มองจากมุม 4 องค์กร TQC-TQC Pus บริหารอันเป็นเลิศ

 

กว่า 16 ปีที่รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA) เป็นแนวทางในการยกระดับผลิตภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กรในประเทศไทย

ทั้งนี้เช่นเดียวกับทุก ๆ ปีที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ทำการประกาศรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ โดยล่าสุดของการประกาศรางวัลปี 2560 ไม่มีองค์กรใดได้รับรางวัล TQA แต่มีองค์กรได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus-TQC Plus : Operations) ทั้งสิ้น 2 หน่วยงาน คือ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะที่องค์กรที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class-TQC) มี 2 องค์กร คือ เขื่อนภูมิพล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ ธนาคารออมสิน

“ปิยะบุตร ชลวิจารณ์” ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากรายงานการวิจัยสมรรถนะขององค์กรที่มีการประยุกต์ใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2560 พบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 77 ขององค์กรที่ได้รับรางวัล TQA และ TQC มีจำนวนนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการเติบโตของจำนวนนวัตกรรมเฉลี่ยต่อปีเท่ากับร้อยละ 32.40 ทั้งยังพบว่าองค์กรเหล่านั้นล้วนตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร เห็นได้จากค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ต่อปี

“ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าองค์กรที่ได้รับรางวัลส่วนใหญ่ มีสมรรถนะในระดับสูงขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ ทั้งด้านผลิตภาพ ค่าจ้างแรงงานและมูลค่าเพิ่มต่อยอดขาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาผลิตภาพภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างศักยภาพให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันในอันดับที่ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก”

“ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์” ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ตั้งแต่ปี 2545 มีองค์กรที่ได้รับรางวัล TQA ทั้งหมด 4 องค์กร และองค์กรที่ได้รับรางวัล TQC มีทั้งสิ้น 87 องค์กร ส่วนในปีที่ผ่านมามีองค์กรสมัครขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จำนวน 27 องค์กร แบ่งเป็นภาคการผลิต 13 องค์กร คิดเป็นร้อยละ 47 ภาคการบริการ 6 องค์กร คิดเป็นร้อยละ 22 ภาคการศึกษา 4 องค์กร คิดเป็นร้อยละ 15 และภาคบริการสุขภาพ 2 องค์กร ซึ่งเท่ากันกับองค์กรในภาคส่วนอื่น ๆ โดยคิดสัดส่วนเท่ากันที่ร้อยละ 8

“รอบรางวัลปี 2560 มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการรับสมัคร โดยเป็นปีแรกที่ให้องค์กรลูก ซึ่งโดยปกติจะไม่มีสิทธิ์สมัครขอรับรางวัลในปีเดียวกันกับองค์กรแม่ ตลอดจนองค์กรที่เคยได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติมาแล้ว ภายในระยะเวลา 5 ปี สามารถสมัครเพื่อรับการประเมินและรับรายงานป้อนกลับได้ เพราะเราต้องการช่วยวัดจุดแข็งและจุดอ่อนที่องค์กรต้องปรับปรุง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปวางแผนพัฒนาและปรับปรุงองค์กรให้ดีขึ้น”

นอกจากนั้นยังเป็นปีแรกที่มีมติมอบรางวัล TQC Plus ด้านลูกค้า บุคลากร การปฏิบัติการ หรือนวัตกรรมที่ให้แก่องค์กรที่มีคะแนนรวม 450 คะแนนขึ้นไป โดยเมื่อก่อนจะมีเพียงรางวัล TQA สำหรับองค์กรที่มีคะแนนผลการตรวจประเมินสูงกว่า 650 คะแนน ส่วนองค์กรที่มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าวแต่สูงกว่า 350 คะแนน จะได้รับรางวัล TQC

“ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ของโลก ในปีหน้าเราจะเปลี่ยนแปลงเกณฑ์รางวัลโดยอ้างอิงจากรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (The Malcolm Baldrige National Quality Award – MBNQA)โดยมุ่งเน้น 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ และการจัดการความเสี่ยง”

“วิบูลย์ ชูชีพชื่นกมล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกุญแจความสำเร็จสู่รางวัล TQC Plus ด้าน Operations ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีแนวทางไปทางเดียวกัน

“ในอดีตเรากำหนดแนวทางไว้หลายข้อ จนพบว่ามากเกินไป ทำให้พนักงานจำไม่ได้ เราจึงทำใหม่ให้เหลือเพียง 4 ข้อคือ หนึ่ง กล้าคิด กล้าทำ สร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า สอง พัฒนาตนเอง ทำงานเป็นทีม สาม ใส่ใจลูกค้า และสี่ ทำงานเพื่อส่วนรวม

“หลังจากได้แนวทางปฏิบัติแล้ว เราจึงหากระบวนการปฏิบัติ จนได้กระบวนการดังนี้ การให้พนักงานเสนอความคิดเห็นในการทำงาน จากนั้นทางองค์กรจะทำการติดตาม และร่วมปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ช่วยให้พนักงานอยากทำ และรักในสิ่งที่ทำคือการให้รางวัล เราจึงมี GC Hero ทุกเดือน”

“ดร.วรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะผู้บริหารต้องมีความมุ่งมั่นถึงจะผลักดันองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ นอกจากนั้น องค์กรต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ซึ่งหน่วยงานของเรามีการพูดคุยกับองค์กรแม่ เพื่อนำเกณฑ์ของ TQA มาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ จนคณะผู้บริหารระดับสูงให้การสนับสนุน

“สำคัญไปกว่านั้นคือการบริหารความท้าทายให้ถูกวิธี เพราะการปรับเปลี่ยนใด ๆ ในองค์กรมักส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพนักงาน อาจทำให้พวกเขารู้สึกว่า เป็นการเพิ่มงาน ดังนั้นเราจึงบูรณาการเกณฑ์ให้เป็นสวนหนึ่งในการทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ”

“นอกจากนั้นต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันตลอด ทั้งในและนอกองค์กร เพราะถึงแม้เราจะได้รางวัล TQC Plus : Operations แต่เรายังมีช่องว่างที่จะต้องพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่กะทัดรัดและเก่งยิ่งขึ้นไป”

“สุชีพ มีถม” ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรานำเกณฑ์ TQA มาใช้ในการทำงานกว่า 10 ปี และเมื่อพร้อมเราจึงสมัครขอรับรางวัล โดยปีนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่เรายื่นสมัคร และที่ผ่านมาคะแนนของเราก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ

“ปัจจัยสำคัญที่สุดคือความร่วมมือร่วมใจของพนักงาน ที่ทำให้เรามีผลงานดีขึ้นเรื่อย ๆ มาโดยตลอด และต้องยอมรับว่าการสร้างความผูกพันที่ดีกับพนักงานช่วยให้การทำภารกิจต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ ถึงวันนี้เขื่อนภูมิพลมีอายุ 54 ปี เรามีบุคลากรที่เข้าสู่วัยเกษียณจำนวนมาก ดังนั้นหนึ่งในเป้าหมายของเราตอนนี้คือการบริหารจัดการการถ่ายทอดความรู้ในการซ่อมโรงไฟฟ้า และการเดินเครื่องให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ ซึ่งเราจะนำเกณฑ์ TQA เข้ามาประยุกต์ใช้”

“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อบริหารจัดการการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น โดยแบ่งกลุ่มการดูแลลูกค้าอย่างชัดเจน และใช้กระบวนการทำงาน PDCA ประกอบด้วย Plan การวางแผนชัดเจน, Do การปฏิบัติตามแผน, Check การตรวจสอบ และ Act การปรับปรุงการดำเนินการอย่างเหมาะสม

“สิ่งสำคัญคือผู้บริหารต้องทำการสื่อสารกับพนักงานอย่างมาก โดยออมสินมีช่องทางการสื่อสารหลายช่องทาง ทั้ง intranet, การพูดคุยโดยตรง จุลสาร และการเดินสายประชุม เพื่อสร้างความเข้าใจถึงสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง และเนื่องจากเรามีหน่วยงานสายงานยุทธศาสตร์ ที่ทำการวาง KPI ให้ทุกสายงานดำเนินงานตาม ทำให้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเราเป็นไปได้ง่าย”

“จากนั้นเราจะมุ่งเน้นสร้างแบรนด์ที่เหมาะกับลูกค้าทุกวัย รวมถึงลูกค้ากลุ่ม SMEs และนำเทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ เพราะเราพยายามจะเป็นธนาคารที่มีทั้ง financial innovation และ social innovation ไปในตัว”

นับว่าองค์กรที่ได้รับรางวัลเป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”