10 ปีเพาะพันธุ์ปัญญา กสิกร วางรากฐานการศึกษาไทย

การศึกษา

เป็นระยะเวลากว่า 10 ปีที่ธนาคารกสิกรไทยริเริ่มโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาขึ้นนับตั้งแต่ปี 2556 ด้วยความมุ่งหวังอยากดูแลสังคม และเล็งเห็นว่าการศึกษาไทยเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาคือโมเดลการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เน้นให้นักเรียนฝึกคิดวิเคราะห์ โดยครูจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็น “โค้ช” คอยชี้แนะ และทำให้นักเรียนกลายเป็น “นักวิจัย” เพื่อค้นหาปัญหารอบตัว ก่อนที่จะลงมือค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง

จุดเริ่มเพาะพันธุ์ปัญญา

“ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย” เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การทำธุรกิจมุ่งแสวงหาแต่เพียงกำไรอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมอง และเอาใจใส่คนรอบข้างด้วย ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้า ชุมชน สังคม

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย
ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย

ซึ่งเป็นแนวคิดที่ “คุณบัณฑูร ล่ำซำ” ท่านประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทยวางรากฐานเอาไว้ และมองว่าบทบาทของการเป็นธนาคาร ต้องเป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศเจริญเติบโต และเราต้องเอาใจของเราไปใส่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราด้วย

“ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ช่วงนั้นเป็นยุคของโลกาภิวัตน์ที่เน้นการแข่งขันกัน คุณบัณฑูรเชิญนักวิชาการ นักวิจัยจากหลาย ๆ ท่านจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาร่วมหารือกันว่าทำอย่างไรที่จะทำให้องค์กรเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ และเติบโตอย่างยั่งยืน

จนได้ข้อสรุปว่าหัวใจหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ที่การศึกษา และการพัฒนาคน จึงริเริ่มโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาขึ้นในปี 2556 ร่วมกับ สกว.ตอนนั้นลงเงินกันคนละครึ่ง จนกลายเป็นเงินทุนที่ใหญ่มากในการทำโครงการ และก็ทำงานกันอย่างหนักเรื่อยมา”

เปลี่ยนครูเป็นโค้ช

“ดร.อดิศวร์” กล่าวต่อว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญามีวัตถุประสงค์อยากจะสร้างเด็กไทยให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านโครงงานการวิจัยที่เรียกว่า RBL (research-based learning) สนับสนุนนักเรียนทำโครงงานวิจัยจากเรื่องราวใกล้ตัว หรือเรื่องราวในชุมชนของตนเอง หรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เด็กสามารถนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตตัวเองในอนาคต

“เราพยายามจะเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนทั้งครู และนักเรียน โดยให้ครูเป็นโค้ช และนักเรียนลงมือปฏิบัติจากโครงงานจริง ๆ กระบวนการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ และการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุ และผลแก่เยาวชน

ทั้งนี้ต้องบอกว่าเจตนารมณ์ และความคิดของธนาคารในการช่วยขับเคลื่อนประเทศผ่านการศึกษาไม่ได้เพิ่งเกิดเมื่อ 10 ปีที่แล้วเท่านั้น แต่ความเชื่อนี้มีมากว่า 30 ปีที่แล้ว และส่งต่อมาให้กับพนักงาน และผู้บริหารของธนาคารกสิกรไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านโครงการต่าง ๆ มากมาย”

แต่สำหรับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาช่วง 6 ปีแรกมีการทำโครงการกับโรงเรียน 18 จังหวัด และมี 8 มหาวิทยาลัย ซึ่งมาจากหลากหลายคณะของแต่ละแห่งเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง และมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 135 แห่ง ครูเข้าร่วมโครงการ 4,579 คน และนักเรียนอีก 24,612 คน

ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับดีมาก จนทำให้ในปี 2562 เราลุยโครงการต่อเนื่องโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพะเยาผลักดันให้เกิด “โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา” ขึ้น

“ถามว่าทำไมเราถึงเลือกจังหวัดน่าน ก็เพราะว่ากสิกรมีการทำโครงการกับจังหวัดน่านมากมาย อีกทั้งยังพบว่าน่านเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ เป็นอันดับ ที่ 16 จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญ มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ เราจึงคาดหวังว่าโครงการจะบ่มเพาะเยาวชนน่าน และให้เยาวชนมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดของตนเองได้ในอนาคต”

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

สอนเด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง

“รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์” ผู้ถ่ายทอดกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา และกรรมการกำกับดูแล ทิศทางการดำเนินงาน โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวเสริมว่า การดำเนินโครงการช่วงแรก ๆ เราให้เด็กและโค้ชทำโครงงานประกวดเพื่อชิงรางวัล แต่เราพบว่าการให้รางวัลไม่ใช่สิ่งที่ถูก เพราะเรากำลังสร้างให้เด็กเป็นนักล่ารางวัล

