“ตามน้ำ” กับ “โคคา-โคลา” ชวนคนเมืองร่วมรักษ์ธรรมชาติ

การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของโคคา-โคลา ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการรักน้ำ มีเป้าหมายหลักคือการคืนน้ำสู่ชุมชน และธรรมชาติให้ได้เท่ากันหรือมากกว่าปริมาณน้ำที่บริษัทนำมาใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่งจะโฟกัสทำงานร่วมกับชุมชนต่าง ๆ ใน 6 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ในการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

การลงพื้นที่ในแต่ละครั้งจะมีทั้งคนในชุมชน และผู้บริโภคจิตอาสาที่สมัครใจมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะรับรู้ที่มาที่ไป และปัญหาของพื้นที่ อันมาพร้อมกับการซึมซับถึงแนวทางการรักน้ำและการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

อย่างไรก็ดี โคคา-โคลาขยายขอบเขตการทำงานให้กว้างขึ้น ด้วยการขยับกลุ่มเป้าหมายมาสู่กลุ่ม “คนเมือง” ที่มีความสะดวกในการใช้น้ำมากที่สุด ให้ได้สัมผัสว่าการได้มาซึ่งน้ำนั้นเป็นอย่างไร

“สิ่งที่เราตั้งใจมาตลอดแต่อาจทำได้ไม่เต็มที่คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริโภคทั่วไป เพื่อให้ทุกคนหันมารักน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง เพราะชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ และทำโครงการกับเรา เขารักน้ำอยู่แล้ว และเห็นว่ามีน้ำแล้วมีชีวิต จึงมาทำโครงการกับโคคา-โคลา เพื่อให้พื้นที่เกิดความยั่งยืน แต่คนเมืองมีชีวิตที่แตกต่างจากคนที่อยู่ในโครงการรักน้ำของเรา เพราะเขามีน้ำใช้ตลอดเวลา และเขาอาจไม่เคยรู้ว่าการมาถึงของน้ำนั้นลำบากแค่ไหน”

“นันทิวัต ธรรมหทัย” ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด บอกเล่าถึงความมุ่งมั่นขององค์กร พร้อมเสริมว่า นี่เป็นช่องว่างที่ให้ได้ขบคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องน้ำเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนเมืองมากขึ้น และทำอย่างไรในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนเมืองหันมาช่วยกันรักและอนุรักษ์น้ำ

จึงเกิดเป็นทริป “ตามน้ำ” ด้วยการจับมือทำงานร่วมกับ “เดอะ คลาวด์” (The Cloud) จัดกิจกรรม Earth Appreciation หรือกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติใกล้ตัว โดยชวนผู้บริโภคออกเดินทางไปยัง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ของสายน้ำ ผืนป่า และชีวิต ซึ่งจะได้สัมผัสกับการเดินทางของสายน้ำ ที่เริ่มต้นจากต้นน้ำในป่าของดอยหลวงเชียงดาว อันเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำปิง

กิจกรรมนี้มีผู้เข้าสมัครกว่า 300 คน ก่อนที่จะถูกคัดเลือกเหลือ 12 คน ผ่านการเขียนเรียงความที่ให้แสดงถึงเหตุผลที่อยากเข้าร่วมกิจกรรม, วิธีการรักน้ำในแบบของตัวเอง และสิ่งที่ตั้งใจจะทำหลังได้เรียนรู้เรื่องน้ำจากการเข้าร่วมทริป โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่มาจากหลากหลายอาชีพ อาทิ นักศึกษา, ครูอนุบาล, นักออกแบบสิ่งทอ, บล็อกเกอร์, เกษตรกร รวมถึงเจ้าหน้าที่จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

ทั้งนั้น นอกจากจะได้ทำความรู้จัก และรักน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญต่อชีวิต ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้เข้าร่วมทริปยังได้มีโอกาสในการพูดคุยกับ “นิคม พุทธา” ผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนอนุรักษ์ดอยหลวง ที่มาร่วมปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำตลอดระยะเวลา 3 วัน

“เราตามหาเพื่อนอุดมการณ์มาร่วมรักน้ำไปกับโคคา-โคลา โดยหวังว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมทริป แล้วเขามีการส่งต่อเรื่องราวไปยังคนอื่น ซึ่งเชื่อว่าคนที่ได้รับข้อมูลจะเห็นความสำคัญของเรื่องน้ำมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องราวที่มาจากเพื่อนหรือคนใกล้ตัวของเขาเอง”

“นี่เป็นการขยับการสร้างการรับรู้เรื่องรักน้ำไปอีกสเต็ปคือ เราอยากสื่อสารให้สังคมรู้ว่า โคคา-โคลาให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำอย่างไร และเพราะอะไร ที่ผ่านมาเรามีกิจกรรมที่ทำกับชุมชนแล้ว แต่คงจะดียิ่งขึ้นไป ถ้าเราสามารถทำให้ทุกคนใช้น้ำอย่างมีความรับผิดชอบ และช่วยกันอนุรักษ์น้ำ ซึ่งถ้าทุกคนมาช่วยกันทำ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะกว้างมากขึ้น”

สำหรับการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ในปี 2561 “นันทิวัต” บอกว่ายังคงเดินหน้าโครงการรักน้ำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับชุมชนและผู้บริโภคทั่วไป ขณะเดียวกัน จะมีโปรเจ็กต์ใหญ่เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการขยะ เพื่อให้เกิดการใช้บรรจุภัณฑ์อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับหน่วยงานพันธมิตร คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนภายในปีนี้