รักษ์น้ำ The Journey สานต่อ “พ่อหลวง” สร้างฝายทั่วไทย

เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต “เอสซีจี” จึงดำเนินการสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการนำตัวแทนชุมชน และเยาวชนรุ่นใหม่จำนวน 60 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ขอนแก่น และนครศรีธรรมราชร่วมกิจกรรม “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” ภายใต้โครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต”ด้วยการลงพื้นที่ชุมชนต้นแบบฝายชะลอน้ำตามพระราชดำริ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปลุกแรงบันดาลใจ ในการขยายผลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเอง สู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

“ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าเราจะปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกคือการสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของป่า ปัจจัยนั้นคือน้ำ ทำอย่างไรให้น้ำที่ไหลลงมาอย่างรวดเร็ว ให้ไหลช้าลง จึงเป็นที่มาของการทำฝายชะลอน้ำ โดยการนำหินไปขวางน้ำไว้ ถึงเวลาหินพวกนี้จะกักน้ำไว้ให้ค่อย ๆ ไหลลงมา เมื่อฝนตกน้ำในฝาย สามารถชะลอน้ำได้จริง ๆ แล้วจะค่อย ๆ ปล่อยไหลไปความชื้น เท่านั้นเราก็จะขังอยู่บริเวณนี้เป็นเวลานาน ใต้ดินที่คิดว่าจะไม่มีชีวิตแล้ว กลับมาอุดมสมบูรณ์ เจริญเติบโตใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากมือคนผสมกับการทำงานของธรรมชาติ ที่เราเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน”

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

“บวร วรรณศรี” ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์และอนุรักษ์ธรรมชาติ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด กล่าวเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่รอบโรงงานเอสซีจี จ.ลำปางที่เห็นได้ชัดคือเมื่อปี 2537 บริเวณรอบ ๆ โรงงานเป็นป่าเสื่อมโทรมมาก่อน เมื่อทางภาครัฐอนุญาตให้เรามาอยู่ที่นี่ และใช้พื้นที่ตรงนี้มาทำประโยชน์ แต่กระนั้น จะต้องรับเงื่อนไขในการดูแลพื้นที่นี้ด้วย ซึ่งผู้บริหารของเราประกาศอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าโรงงานอยู่ที่ไหน ป่าไม้ต้องเขียวที่นั่น ตรงนี้เหมือนเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้กับสังคมว่าเราจะดูแล และรักษาธรรมชาติให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพราะพวกเราชาวเอสซีจีเชื่อว่าอุตสาหกรรมกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ ถ้าหากมีการจัดการที่ดี

บวร วรรณศรี

“จากการแนะนำจากผู้จัดการใหญ่ของเรา (คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในสมัยนั้น ท่านได้แนะนำว่าให้ลองศึกษาโครงการพระราชดำริของในหลวง ร.9 ที่ศูนย์ศึกษาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ จ.เชียงใหม่ ทีมเราจึงไปศึกษา และเริ่มทำฝายชะลอน้ำ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรมที่เคยแห้งแล้ง ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่ม”

“ในปี 2550 เราจึงเริ่มขยายผลสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถต่อยอด จนนำไปสู่เรื่องของการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับครอบครัว และชุมชน สำคัญกว่านั้น ชุดความรู้เหล่านี้ที่เกิดจากชุมชนรู้จริง ทำจริง และอยู่รอดได้จริง เขายังแบ่งปันองค์ความรู้เหล่านี้ไปยังชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ในโครงการเอสซีจีรักษ์น้ำของเราด้วย เนื่องจากชุมชนต่าง ๆ เหล่านั้นต่างมีปัญหาคล้ายคลึงกัน กระทั่งนำไปแก้ไขปัญหาได้เช่นเดียวกัน”

“เดือน คงมณี” ผู้ใหญ่บ้านและประธานป่าชุมชน อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวเสริมว่า ชุมชนที่พวกผมอาศัยอยู่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ลักษณะพื้นที่เป็นท้องกระทะ เมื่อฝนตก จะรวมลงมาสู่หมู่บ้าน ทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปี

เดือน คงมณี

“พวกเราจึงพยายามหาแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดการน้ำ จนเมื่อมาดูงานสร้างฝายชะลอน้ำกับทางเอสซีจีเมื่อหลายปีผ่านมา จนถึงตอนนี้เราทำอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่ปีที่ 5 แล้วที่เราสร้างฝายชะลอน้ำขึ้นมากกว่า 1,000 ฝาย เราเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน จนปัจจุบันเราเป็นชุมชนเดียวที่น้ำไม่ท่วม ทั้งยังเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านในการทำการเกษตร จนสภาพชีวิตมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แม้พื้นที่ของเราจะไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ส่วนความรู้ใหม่ที่ได้ในครั้งนี้ก็จะนำกลับไปใช้กับชุมชน และชุมชนโดยรอบให้ดียิ่งขึ้นด้วย”

ปัจจุบันเอสซีจีมีเครือข่ายชุมชนในโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต มากกว่า 80 ชุมชน ใน 12 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งได้สร้างฝายชะลอน้ำสำเร็จกว่า 77,000 ฝาย และมีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 85,000 คน


โดยกิจกรรม “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนอกจากจะได้เรียนรู้ และเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของพื้นที่ป่ารอบโรงงานบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด และป่าชุมชนโดยรอบโรงงาน หากพวกเขายังเกิดความสามัคคีเพื่อลงมือสร้างฝายชะลอน้ำด้วยตัวเอง จนทำให้เขานำประสบการณ์จริง และความรู้ที่เกิดขึ้นไปแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเอง ทั้งยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่สมาชิกชุมชนอื่น ๆ ต่อไปด้วย