ประชาชนด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีธุรกิจรายย่อยจำนวนไม่น้อยที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับเกมของธุรกิจยักษ์ใหญ่
คล้ายกับ “แชโบล” ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ที่บริหารโดยไม่กี่ตระกูล จนเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของโสมขาว แต่ด้วยอำนาจและอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มหาศาล ก็ทำให้การควบคุมอำนาจเหล่านั้นยากยิ่งเช่นกัน
และแม้ว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเสียงดังฟังชัดตั้งแต่วันแรกในการเข้ามาบริหารประเทศถึงเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำ ลดความยากจน แต่ดูเหมือนว่าประชาชนระดับฐานรากและผู้ประกอบการรายย่อยยังเผชิญกับปัญหาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ขณะที่ภาคธุรกิจรายใหญ่กำลังเติบโตและแข็งแรงมากขึ้น
ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะสามารถแก้โจทย์ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความแข็งแรงให้กับประชาชนฐานรากของประเทศจะเกิดขึ้นจริง !