รมว.แรงงาน ดันโครงการแก้ปัญหายาเสพติด ป้องกันผลกระทบต่อสังคม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ค้นหาสารเสพติดและตรวจสุขภาวะทางอารมณ์ของลูกจ้าง ตามโครงการโรงงานสีขาว และมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่สำคัญของชาติซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่าง ๆ ต่อชีวิต ผู้เสพ ครอบครัว สังคม และประเทศชาติอย่างมหาศาล โดยพบว่ากลุ่มผู้เสพยาเสพติดส่วนใหญ่นั้นมีช่วงอายุระหว่าง 15-50 ปี ซึ่งอยู่ในวัยกำลังแรงงาน ถือเป็นกลุ่มแรงงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ หากสูญเสียกลุ่มแรงงานเหล่านี้จากยาเสพติด ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจของประเทศชาติ

“รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญต่อการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของปัญหายาเสพติด พร้อมทั้งห่วงใยคุณภาพชีวิตแรงงานที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลกลุ่มผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบกิจการให้ห่างไกลจากยาเสพติด

ผมจึงได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบกิจการ เพื่อค้นหาสารเสพติดและตรวจสุขภาวะทางอารมณ์ของลูกจ้าง ตามโครงการโรงงานสีขาว และมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) อย่างเข้มข้น เพื่อเสริมสร้างสถานประกอบกิจการให้มีระบบการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทำให้แรงงานมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี”

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กสร.ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ ผลักดันโครงการโรงงานสีขาว และมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

สำหรับกรณีตรวจพบการใช้สารเสพติดของลูกจ้าง ขอให้นายจ้างส่งลูกจ้างเข้ารับการบำบัดรักษา และให้โอกาสลูกจ้างกลับเข้าทำงานเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นต่อไป ทั้งนี้ สามารถข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองสวัสดิการแรงงาน โทร. 0-2660-2177 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือ โทร.สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546