สสว.ชี้ปรับขึ้นค่าเเรงขั้นต่ำ กระทบต้นทุน SMEs แต่ยังรับไหว

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ชี้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กระทบต้นทุนค่าแรงงานเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.54 ต้นทุนสินค้าขยับร้อยละ 0.05 เผยผลสำรวจอยู่ในระดับที่เอสเอ็มอียอมรับได้ แนะผู้ประกอบการยุค 4.0 ต้องปรับตัวพร้อมรับความเสี่ยงรอบด้านจากการที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแยกตามกลุ่มจังหวัด 7 กลุ่ม ตั้งแต่ 5-22 บาท ส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 315.97 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2561 นี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนแรงงานของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SME ภาคเกษตร และภาคบริการ ซึ่งมีการใช้แรงงานจำนวนมากและมีต้นทุนแรงงานในสัดส่วนที่สูง

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ภายหลังประกาศปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ สสว. ได้ดำเนินการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลอง SME-CGE ของ สสว. และศึกษาโครงสร้างต้นทุนค่าแรงจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (SME Input-Output Table) พบว่าอัตราส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 1 จะส่งผลให้ต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จึงส่งผลให้ต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.54 ทำให้ต้นทุนสินค้าขยับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.05 ซึ่งนับว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าไม่มาก โดยปัจจุบันต้นทุนค่าแรงงานเฉลี่ยของ SMEs อยู่ที่ร้อยละ 12.0 โดยภาคบริการมีต้นทุนค่าแรงงานสูงสุดร้อยละ 21.8 ภาคการผลิตร้อยละ 13.7 และภาคการค้าร้อยละ 9.6 ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการ SMEs ใน 74 จังหวัดทั่วประเทศ โดยศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร สสว. (One Stop Service Center : OSS) พบว่า ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราค่าจ้างที่ปรับขึ้นเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ แม้จะมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้นบ้าง แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานน้อย และในบางพื้นที่อัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากเป็นการจ้างแรงงานที่ใช้ทักษะฝีมือเป็นหลัก


“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้มีอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น ในพื้นที่อีอีซีมีการปรับขึ้นค่าแรงในอัตราสูง ซึ่งผู้ประกอบการมีศักยภาพในการสร้างผลิตภาพจากแรงงานอย่างคุ้มค่า ในภาพรวม ผลกระทบต่อต้นทุนด้านแรงงานของผู้ประกอบการ SMEs จึงอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ แต่ในระยะยาว SME ยุค 4.0 จำเป็นต้องปรับตัวให้พร้อมรองรับความเสี่ยงทั้งการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมปรับใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ การวางแผนกลยุทธ์ด้านราคา การปรับโมเดลในการดำเนินธุรกิจ หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านอื่น ๆ โดย สสว. มีโครงการต่าง ๆ พร้อมรองรับและสนันบสนุนการปรับตัวของ SME ให้สามารถเติบโตได้ตามวงจรธุรกิจอย่างยั่งยืน อาทิ โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์ โครงการ SME One โดยพัฒนาเว็บไซต์ www.sme1.info ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข่าวสาร องค์ความรู้และกิจกรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SME ซึ่งขณะนี้เปิดทดลองให้บริการแล้ว เป็นต้น” นายสุวรรณชัย กล่าว