ก้าวต่อไปของ “ตลท.” เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม

ต้องยอมรับว่าในปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีพัฒนาการและความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายด้าน ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยเฉพาะการมี 33 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Standard In-dex และในช่วง 5 ปีผ่านมามีจำนวน บจ.ที่ได้รับคัดเลือกเพิ่มขึ้นสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน

อีกทั้งยังมี 17 บจ.ไทยที่ได้รับคัดเลือกให้ติดอันดับในดัชนีแห่งความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน อีกทั้ง ตลท.ยังติด Top 10 ตลาดหลักทรัพย์โลกด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของ บจ. จากรายงานวิจัย “Measuring Sustainability Disclosure 2017” โดย Corporate Knights และ AVIVA

ขณะเดียวกัน 8 บจ.ไทยยังคว้า 11 รางวัลยอดเยี่ยมด้านนักลงทุนสัมพันธ์ IR Magazine Awards ประจำปี 2560 โดย บจ.ไทยได้รางวัลมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ตลอดจนการที่ ตลท.มีความโดดเด่นในระดับสากล โดยได้รับรางวัล Best SustainableSecurities Exchange Southeast Asia Emerging Markets 2017 จากวารสาร Capital Finance International (CFI.co) ประเทศอังกฤษ เป็นต้น

ล่าสุด ตลท.มีการวางกรอบกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2561-2563) ภายใต้แนวคิด “Towards Sustainable Growth with Innovation” หรือ “สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม” เพื่อรักษาความเป็นที่ 1 ในอาเซียน โดยเดินหน้าพัฒนาตลาดทุนเพื่อเป็นประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุกภาคส่วน อันสอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุน และสอดรับกับนโยบายของประเทศ
เกศรา มัญชุศรี

จากแนวทางดังกล่าว “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “เกศรา มัญชุศรี” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงแนวโน้มและการส่งเสริมความยั่งยืนให้กับ บจ.ไทย

เบื้องต้น “เกศรา” กล่าวว่า เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ตลท.พยายามเปรียบเทียบว่าบริษัทหรือผู้ลงทุนทั่วโลกใช้อะไรในการวัดผลเรื่องความยั่งยืน โดยพบว่าส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับดัชนี DJSI ที่จัดทำโดย S&P Dow Jones ประกอบกับการที่สหประชาชาติมีการประกาศใช้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) 17 เป้าหมายซึ่งเป็นวาระแห่งการพัมนาโลกในอีก 15 ปี (2559-2573)

“จึงทำให้ไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาตามแนวทางดังกล่าว โดยเฉพาะการส่งเสริม บจ.ไทยนำวาระดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ บจ.ต้องดูรายละเอียดและทำความเข้าใจกับ 17 เป้าหมาย และเลือกประเด็นที่จะทำ ไม่ใช่ทำทุกประเด็น ซึ่งในแต่ละเป้าหมายมีความเชื่อมโยงกัน ถ้า บจ.ทำได้และสามารถสานต่อภารกิจ จะทำให้เกิดเป็นพลังในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

“ไม่ใช่ว่าเราส่งเสริม บจ.ให้นำเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานแต่เพียงอย่างเดียว ขณะที่ ตลท.มีการวัดผล ประเมินผลว่าในเรื่องความยั่งยืนนั้น เราทำได้มากน้อยเพียงใด และต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม ปรับปรุงอย่างไรบ้างด้วย ที่ผ่านมาประเด็นเรื่องความยั่งยืนที่ บจ.ไทยทำอยู่นี้ถือว่าค่อนข้างครอบคลุมแล้ว เพียงแต่อาจไม่ตรงกับโจทย์หรือสาระของ SDGs เพราะส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ ESG (Environmental, Social, and Governance) และตามดัชนี DJSI”

“เราจึงอยากเห็น บจ.ไทยนำ ESG ไปใช้ เพราะทำแล้ว บจ.ได้ประโยชน์ ช่วยลดต้นทุน รวมถึงการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงนี้ถือเป็นบทบาทหน้าที่ของเรา ที่ต้องทำให้เขาเห็นว่าทำแล้วได้ประโยชน์ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ 17 บจ.ที่ติดอันดับ DJSI นั้นเขาทำจริง ได้ประโยชน์จริง ขณะเดียวกัน ก็ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนด้วย”