ฉะนั้น เด็กจะถูกขับเคลื่อนด้วยรางวัล ไม่ใช่แรงบันดาลใจที่อยากจะทำจริง ๆ เราค้นพบว่าการให้รางวัลจะทำให้เด็กจะไม่กล้าทำสิ่งยาก ๆ เพราะกลัวความพ่ายแพ้ ถ้าทุกคนตั้งความหวังว่าต้องชนะ ก็จะยอมรับความล้มเหลวไม่ได้ นั่นจะไม่ทำให้เกิดกระบวนการคิดที่แท้จริง

“จะเห็นว่าเด็กทุกวันนี้เกิดความเครียดมากมาย เพราะบางคนถูกคาดหวังมากเกินไป เราจึงเปลี่ยนวิธีการคือเด็กต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง และต้องทำสิ่งที่เขาอยากจะทำ ไม่ได้เป็นตัวแทนทำในสิ่งที่ครูอยากให้ทำ ดังนั้น ครูต้องเปลี่ยนไปตามความหลากหลายของเด็กด้วย

หัวใจสำคัญของโครงการจึงอยู่ที่ครู ผู้ใกล้ชิดนักเรียน ต้องเป็นโค้ชแนะแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งพอเราไม่ให้รางวัลเป็นตัวตั้งในการแข่งขัน ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ชนะได้แสดงละครเวที ทำให้เด็กได้แสดงออกเชิงสร้างสรรค์ เป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน”

เรียนรู้จากทรัพยากรในพื้นที่

“รศ.ดร.สุธีระ” กล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้น่านเพาะพันธุ์ปัญญาจัดกิจกรรม Eduthon ใช้วิธีการแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 2 กลุ่ม ตั้งชื่อเป็นบ้านเหนือกับบ้านใต้ของน่าน เพื่อให้เด็กจากเหนือไปดูทรัพยากรจากใต้ ส่วนกลุ่มใต้ไปดูทรัพยากรจากเหนือว่ามีอะไรบ้าง เมื่อเจอแล้วเขามีความคิดอย่างไรกับความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรที่บ้านตนเองมีกับสิ่งที่บ้านผู้อื่นมี เพราะทางโครงการต้องการสร้างเด็กให้เข้าใจความสัมพันธ์ของทรัพยากร ชีวิต อาชีพ ธรรมชาติ

“ตอนนี้การทำมาหากินของมนุษย์ตัดขาดกับธรรมชาติ เช่น บางครอบครัวมีอาชีพปลูกข้าวโพดเพื่อใช้หนี้ แต่ไม่รู้ว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำลายธรรมชาติ ทำให้เกิดภูเขาหัวโล้น เพราะเป็นอาชีพที่ทำมานาน ดังนั้น ถ้าต้องการให้คนน่านเห็นปัญหาต้องทำให้เด็กเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอาชีพกับทรัพยากรให้ได้ก่อน ต่อไปจะได้ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง เข้าใจถึงการใช้ทรัพยากรกับอาชีพว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร”

เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ธรรมชาติในพื้นที่ของเขาแล้ว เขาสามารถนำความรู้จากสิ่งที่เขาได้เรียน มาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสภาพจริง จนนำไปสู่การหาทางแก้ปัญหา การพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด การพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัย

การศึกษา

ก้าวต่อไปในระบบการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ดำเนินงานครบตามเป้าหมาย 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2562-2565 ถือว่าสิ้นสุดโครงการ “ดร.อดิศวร์” กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีเราสร้างโรงเรียนต้นแบบไปแล้ว 30 แห่ง มีครูเข้าร่วมโครงการ 161 คน เด็กนักเรียน 1,277 คน และมีการนำเสนอโครงงานนักเรียนถึง 195 โครงงาน จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้แค่ 150 โครงงาน

ตอนนี้ผลสำเร็จจากเพาะพันธุ์ปัญญาสู่น่านตลอด 10 ปีที่ดำเนินมากลายเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่กำลังจะถูกส่งต่อไปในเวทีที่ใหญ่มากขึ้น ตามความตั้งใจแต่แรกของเราเมื่อ 10 ปีก่อนคืออยากให้สิ่งนี้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา ไม่ใช่เป็นแค่การร่วมมือของเอกชนกับหน่วยงานเล็ก ๆ

ซึ่งจากนี้จะไม่มีการใช้ชื่อโครงการว่าน่านเพาะพันธุ์ปัญญาแล้ว เพราะกำลังจะถูกหยิบนำไปใช้ในแซนด์บอกซ์ ซึ่งหมายถึงการถูกนำไปทดลองใช้ในระบบการศึกษาจริง ๆ อาจเริ่มต้นในโรงเรียนบางแห่ง

ถ้าได้ผลลัพธ์ที่ดี จะถูกกระจายนำไปใช้ในวงกว้างขึ้น เป็นการตอกย้ำให้เห็นความตั้งใจของเรา แม้ว่ากสิกรจะเป็นผู้สนับสนุนที่เล็กน้อย แต่เชื่อว่าประโยชน์ที่ได้รับต่อไปจะมหาศาลอย่างมาก เพราะการศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