PM 2.5 ในกทม.-ปริมณฑล ลดลง 20% ช่วงโควิด-19 ระบาด

วันที่ 4 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบและประมวลผลค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ ปริมมณฑล เพื่อเปรียบเทียบค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และช่วงหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมาตรการให้ปิดสถานที่ที่อาจมีการชุมนุม เช่น โรงเรียนสอนพิเศษ สถาบัน อุดมศึกษา รวมถึงให้ราชการปรับเปลี่ยนเวลาทำงานและทำงานที่บ้านได้ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563

จากการตรวจสอบระหว่างวันที่ 1-17 มีนาคม 2563 (ก่อนประกาศห้ามคนออกจากบ้าน) พบว่า มีรถมาก การจราจรหนาแน่น ค่าดัชนีรถติดเฉลี่ยรายวัน มีค่า 3.1-4.1 ค่าเฉลี่ย 3.7 และ พบว่าฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่า 10 – 46 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าเฉลี่ย 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชม.ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม – 28 เมษายน 2563 (หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมาตรการให้ปิดสถานที่ที่อาจมีการชุมนุม เช่น โรงเรียนสอนพิเศษ สถาบัน อุดมศึกษา ให้ราชการปรับเปลี่ยนเวลาทำงาน และทำงานที่บ้านได้) รถน้อย การจราจรจรคล่องตัว ค่าดัชนีรถติดดฉลี่ยรายวัน มีค่า 2.4 -3.6  ค่าเฉลี่ย 2.9 พบว่าฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่า 9 – 42 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ค่าเฉลี่ย 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

เมื่อเปรียบเทียบ ก่อนสถานการณ์โควิด-19 และช่วงโควิด-19 ในเวลาดังกล่าว ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ลดลง 20%

ทั้งนี้ ในเวลาเดียวกันของปีนี้กับปีที่แล้ว ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม -28 เมษายน 2562 ฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่า 7-53 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าเฉลี่ย 24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร


ข้อมูล มติชน