ปรับเงินเดือนสูงสุดปี’61 วิทยาศาสตร์สุขภาพ-ยา-ประกันชีวิต

จากการที่บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย ทำการสำรวจรายงานการวางแผนจัดสรรงบประมาณเงินเดือนในเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2560-ไตรมาส 3 (2017 Salary Budget Planning Report – Asia Pacific (Third Quarter) ที่มีกลุ่มตัวอย่างจากบริษัทต่าง ๆ จำนวน 250 บริษัท พบว่าอัตราเงินเดือนในประเทศไทยจะปรับขึ้นที่ร้อยละ 5.5 ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ซึ่งการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทยช่วงปี 2559-2561 มีแนวโน้มใกล้เคียงกันคือไม่เกินร้อยละ 6

ขณะที่ บริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากรมืออาชีพ ระดับกลาง-จนถึงระดับสูง มีการสำรวจข้อมูลการจ้างงาน ประจำปี 2560 และแนวโน้มปี 2561 พบว่าจากเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้แนวโน้มภาพรวมตลาดแรงงานในปี 2561 การจ้างงานจะมีเสถียรภาพตลอดทั้งปี ซึ่งตลาดการสรรหาบุคลากรจะขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) วิศวกรรม และในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต

โดยบุคลากรที่ตลาดมีความต้องการ ต้องมีความเชี่ยวชาญในหลากหลายภาษา มีความรู้เชิงธุรกิจ และการค้าในระดับภูมิภาค มีความสามารถในการทำงานข้ามสายงาน โดยคาดว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนเฉลี่ยในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยปี 2561 จะมากถึง 20%

พิชญ์พจี สายเชื้อ – แกริต บุคกาต

“พิชญ์พจี สายเชื้อ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย กล่าวว่าจากผลสำรวจรายงานการวางแผนจัดสรรงบประมาณเงินเดือนในเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2560-ไตรมาส 3 คาดว่าอุตสาหกรรมที่มีการปรับขึ้นเงินเดือนสูงสุดในปี 2561 ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 5-5.8

“โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยา และวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Pharmacy and Health Sciences) อัตราการขึ้นเงินเดือนสูงที่สุดในกลุ่ม อยู่ที่ร้อยละ 5.8 รองลงมาคือ กลุ่มอุตสาหกรรมประกันชีวิต, อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์, กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป และกลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค และค้าปลีก อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างถือว่าต่ำที่สุดในกลุ่มอยู่ที่ร้อยละ 5.0”

“เมื่อเทียบอัตราเงินเดือนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การปรับเงินเดือนของประเทศไทยยังอยู่ในระดับกลางของกลุ่ม โดยอินเดียปรับขึ้นสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 10 รองลงมาคือ ศรีลังกา ร้อยละ 8.6 และอินโดนีเซีย ร้อยละ 8.5 ขณะที่ญี่ปุ่น จะมีการปรับขึ้นเงินเดือนน้อยที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 2.3”

ขณะที่ผลสำรวจเกี่ยวกับแนวโน้มสวัสดิการทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประจำปี 2560 (2017 Willis Towers Watson Asia Pacific Benefit Trends Survey) ที่จัดทำโดยวิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ทำการรวบรวมข้อมูลจากบริษัทขนาดใหญ่ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกว่า 1,141 ราย ในจำนวนนี้มีบริษัทไทย 74 ราย คาดว่า ร้อยละ 67 ของนายจ้างไทยมองว่าสวัสดิการพนักงานช่วยจูงใจ และสามารถรักษาพนักงานที่มีฝีมือไว้กับองค์กร และร้อยละ 53 มองว่าสวัสดิการช่วยเพิ่มความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรเป็นอย่างดี

“พิชญ์พจี” กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญด้านแผนสวัสดิการอันดับแรก ๆ ของนายจ้าง ภายใน 3 ปีข้างหน้าคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบสวัสดิการเพื่อบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และการจูงใจให้พนักงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพไปในทางที่ดีขึ้น โดยร้อยละ 73 ของนายจ้าง วางแผนให้กลยุทธ์ทางด้านสุขภาพเป็นจุดแข็งขององค์กรที่ช่วยเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดแรงงาน

“ชื่อเสียง หรือแบรนด์ของบริษัท รวมทั้งความมั่นคงของงานเป็นสิ่งที่ดึงพนักงานเข้ามาร่วมงาน แต่สิ่งที่จะรักษาพนักงานไว้คือสวัสดิการที่พนักงานจะได้รับขณะทำงาน เพราะปัจจุบันพนักงานไม่ได้มองแค่เรื่องเงินเป็นหลักอีกต่อไป แต่มองว่าบริษัทสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในด้านความเป็นอยู่ และสุขภาพที่ดี ได้หรือไม่”

“การดูแลพนักงานด้วยสวัสดิการที่เอื้อต่อไลฟ์สไตล์ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีนับเป็นเทรนด์การจ้างงานของโลก โดยเฉพาะแผนสวัสดิการครอบครัวที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 33 เห็นได้จากในบางประเทศ อาทิ สิงคโปร์ และอินเดีย เริ่มกำหนดวันลาคลอดให้กับคุณพ่อโดยไม่นับว่าเป็นวันลา เป็นต้น”

“ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการประเมินเงินเดือนของพนักงานไม่ได้เป็นไปตามผลงาน พนักงานจึงไม่เห็นความแตกต่างระหว่างพนักงานที่ทำงานได้ดี และพนักงานที่ไม่มีผลงาน ทำให้หลาย ๆ บริษัทไม่สามารถรักษาคนดี คนเก่งไว้ได้ ดังนั้น ผู้ประเมิน หรือหัวหน้างาน ต้องมีความยุติธรรม และทำให้เห็นความต่าง ทั้งเพื่อสร้างกำลังใจแก่คนที่มีผลงาน และกระตุ้นการทำงานแก่คนทำงานคนอื่น ๆ”

“แกริต บุคกาต” ผู้จัดการ บริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำสำนักงานประเทศไทย กล่าวว่าจากผลสำรวจข้อมูลการจ้างงาน ประจำปี 2560 และแนวโน้มปี 2561 พบว่าตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการในปี 2561 ประกอบด้วยผู้จัดการฝ่ายผลิต ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลระดับภูมิภาค ประธานฝ่ายการเงิน ผู้ชำนาญการด้านการวางแผนทรัพยากรบุคคลองค์กร

“การปรับขึ้นเงินเดือนในปี 2561 คาดว่าตำแหน่งงานในกลุ่มบัญชี และการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี และการเงิน คาดว่าเงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 25-30% เนื่องจากการสรรหาบุคลากรในกลุ่มนี้มีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งหลายบริษัทจะมองหาผู้เชี่ยวชาญ ที่ไม่เพียงแต่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค แต่ยังสามารถมีส่วนร่วมในเชิงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ และช่วยในการขยายธุรกิจระยะยาว ส่วนในภาคธนาคาร การจ้างงานมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและการสรรหาที่ชะลอตัวลง”

“ส่วนตำแหน่งงานในกลุ่มการเงินการธนาคาร และการบริการทางการเงิน โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงในภาคการธนาคาร และการบริการทางการเงิน คาดว่าเงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 18-20% และตำแหน่งงานในกลุ่มทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล (HR Expert) เงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 15-25% ส่วนตำแหน่งงานในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่ย้ายงานในปี 2561 คาดว่าเงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 15-25%”

สำหรับตำแหน่งงานในกลุ่มการขาย และการตลาด โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านการขายและการตลาดที่เปลี่ยนงานในปี 2561 คาดว่าเงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 15-20% ซึ่งในภาคการขาย และการตลาด บุคลากรที่มีประสบการณ์ในด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงจะเป็นที่ต้องการ เนื่องจากบริษัทหลายแหล่งมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการ และทำให้ทีมงานมีความคล่องตัวขึ้น ลดต้นทุนได้มากขึ้น

สุดท้ายตำแหน่งงานในกลุ่มซัพพลายเชน และวิศวกรรม โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มซัพพลายเชน และวิศวกรรม คาดว่าเงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 10-15% ซึ่งจะเห็นได้ว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีทักษะด้านเทคนิค, ทักษะความเป็นผู้นำ และพนักงานระดับอาวุโสที่มีความสามารถในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และสามารถให้คำแนะนำผู้บริหารระดับสูงในการตัดสินใจเป็นอย่างดี จะเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่หลายโครงการเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่ในขณะนี้ด้วย