“เกศรา” กล่าวเพิ่มเติมว่า การดึง บจ.ให้ทำเรื่องความยั่งยืน ตลท.ใช้กลยุทธ์คือทำโดยสมัครใจ ไม่ได้บังคับ ซึ่งการที่ทำให้ บจ.อยากทำ ยั่งยืนกว่าการบังคับ และเมื่อทำได้ แล้วทำได้ดี ตลท.จะมีรางวัลให้ อย่างที่เห็นในปัจจุบันคือ Sustainability Award เพื่ออยากให้ บจ.มีกำลังใจทำต่อไป และอยากให้คนรอบข้างตระหนักและสนใจที่จะเข้ามาทำเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

“การทำเรื่องความยั่งยืน เรายังมีแนวปฏิบัติในการช่วยเหลือ เพื่อให้เดินไปถูกทิศทาง แต่ขณะเดียวกันมีการวัดผล โดยนำเอาตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานอย่าง DJSI ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับ International เข้ามาใช้ เพราะ DJSI เป็นดัชนีความยั่งยืนที่นักลงทุนยอมรับในฐานะสถาบัน ตรงนี้ถือว่า ตลท.จับเทรนด์ถูก และในที่สุดเป็นสิ่งที่ บจ.ตระหนักถึง อีกทั้ง ตลท.ยังมีการจัดทำ Thailand Sustainability Investment (THSI) ให้กับ บจ.ไทยที่ Level และ Site ยังไม่ได้”

“ซึ่งเราตั้งเป้าหมายว่าในปี 2561 จะต้องมี บจ.ไทยเข้ามาร่วมประเมินในจำนวนที่มากขึ้น ตอนนี้ได้กำชับทีมงานให้ทำประชาสัมพันธ์ ทำมาร์เก็ตติ้งไปแล้ว และต้องมีการแบ่งแยกกลุ่มเป็นรายอุตสาหกรรมด้วย”

สำหรับประเด็นเรื่องความท้าทายในเรื่องของความยั่งยืนอีก 5 ปีข้างหน้า “เกศรา” มองว่าประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ถือเป็นความท้าทายของทุกคน และแม้ว่าในปัจจุบัน บจ.จะอยู่ดีกินดี ทำได้ มีกำไร มีผลประกอบการที่ดี แต่จำเป็นต้องเริ่มคิดถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

“เราต้องทำให้คนนึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่วนเรื่อง Sustainability ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของการอยู่รอดได้อย่างปลอดภัยมากกว่า ในที่นี้ไม่ได้คำนึงถึงว่าสิ่งแวดล้อมจะต้องเปลี่ยน กระบวนการทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเปลี่ยน และการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป แต่จะต้องตระหนักว่าเราจะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างไรด้วย”

“ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ ตลท.ให้ความสำคัญกับ Innovation โดยไม่ใช่เฉพาะการทำสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงการเปลี่ยนขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ทั้งหมดด้วย เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพียงแต่การจะอยู่ได้บนการเปลี่ยนแปลง จะต้องรู้ตัวว่าการดำเนินงาน การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าบางเรื่อง บางขั้นตอน บางกระบวนการ อันไหนที่ตัดออกได้ ก็ต้องตัด เพื่อให้อยู่ได้ อยู่รอด เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญที่ใช้ในการแข่งขันสำหรับอนาคตต่อไป”

“เนื่องจากทุกวันนี้ถือว่าทุกคนตระหนักถึง Disruption แต่ความเป็นจริงแล้วต้องทำอะไร ทำอย่างไร ซึ่งอันนี้ตอบไม่ได้ แต่ทุกคนต้องหาคำตอบ และวิธีการเอง ดิฉันถือว่าเป็นทิศทางที่ดี ที่ทุกคนรู้ว่าต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว”

เพราะการเปลี่ยนแปลงกำลังคืบคลานเข้ามาทุกวัน

“ฉะนั้นแล้วเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืนของ ตลท. จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรม และขั้นตอนกระบวนการควบคู่กันไป ซึ่งถ้า Process ดีอาจจะทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความกะทัดรัดขึ้น ในขณะเดียวกันการทำซีเอสอาร์ยุคปัจุบันและอนาคต จึงต้องทำให้เขาอยู่ได้ พึ่งตนเองได้ ตรงนี้ถือเป็นความยั่งยืน หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”