“DTGO” องค์กรเพื่อสังคม สร้างความยั่งยืนจากต้นทุนบริษัท

“เราจะเป็นองค์กรสากลอมตะที่สร้างสังคมคนเก่งที่มีจิตใจดีงามให้ทำหน้าที่ดูแลคนหมู่มาก”

อันเป็นวิสัยทัศน์ที่แสดงถึงความชัดเจนของกลุ่มบริษัท ดีที (DT Group of Companies หรือ DTGO) ที่ดำเนินธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการตอบแทนสังคมมานับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งในปี 2536

“ดร.วิทย์ สุนทรนันท์” ผู้อำนวยการบริหาร สายงานแผนกลยุทธ์องค์กรเพื่อสังคม บริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และรองประธานมูลนิธิพุทธรักษา ขยายความหมายของวิสัยทัศน์ในเบื้องต้นให้ฟังว่า DTGO ไม่ใช่องค์กรที่เน้นเพียงการทำธุรกิจ แต่มีโครงสร้างการทำงานออกเป็น 3 ด้านด้วยกันคือ

หนึ่ง corporate culture development-การสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพราะวัฒนธรรมเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตในองค์กรที่จะส่งผลกระทบต่อภายนอก ซึ่งการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทอยู่ได้ยืนยาว และยั่งยืน

“นอกจากนั้น เรายังเน้นเรื่องการสร้างคน โดย DTGO เรียกพนักงานว่าสมาชิกองค์กร เนื่องจากคนเป็นหัวใจหลักในการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่องค์กรผ่านผลงาน พวกเขาจึงไม่ใช่แค่คนทำงาน แต่เป็นตัวแทนของบริษัท”

สอง social contribution-การทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งเน้นการช่วยเหลือคนหมู่มาก

สาม business-การทำธุรกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำภารกิจเพื่อสังคม ต้องใช้ทุนในการดูแลสมาชิกองค์กร เราจึงต้องมีธุรกิจมาเสริม โดยธุรกิจใน DTGO ประกอบด้วย การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การทำงานของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, การจัดซื้อ นำเข้า และส่งออก ซึ่งครอบคลุมทั้งระดับภูมิภาคและระดับสากล ที่ยึดหลักความปลอดภัย ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน โดยบริษัท ดี ซูพรีม จำกัด

การให้การปรึกษาด้านออกแบบ การจัดการ และการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในประเทศไทย และประเทศจีน โดย บริษัท ดีแพลนส์ จำกัด, ธุรกิจออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่ครบวงจรโดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน โดย บริษัท ดีไอ ดีไซนส์ จำกัด เป็นต้น

“บริษัทในกลุ่ม DTGO มีพันธกิจที่จะต้องแบ่งทุนปีละ 2% ให้กับ DTGO ใช้ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยไม่คำนึงว่าบริษัทจะมีกำไรหรือไม่ เพราะเรามองว่าการทำเพื่อสังคมเป็นกลยุทธ์ของกลุ่มบริษัท และเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง เหมือนกับการให้เงินเดือนพนักงาน หรือการจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคาร เป็นต้น ไม่ใช่ทำเฉพาะตอนที่บริษัทมีรายได้เท่านั้น”

“ดร.วิทย์” อธิบายต่อว่า ในสายงานแผนกลยุทธ์องค์กรเพื่อสังคม เราทำงานเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มบริษัท โดยใช้คำว่าอมตะมากำหนดระยะทางแผนงาน เราจึงสร้างแผน 40 ปีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องทำในปัจจุบัน และทิศทางในอนาคต จากนั้นจึงกำหนดเป็นเป้าหมาย

“5-6 ปีผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมากกับเรื่องของเทคโนโลยี ทำให้การเรียนรู้เปลี่ยนไปอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งผลกระทบกับการเพิ่มช่องว่างในสังคมมากขึ้นในอนาคต เราจึงเล็งเห็นว่ากลุ่มคนที่ขาดโอกาสในสังคมเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องเอื้อมมือเข้าไปช่วยเหลือ แต่นอกจากกลุ่มเป้าหมายแล้ว เรายังคำนึงถึงความยั่งยืนของคน สังคม และโลกด้วย”

ดังนั้น การทำงานเพื่อสังคมของ “DTGO” จึงแบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก คือ

หนึ่ง การศึกษา เพราะศักยภาพของคนมาจากการเรียนรู้ โดยเรามองการพัฒนาการศึกษาระดับสากล ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ เพราะประเทศไทยมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามา มีการเปิดเสรีทางการค้า ดังนั้น หากเราเลือกปฏิบัติเฉพาะเด็กไทย ก็ไม่ได้แปลว่าสังคมไทยจะดีขึ้น เพราะเด็กไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมที่มีเฉพาะคนชาติเดียวกันได้

นอกจากนั้น การพัฒนาการศึกษาของเรายังแบ่งย่อย ๆ ออกเป็น 3 ด้าน คือ 1.ทักษะการรู้ภาษา และการสื่อสาร (literacy) เพราะเป็นพื้นฐานอันดับแรกในการเรียนรู้ 2.ตรรกะ (numeracy) การมีตรรกะที่ดีสามารถช่วยให้คนเลือกในสิ่งที่ใช่ 3.ใฝ่เรียนรู้ต่อเนื่อง (lifelong learning)

สอง สุขภาพ เพราะการที่เราเข้าไปเติมเต็มโอกาสในชีวิตของคน บางครั้งไม่สร้างผลลัพธ์ได้ดีพอ หากเราไม่เริ่มตั้งแต่ต้นทาง เช่น การเลี้ยงดู และการสร้างพัฒนาการในวัยก่อนเข้าโรงเรียน เราจึงมุ่งสร้างเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อคนในพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศไทย ด้วยการพัฒนาระบบการกระจายยารักษาโรค เพื่อให้แน่ใจว่าคนในชุมชนจะได้รับยาอย่างทั่วถึง และได้รับการรักษาที่ทันสมัยระดับสากลโดยไม่มีขอบเขตเรื่องเชื้อชาติ

สาม สิ่งแวดล้อม เราพิจารณา และให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในทุกการกระทำของเรา ซึ่งเป็นพื้นฐานในการที่จะรักษาโลกให้สวยงาม และน่าอยู่สำหรับคนรุ่นหลัง

“ที่ผ่านมาทุนของ DTGO ถูกใช้เพื่อสนับสนุนองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ซึ่งได้มีการจัดทำโปรเจ็กต์ร่วมกับประเทศภูฏาน โดยใช้ชื่อว่า “Bhutan for Life” มากไปกว่านั้นเรายังช่วยพัฒนา และรักษาชีวิตสัตว์นํ้า โดยเริ่มจากทะเลในประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ เราเป็นสมาชิกของ United Nations Global Compact ด้วย ซึ่งเป้าหมายของสหประชาชาติเรื่องความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ สอดคล้องกับสิ่งที่เราตั้งใจทำมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว”

“ดร.วิทย์” กล่าวด้วยว่า การทำงานเพื่อสังคมของ DTGO เหมือนกับการทำบุญ เพราะเราไม่สนใจว่าสิ่งที่เราทำ ต้องมาช่วยส่งเสริมแบรนด์ของเรา ดังนั้น เราจึงทำภารกิจเพื่อสังคมผ่านมูลนิธิหลักที่เราก่อตั้งขึ้นมาได้แก่ มูลนิธิพุทธรักษา ในประเทศไทย และ DT Families Foundation (DTFF) ในประเทศฮ่องกง

“ทั้งสองมูลนิธิมีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ และสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสังคมให้มีความยั่งยืน เช่น เรื่องของการศึกษา โดยที่ผ่านมามูลนิธิพุทธรักษามีการให้ทุนการศึกษาแบบให้เปล่าโดยตรงแก่เด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า หรือเด็กมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเราส่งเสริมพวกเขาให้ได้การศึกษาถึงระดับสูงสุดเท่าที่พวกเขาจะเรียนได้ และเราไม่สนใจผลการเรียนด้วยซ้ำ แต่สิ่งสำคัญต้องเป็นคนดี ซึ่งที่ผ่านมาเราสามารถช่วยเหลือเด็กให้ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และเต็มไปด้วยความใฝ่ศึกษาเรียนรู้ได้มากกว่า 6,000 คนแล้ว”

ในการทำงานอีกด้านของมูลนิธิคือการสนับสนุนองค์กรที่มีความต้องการช่วยเหลือสังคม แต่ยังขาดความพร้อม เพราะหลายองค์กรการกุศลในไทยมีความสามารถด้านงานช่วยเหลือสังคม แต่มักมีข้อจำกัดเรื่องขีดความสามารถในการระดมทุน ซึ่งทุนเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังภารกิจต่าง ๆ เช่น ใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ

“ดังนั้น สิ่งที่เราทำคือไปช่วยเหลือในส่วนนั้น ซึ่งเป็นส่วนที่คนอื่นมองไม่เห็น ที่ผ่านมาเราช่วยไปแล้วกว่า 9 องค์กร และ 17 โรงเรียน ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าการทำเพื่อสังคมจะให้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ ต้องมาจากความร่วมมือช่วยเหลือกันจากหลายหน่วยงาน”

นับเป็นการผสมผสานธุรกิจ และความต้องการของสังคมเข้าไปในทุกอณูของการบริหารกลุ่มบริษัท และมุ่งมั่นทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังแบ่งเงินทุนในการทำธุรกิจมาช่วยเหลือสังคม โดยไม่มีข้อแม้ในด้านกำไร ทั้งยังใช้มูลนิธิเป็นหน่วยงานเข้าไปขับเคลื่อน และแก้ไขปัญหาการศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยไม่คำนึงถึงการสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ทางธุรกิจ

จึงนับเป็นกลยุทธ์เพื่อสังคมที่น่าสนใจอย่างยิ่งทีเดียว