เอามื้อสามัคคี ศาสตร์พระราชาชุบชีวิตชุมชน

ไม่น่าเชื่อว่าโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน เดินทางมาถึงปีที่ 5 แล้ว ทั้งยังมีความเชื่อว่าโครงการดังกล่าวน่าจะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะแนวคิดของโครงการเกิดขึ้นมาจากแรงบันดาลใจจากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงผนึกกำลังกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ และความสำคัญต่อการฟื้นฟู และพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักด้วยแนวทางศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่น

ล่าสุด บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าจัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” บริเวณพื้นที่ของ “แสวง ศรีธรรมบุตร” เกษตรกรบ้านนาเรียง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ซึ่งเขาเป็นผู้พลิกฟื้นผืนดินจากที่ดินลูกรัง มาเป็นพื้นที่เขียวขจี อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืช ผัก ผลไม้ และนาข้าวด้วยการนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จในวันนี้ภายใต้การดำเนินโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปีที่ 5”

เบื้องต้น “ไพโรจน์ กวียานันท์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บอกว่า สำหรับในปีที่ 5 เราดำเนินงานภายใต้แนวคิดแตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี โดยมีเป้าหมายจัดกิจกรรมตามแนวคิดโคก หนอง นา โมเดล ใน 4 พื้นที่ โดยมีตัวแทนแต่ละภาค ซึ่งครั้งแรกจัดขึ้นที่แปลงเกษตรสาธิต คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. ตัวแทนภาคกลาง ในการสร้างแหล่งเรียนรู้สำหรับการทำเกษตรในเมือง

“ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ จ.ราชบุรี ตัวแทนภาคตะวันตก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการขับเคลื่อนโครงการสู่ลุ่มน้ำแม่กลอง ที่แตกตัว และขยายผลอย่างต่อเนื่องจาก 16 ราย มาเป็น 30 ราย ส่วนครั้งที่ 3 คือกิจกรรมที่ จ.อุดรธานี ในวันนี้ ถือเป็นตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยขับเคลื่อนโครงการสู่ลุ่มน้ำชี และที่ผ่านไปไม่นาน คือ ครั้งสุดท้ายของปี 2560 เราไปที่เชียงใหม่ อันเป็นตัวแทนภาคเหนือ เพื่ออยากจะบอกว่าการนำศาสตร์พระราชาไปปรับใช้สามารถช่วยแก้ปัญหาสู่ความยั่งยืนจริง ๆ”

ถึงตรงนี้ “ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า ในปีที่ 5 เรานำภารกิจของการเอามื้อสามัคคี หรือการลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของคนไทย มาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อน เพื่อประสานความสามัคคี และเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน

“กิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่อุดรธานีเป็นการแตกตัวของโครงการที่ขยายผลจากลุ่มน้ำป่าสักไปยังลุ่มน้ำชี โดยกิจกรรมมี2 ส่วน คือ กิจกรรมเอามื้อสามัคคี ในพื้นที่ของลุงแสวง ศรีธรรมบุตร เกษตรกรแห่งบ้านนาเรียง ด้วยการปลูกต้นดาวเรืองเป็นรูปเลขเก้าไทย (๙) เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้พระราชทานแนวทางศาสตร์พระราชาแก่เกษตรกรไทย”

“ส่วนที่สองเป็นกิจกรรมเอามื้อ โดยร่วมกันทำฝาย และซ่อมคันกั้นน้ำที่เสียหายจากพายุฝนที่คลองประชารัฐในพื้นที่เครือข่ายสภาคริสตจักรนาเรียง โดยมีพนักงานจิตอาสาของเชฟรอน พนักงานจิตอาสาจากเครือข่าย รวมถึงชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ มาช่วยกันซ่อมแซม จนทำให้ทุกคนมองเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกันจากการทำงานครั้งนี้”

ขณะที่ “ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล” คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่าทาง สจล.เข้าร่วมโครงการด้วยการให้คำแนะนำ และสอนวิธีการออกแบบพื้นที่ทำการเกษตรของเครือข่าย และผู้สนใจตามแนวทางของศาสตร์พระราชา

“นอกจากนั้น ยังต่อยอดโครงการวิจัยการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตาม และประเมินผล เพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ในนามศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดย สจล.ได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เพื่อจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ และมีมาตรฐานทางวิชาการใน 3 พื้นที่ คือ ลำปาง, อุดรธานี และตาก รวม 300 ไร่”

“สำหรับบ้านนาเรียงคือหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของโครงการวิจัย จึงได้จัดแสดงวิธีการจัดเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และการตรวจวัดสภาพอากาศ รวมทั้งเก็บภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อแสดงให้เห็นว่างานวิจัยชิ้นนี้มีการจัดเก็บข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณที่ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญ ซึ่งจะช่วยยืนยันความสำเร็จของทฤษฎีการจัดการทรัพยากร ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการแก้ปัญหาครบทุกมิติ”

สำหรับ “แสวง ศรีธรรมบุตร” เกษตรกรผู้พลิกฟื้นผืนดินที่เป็นหินให้กลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ จนได้รับฉายา “ลุงแสวงผู้มั่งคั่งความสุข แห่งลำน้ำปาว” กล่าวว่า ผมเคยหมดหวังกับที่ดินของตัวเอง เพราะเป็นดินลูกรัง ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ครั้งหนึ่งเคยประกาศขายที่ดินในราคาถูก แต่ไม่มีใครซื้อ

“จนวันหนึ่งไปอบรมเรื่องศาสตร์พระราชา ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง พอกลับมารู้สึกร้อนวิชา นอนไม่หลับ จึงลุกขึ้นมาตั้งแต่ตี 4 เพื่อขุดดินด้วยมือเปล่า เพราะที่ดินเป็นหินไม่สามารถขุดด้วยจอบได้ และพอดีมีคนต้องการดินลูกรังเพื่อไปทำถนน ผมจึงให้เขาขุดดินฟรี ๆ แลกกับขุดบ่อน้ำให้ 9 บ่อ เพราะเมื่อก่อนไม่รู้จะต้องเก็บน้ำอย่างไร”

“หลังจากนั้น ผมเริ่มทำตามศาสตร์พระราชา โดยใช้เวลาแค่ปีกว่า ๆ จากผืนดินที่ปลูกอะไรก็ตาย แต่มาวันนี้สามารถปลูกพืชผักผลไม้ได้อย่างสมบูรณ์ แถมยังมีปลาเต็มบ่อ ทั้งยังปลูกสตรอว์เบอรี่ได้อีกในเดือนเมษายน สำคัญไปกว่านั้น ลูกชาย ลูกสะใภ้ กลับจากกรุงเทพฯ เพื่อมาอยู่กับผม และภรรยา จนทำให้ครอบครัวของเราได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา และในอนาคตผมจะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาการเกษตร เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่ผู้สนใจต่อไป”

อันเป็นสิ่งที่ “ลุงแสวง” คาดหวังและเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า ศาสตร์พระราชา สามารถพลิกฟื้นชีวิตของเขาได้จริง ๆ