“เด็กไทยกอบกู้ภัยโควิด” รวมเยาวชนผู้เป็นความหวังในวิกฤตโรคระบาด

หลังจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระบาดมาระยะหนึ่ง ก็มีข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การศึกษาพบว่าเด็กและเยาวชน คนอายุน้อย (คนอายุต่ำกว่า 25 ปี) ที่ติดเชื้อมักจะไม่มีอาการเจ็บป่วยเหมือนผู้ใหญ่และคนสูงวัย ซึ่งก็ยังไม่มีนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญคนไหนอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

จากข้อค้นพบที่ว่านี้ “ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็กและสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว” จึงจับมือกันก่อตั้งโครงการที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในสถานการณ์นี้ขึ้นมา ชื่อว่า “โครงการเด็กไทยกอบกู้ภัยโควิด” ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เด็ก ๆ และเยาวชนได้ตระหนักถึงสิ่งที่ประเทศกำลังเผชิญ รวมถึงให้ตระหนักว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ ให้ข้อมูลว่า เด็กและเยาวชนที่มีอายุ 25 ปีลงไป สามารถติดเชื้อได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ และสามารถแพร่เชื้อได้ในอัตราเดียวกัน แต่เด็กกลุ่มนี้แสดงอาการเจ็บป่วยน้อยมาก มีเพียง 2 ใน 1,000 เท่านั้นที่มีอาการป่วยถึงขั้นต้องการเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรักษาอาการ ตรงข้ามกับผู้สูงอายุที่ติดเชื้อที่จะมีอาการที่รุนแรงมากถึงร้อยละ 20 และมีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด

ด้วยสถานการณ์ในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาด เด็ก ๆ ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน อาจจะทำให้เกิดความเครียดได้ จากทั้งข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดและความอึดอัดที่ต้องอาศัยอยู่แต่ในบ้าน ส่วนกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนก็เป็นกลุ่มที่ถูกสังคมมองว่าไม่ดูแลตัวเอง ยังออกไปสังสรรค์กันตามสถานที่ต่าง ๆ รศ.นพ.อดิศักดิ์จึงเกิดไอเดียการสร้างกลุ่มไลน์ “เด็กไทยกอบกู้ภัยโควิด” ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นช่องทางให้ความรู้ที่จำเป็นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด อัพเดตกิจกรรมระหว่างเด็ก ๆ และเยาวชน การให้กำลังใจกันในภาวะที่ต้องอยู่แต่ที่บ้าน รวมถึงให้องค์ความรู้ในการช่วยเหลือและดูแลผู้อยู่อาศัยในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุก่อนจะต่อยอดขึ้นมาเป็นโครงการในชื่อเดียวกัน

รูปแบบการดำเนินโครงการนี้ คือ ทีมงานจากศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก รวมถึง รศ.นพ.อดิศักดิ์ จะคอยส่งข้อมูลเข้าไปในกลุ่มไลน์ “เด็กไทยกอบกู้ภัยโควิด”

ส่วนในอนาคตอันใกล้ คุณหมออดิศักดิ์กับทีมงานกำลังมองหาแนวทางเพื่อพัฒนาและกระจายองค์ความรู้ไปสู่เด็ก ๆ และเยาวชนในวงกว้างมากขึ้น

โครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มเด็กเล็ก (วัยอนุบาล) กลุ่มเด็กโต (วัยประถม) ไปจนถึงกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน (อายุ 13-25 ปี) ซึ่งคุณหมอบอกวัตถุประสงค์ของการชวนคนทั้ง 3 กลุ่มเข้าร่วมโครงการและกลุ่มไลน์ ว่า

สำหรับกลุ่มเด็กเล็ก ผู้ปกครอง มีส่วนสำคัญที่จะพาเด็กเรียนรู้ไปกับการใช้โซเชียลมีเดียในเชิงสนุกสนานที่ได้ความรู้ไปปฏิบัติในการป้องกันไวรัส และเป็นการเพิ่มทักษะ social connection ให้กับเด็ก ๆ ไปในตัวด้วย ได้ประโยชน์สองทาง เป็นการให้เด็กเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องบังคับ

ส่วนกลุ่มเด็กโต เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างดื้อ อยากออกไปเล่นกับเพื่อนนอกบ้านและไม่ชอบสวมหน้ากาก จึงยิ่งต้องเรียนรู้เกี่ยวกับภัยของไวรัสที่กำลังคืบคลานเข้ามาในชีวิต กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เริ่มสามารถแลกเปลี่ยนเนื้อหากับเพื่อน ๆ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การป้องกันโรค เพื่อความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติ

กลุ่มสุดท้าย กลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน เป็นกลุ่มที่แข็งแรงที่สุดในสังคม จะมีวัตถุประสงค์เพิ่มเติมจากสองกลุ่มแรก นอกเหนือไปจากการเรียนรู้และปฏิบัติเพื่อป้องกันไวรัส คือ การเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือและดูแลสังคมในภาวะที่เชื้อไวรัสลุกลามบานปลายจนอยู่ในจุดที่ควบคุมไม่ได้

“กลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนสามารถรับโรคมาได้และไม่เจ็บหนัก แล้วยังสามารถทำงานได้ พวกเขาสามารถเรียนรู้ที่จะดูแลผู้สูงอายุในบ้านได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากสถานการณ์ยังทวีความรุนแรงจนถึงขั้นต้องปิดเมือง พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการดูแลประเทศ”

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสแกน QR code เพื่อเข้าร่วมกลุ่มได้ทันทีในกรณีที่มีปัญหาเข้าร่วมไม่ได้ สามารถติดต่อ คุณกรวิการ์ บุญตานนท์ (คุณหนุงหนิง) เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก เพื่อแจ้งความประสงค์เข้าร่วมกลุ่มไลน์นี้ได้ที่เบอร์โทร.08-1701-0411 (สามารถโทร.หรือเพิ่มเพื่อนในไลน์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้)

รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “ใจความสำคัญไม่ใช่ว่าเด็กติดเชื้อแล้วไม่เป็นอะไร ต่อให้เขาแข็งแรงขนาดไหน เขาก็ยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อยู่ดี สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เหมือนกัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อให้ได้มากที่สุด นอกจากนั้นแล้วพวกเขายังสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลสังคมเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นจริง ๆ ได้”

 

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน