SET ขับเคลื่อน ‘Care the Wild’ แปลงปลูกที่ 8  ของปีนี้ จับมือ ธ.กรุงศรีฯ ลงพื้นที่ป้องป่าชุมชน ‘บ้านพุตูม’ จ.เพชรบุรี 

‘ป่า’ คือแหล่งกำเนิดความหลากหลายทางธรรมชาติ ที่สร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้ทุกชีวิต ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ ล้วนพึ่งพาประโยชน์จากป่า มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมาอย่างยาวนาน 

สำหรับมนุษย์ ‘ป่าไม้’ เป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ทั้งยังช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม มีส่วนในการควบคุมสภาวะอากาศ ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมพายุและป้องกันอุทกภัย

  การพึ่งพากันมาอย่างยาวนาน บวกกับความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ ทำให้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดเริ่มร่อยหรอไปตามกาลเวลา เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การขยายตัวของเมืองและภาคธุรกิจ  ส่งผลให้พื้นที่ป่าลดลง สัตว์ป่าไร้ที่อยู่อาศัย เกิดภาวะโลกร้อน วิกฤตสุขภาพจากภาวะมลพิษ และภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น

เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ฟื้นคืนสมดุลให้กับระบบนิเวศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จึงขับเคลื่อนโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant&Protect” สานพลังภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ระดมทุนเพื่อการปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้ ให้เติบโตเป็นผืนป่าพร้อมทั้ง สนับสนุนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของไทย 

ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม เนื่องในโอกาสวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ (ทุกวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี) ที่ผ่านมา  SET จับมือพันธมิตร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมป่าไม้ และสมาชิกพนักงานจิตอาสา      ธ.กรุงศรี และในชุมชนบ้านพุตูม รวมกว่า 80  คน ลงพื้นที่ทำกิจกรรมบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ ณ ป่าชุมชนบ้านพุตูม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ในช่วงฤดูปลูกของปีนี้ (ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม) โดย ธ.กรุงศรีฯ ได้สนับสนุนการปลูกต้นไม้ต่อเนื่องในช่วง 2 ปี รวมจำนวนต้นไม้ที่ปลูก  4,000 ต้น  โดยมีกิจกรรมใส่ปุ๋ยต้นไม้จากขยะเศษอาหารที่ธ.กรุงศรี ดำเนินโครงการฯ เพื่อลดโลกร้อน   การสร้างฝายชะลอน้ำ พร้อมทั้งศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  เป็นกิจกรรมที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประทับใจ คุ้มค่าและสร้างความรัก  ความตระหนักในคุณค่าของการอนุรักษ์ต้นไม้ ผืนป่าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งนี้ ที่เป็นทั้งแหล่งอาหาร และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ท่ามกลางบรรยากาศสุดอบอุ่นผสานความร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน 

นงรัก งามวิทย์โรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม SET เผยว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ปัจจุบันโครงการได้เพิ่มผืนป่าไปแล้ว 10 แห่งใน 9 จังหวัด รวมเนื้อที่ปลูก 312.5 ไร่ หรือ 62,500 ต้น ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ 562,500 kgCO2e พร้อมทั้งขอบคุณธนาคารกรุงศรีฯ ในฐานะสถาบันการเงินแห่งแรกที่ร่วมเป็นพันธมิตรหลักตั้งแต่เริ่มโครงการ

“3 ปีนี้ทางธนาคารกรุงศรีฯ ได้เข้ามาร่วมกับโครงการ Care the Wild ในการปลูกป่า โดยปีแรกปลูกไปแล้วทั้งสิ้น 10 ไร่ ต้นไม้ 2,000 ต้น ที่ป่าชุมชนบ้านเขาหัวคน อ.เมือง จ.ราชบุรี เช่นเดียวกับที่ป่าชุมชนบ้านพุตูม จ.เพชรบุรี แห่งนี้ เมื่อปีที่แล้วทางธนาคารกรุงศรีฯ ก็ได้เข้ามาปลูกต้นไม้ 10 ไร่ จำนวน 2,000 ต้น และในปีนี้มีการปลูกเป็นแปลงที่ 2  อีก 10 ไร่ จำนวน  2,000 ต้น แต่ด้วยความที่เป็นการปลูกเสริมจึงขยายพื้นที่ปลูกครอบคลุมกว่า 30  ไร่ โดยมีพี่น้องชุมชนปลูกเสร็จเป็นที่เรียบร้อยและจะทำหน้าที่ดูแลให้ต้นไม้รอดตาย 100 % ตามเป้าหมายของโครงการฯ”

วีระศักดิ์ ศิริกุล ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารกรุงศรีฯ เผยถึงความรู้สึกที่ได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่า สนุกและอิ่มใจมาก มีพนักงานจิตอาสาของธนาคารกรุงศรีฯ เข้าร่วมเกือบ 50 คน ทุกคนมีความสุขที่ได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรม พร้อมเสริมว่า ธนาคารกรุงศรีฯ ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเป็นสายงาน ESG ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง

“เรามองว่า SET มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำโครงการที่เป็นประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงร่วมเป็นพันธมิตรให้การสนับสนุน ไม่เฉพาะพื้นที่ของบ้านพุตูม แต่รวมไปถึงพื้นที่บ้านเขาหัวคนที่ จ.ราชบุรี เมื่อปีก่อนด้วย”

ด้าน นันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยสำนักจัดการป่าชุมชน ผู้แทนกรมป่าไม้ ให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีป่าชุมชนลักษณะนี้อยู่ 12,017 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 6.6 ล้านไร่ ที่ประชาชนพยายามร่วมกันปลูกและดูแลรักษา แต่ด้วยศักยภาพและข้อจำกัดของชุมชน การทำงานอาจต้องได้รับการสนับสนุนในเรื่องบางอย่าง ประกอบกับข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐที่อยากเข้ามาสนับสนุน แต่พื้นที่ป่าชุมชนมีจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วประเทศ 

ดังนั้น การที่ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน จะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ช่วยให้ชุมชนสามารถเพิ่มศักยภาพในการปกป้องฟื้นฟูผืนป่า ให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ได้ในอนาคต

ความร่วมมืออันดีจากทุกฝ่ายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ผ่านคำบอกเล่าของ สัจจะ ทองนิล ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักษ์เขาแด่น และกลุ่มเยาวชนคนรักษ์ป่า ในนามตัวแทนชุมชน ที่เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนผืนป่านี้เป็นพื้นที่แห้งแล้ง แต่เมื่อได้ผู้ใหญ่ใจดีจากโครงการ Care the Wild เข้ามาทำกิจกรรมร่วมปลูกป่า ทำให้ป่าชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

“3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ผู้ใหญ่ใจดีเข้ามาร่วมฟื้นฟูดูแล ปลูกป่า ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน รู้สึกป่าเปลี่ยนแปลงเยอะ จากที่เมื่อก่อนเป็นป่าแห้งแล้ง ตอนนี้ชุ่มชื้น เพราะมีทั้งกิจกรรมการทำฝาย การปลูกเสริม และการบำรุง ปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนได้ร่วมดูแล มีส่วนร่วม เยาวชนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจ เพราะที่นี่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้”

โครงการ Care the Wild โดย SET เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะช่วยขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่ป่า ฟื้นคืนสมดุลให้กับระบบนิเวศ แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในการที่จะรักษาไว้ซึ่งผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นของทุกชีวิตในอนาคต