องค์กร Net Zero กุญแจสร้างพนักงานสนใจ ESG

ปัจจุบันสังคมโลก และสภาพแวดล้อมในที่ทํางาน วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่โครงสร้างของบริษัทหลายแห่งก็ผันแปรไปตามความต้องการของตลาดใหม่ ๆ อันเนื่องมาจากการหยุดชะงักจากโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากปัญหาสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน จนทำให้การสร้างสมดุลในสังคมทํางานถูกกล่าวขานถึง เพราะสถานที่ดังกล่าวมีบุคลากรหลากหลาย ทั้งยังต้องการความเสมอภาค เพื่อให้ทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

กล่าวกันว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้องค์กรธุรกิจจำต้องหันมาใช้แนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อสร้างระบบนิเวศสําหรับพนักงานของตน เพื่อดำเนินการตามกลยุทธ์ทางธุรกิจ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ทาเลนท์ โซลูชันส์ (Talent Solutions) หนึ่งในแบรนด์ของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมโซลูชั่นด้านแรงงาน จึงพัฒนากรอบการทำงาน ด้วยการนำแนวคิดแบบ Net Zero มาช่วยลูกค้าวัดผล พัฒนา และติดตามการปฏิบัติงานของพนักงาน เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ ตามแนวทางการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถอย่างยั่งยืน หรือ “Talent Sustainability Quotient (TSQ)”

ลิลลี่ งามตระกูลพานิช
ลิลลี่ งามตระกูลพานิช

“ลิลลี่ งามตระกูลพานิช” ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ตลอดระยะกว่า 70 ปี แมนพาวเวอร์กรุ๊ป รู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน ทั้งยังอยู่เคียงข้างและช่วยสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับผู้คน และองค์กรทั่วโลก ด้วยความเชื่อที่ว่า “พนักงาน” หรือ “manpower” คือพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนความสำเร็จของธุรกิจ และสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้น

ดังนั้น การทำธุรกิจที่ยั่งยืนต้องควบคู่ไปกับการมีความรับผิดชอบต่อสังคม การมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ตามที่ “โจนาส ไพรซ์ซิ่ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป และซีอีโอองค์กรข้ามชาติขนาดใหญ่อีกกว่า 90 ท่าน ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นําระดับโลก

โดยจดหมายฉบับนี้ไม่เพียงให้คํามั่นสัญญาในการเร่งการแข่งขันสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero แต่ยังต้องการสร้างโลกให้ดีกว่าในปัจจุบัน ทั้งนั้นอาจเนื่องมาจากการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ที่จัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ ในปี 2021 หรือ COP26 มีการพูดถึงคํามั่นสัญญา อันเป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่ธุรกิจทั่วโลกให้ความสําคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ด้วย

ขณะที่ “ทาเลนท์ โซลูชันส์” (Talent Solutions) คือหนึ่งในแบรนด์ของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการอาชีพ ด้านนวัตกรรมการแก้ปัญหา และกลยุทธ์การสร้างแรงงานคุณภาพแบบครบวงจรระดับโลก ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลตลอดวงจรชีวิตพนักงาน ตั้งแต่ “การจัดหา, การจัดการ, การพัฒนา และการรักษา” ที่พัฒนาตามกรอบการทำงานอย่างยั่งยืน

จึงคิดว่า “ทาเลนท์ โซลูชันส์” น่าจะมาช่วยวัดผล ปรับปรุง และติดตามแนวทางปฏิบัติด้านบุคลากรที่มีความสามารถ โดยเทียบกับผู้มีความสามารถจากองค์กรอื่น ๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไข และพัฒนาแผนกลยุทธ์ในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อให้พวกเขาเข้ามาทำงาน

ที่สำคัญ เพื่อเปรียบเทียบกับแนวทางการปฏิบัติด้านความยั่งยืนของบุคลากรที่มีความสามารถในระดับสากล จนทำให้องค์กรต่าง ๆ สามารถกรอก Talent Sustainability Quotient (TSQ) ที่ได้รับการพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญของ Talent Solutions มาทำให้องค์ความรู้ของพวกเขาเกิดมิติทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

กระทั่งสามารถประเมินประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรใน 3 องค์ประกอบหลัก และ 6 มิติสำคัญในการขับเคลื่อนบุคลากรอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

หนึ่ง การจัดหา และว่าจ้างผู้มีความสามารถ (Acquiring and Hiring Talent) เพื่อเร่งเวลาในการผลิต โดย 69% ของนายจ้างทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงผู้มีความสามารถที่พวกเขาต้องการได้ ดังนั้น องค์กรจําเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าแนวทางปฏิบัติของแบรนด์ สามารถมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้สมัครอย่างราบรื่น ทั้งยังจะช่วยให้พวกเขาโดดเด่น จนมีส่วนร่วมกับพนักงานตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย

สอง การมีส่วนร่วมและพัฒนาความสามารถ (Engaging and Evolving Talent) เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะสูง ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม The World Economic Forum ประมาณการว่าคน 1,000 ล้านคนจะต้องมีทักษะเพิ่มขึ้นภายในปี 2025 ดังนั้น องค์กรจําเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบุคลากรที่บริษัทลงทุนไป คุ้มค่าหรือไม่ กล่าวคือจะต้องเป็นพนักงานที่ผูกพันกับบริษัท และอยากอยู่ต่อ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ธุรกิจจะส่งเสริมให้คนมีความสามารถอยู่นานขึ้น

ขณะที่องค์กรจะช่วยพัฒนาอาชีพให้พนักงานมีประสิทธิภาพ และประสบความสําเร็จมากขึ้นตลอดเวลาที่พวกเขาทํางานกับบริษัท โดยพนักงาน 3 ใน 4 (74%) ที่วางแผนจะอยู่นานกว่า 2 ปีจะได้รับการฝึกอบรมทักษะเชิงอาชีพอย่างเป็นระบบ

สาม ปรับปรุงวัฒนธรรม การจัดการ และสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ด้วยการเปลี่ยนแปลงผู้นํา (Improve Culture, Retention and Belonging) เพราะผู้นําทุกคนจะเป็นผู้กําหนดวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเหมือนกับงานวิจัย “What Workers Want” ของ “Manpower Group” ที่แสดงให้เห็นว่า

ผู้คนต้องการภาคภูมิใจในบทบาท หรือองค์กรที่พวกเขาทํางานให้ โดยเกือบ 9 ใน 10 (86%) ของคนรุ่นมิลเลนเนียลจะพิจารณาลดค่าจ้าง เพื่อทํางานในบริษัทที่มีพันธกิจ และค่านิยมที่สอดคล้องกับตนเอง อันเป็นสิ่งสำคัญของพนักงานรุ่นปัจจุบัน

ฉะนั้น “ทาเลนท์ โซลูชันส์” จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพัฒนาขีดความสามารถของพนักงาน เพื่อให้พวกเขา “อยู่” และ “ทำงาน” ให้องค์กรอย่างมีความสุข และมีความยั่งยืนในอนาคต