กระทรวงแรงงานเตรียมเจ้าหน้าที่ ป้องกันค้ามนุษย์ 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล

การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ สอดคล้องกับนโยบายการบริหารแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ (ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม) ที่ต้องได้รับสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ 22 จังหวัดชายทะเล ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมพิธีเปิดด้วย ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล

นายวรรณรัตน์กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวของท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่เปิดโอกาสให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานนำแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 4 สัญชาติ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ให้ขึ้นทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยให้ถูกต้อง

ถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของวิถีชีวิตคนไทย เพื่อฟื้นฟูประเทศภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ที่สำคัญเมื่อแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แรงงานเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ก็จะได้รับการคุ้มครองดูแลด้านสิทธิประโยชน์รวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชน อย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทยทุกประการ

นายวรรณรัตน์กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ 22 จังหวัดชายทะเล ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (สล.ศปคร.) สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1) เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย กฎหมาย ระเบียบแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ

2) เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565

3) เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) การตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

4) เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการคัดแยกผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการหรือประเภททั่วไประดับชำนาญงานหรือเทียบเท่า สังกัดสำนักงานแรงงานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ได้แก่ กระบี่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร ตรัง ตราด นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระนอง ระยอง สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุราษฎร์ธานี

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานจัดหางานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ปฏิบัติงาน ณ จุดตรวจเรือประมงส่วนหน้าดอนสัก จุดตรวจเรือประมงส่วนหน้าเกาะสมุยและศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกสุราษฎร์ธานี ศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมง เขต 7 สุราษฎร์ธานี (PIPO) ในระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี