หญิงไทยทำงานนวดไนจีเรีย ขอกระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือกลับไทย

สุชาติ ชมกลิ่น
สุชาติ ชมกลิ่น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งกรมการจัดหางาน ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหญิงไทยไปทำงานนวดที่ไนจีเรียด้วยวีซ่าท่องเที่ยว

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีหญิงไทยทำงานนวดในเมืองลากอส สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย จำนวน 12 คน ขอความช่วยเหลือให้พาออกจากสถานที่ทำงานและเดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากนายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามสัญญา ถูกทำร้ายร่างกายและกักขัง กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งประสานไปยังกรมการกงสุลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งพาแรงงานไทยกลับประเทศ

เบื้องต้นสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา ประเทศไนจีเรีย ตรวจสอบพบว่าแรงงานยังมีสภาพความเป็นอยู่ปกติ ไม่มีการทำร้ายร่างกาย หรือกักขังหน่วงเหนี่ยว โดยสถานทูตจะดำเนินการให้แรงงานไทยที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศได้กลับสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัย

นายสุชาติกล่าวว่า ที่ผ่านมาพบคนไทยถูกหลอกลวงให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยวิธีผิดกฎหมาย และต้องตกเป็นเหยื่อทำให้เสียทรัพย์ ถูกทำร้ายร่างกาย บังคับใช้แรงงาน จนถึงบังคับค้าประเวณีจำนวนมาก เช่นเดียวกับแรงงานไทยกลุ่มนี้ ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ไม่ได้เดินทางไปตามที่ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2537 กำหนดไว้

ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลง และเป็นภัยต่อตนเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รู้สึกห่วงใยแรงงานไทยที่ยังคงมีพฤติการณ์ลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมายเพราะความเชื่อใจผู้ชักชวนหรือสาย นายหน้า จึงกำชับให้กรมการจัดหางานดำเนินการป้องกันทุกวิถีทางมิให้แรงงานไทยต้องตกเป็นเหยื่อ

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการลักลอบเดินทางไปทำงานต่างประเทศ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

โดยมอบหมายให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ ที่คนหางานนิยมเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ลงพื้นที่ให้ความรู้คนหางาน เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีความรู้ เท่าทันเล่ห์กลของสาย-นายหน้าเถื่อน ไม่ตกเป็นเหยื่อ สามารถช่วยสอดส่องผู้มีพฤติการณ์น่าสงสัยที่เข้ามาหลอกลวงคนในชุมชน และแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ได้

นายไพโรจน์เน้นย้ำว่า ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ระบุว่าผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ คนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ หรือประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดต่อได้ตามช่องทาง ดังนี้

1. ติดตาม ศึกษาข้อมูลการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas

2. ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th

3. ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd

4. ประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10

5. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694