“แมนพาวเวอร์” จับตา 3 E แนะแรงงานมุ่งสู่ “Multiskill”

ท่ามกลางกระแสคลื่นของความเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานโลก ทั้งระบบดิจิทัลที่เริ่มเข้ามาทดแทนแรงงานคนในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกไปจนถึงธนาคาร ระบบหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาแทนแรงงานคนในอุตสาหกรรมการผลิต ไปจนถึงบริการ จึงทำให้องค์กร และคนทำงานต้องปรับตัวอย่างแข็งขัน เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดมากที่สุด

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย บริษัทผู้ให้บริการจัดหางาน ตั้งแต่ระดับแรงงานฝีมือ พนักงานทั่วไป ไปจนถึงระดับผู้บริหาร เปิดเผยแนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงาน แนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจ และทิศทางของตลาดแรงงานไทยเมื่อเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงานปรับตัวได้ทันท่วงที

“ไซมอน แมททิวส์” ผู้จัดการประจำประเทศไทย แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ทิศทางด้านแรงงานของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และถือว่ารวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือการเข้ามาของเทคโนโลยี การนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้แทนแรงงานคน ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการบางประเภท เช่น ธนาคาร และค้าปลีก

“บวกกับการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซี ล้วนต้องการแรงงานที่มีทักษะเกี่ยวข้องกับโรโบติกทั้งสิ้น โดยทางแมนพาวเวอร์ นอกจากจะสรรหาคนให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ยังมีแผนจะพัฒนาคนเพื่อรองรับความต้องการที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว

ทั้งนั้นเพราะกลุ่มโรโบติก และออโตเมชั่น เป็นทักษะที่ตลาดแรงงานมีความต้องการ ขณะที่ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรกลุ่มนี้”

“ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบโจทย์ทั้งแรงงานที่ต้องการพัฒนาทักษะ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย จึงมีการลงทุนเบื้องต้น 12 ล้านบาท เพื่อตั้ง Manpower Academy เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมให้แก่แรงงานในด้านดังกล่าว โดยจะเป็นการฝึกระยะยาว 6 เดือน ถึง 1 ปี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการภายในปีนี้”

อย่างไรก็ตาม “ไซมอน แมททิวส์” ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิใช่การก้าวสู่ยุคหุ่นยนต์แบบเบ็ดเสร็จเสียทีเดียว แต่ยังคงต้องใช้แรงงานคนเพื่อควบคุมเครื่องจักร แรงงานจึงต้องปรับตัว โดยการเพิ่มทักษะการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์เพื่อให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ หรืออีกแนวทางคือ ปรับตัวเป็นแรงงานที่มีทักษะหลาย ๆ อย่าง หรือ multiskill ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่แรงงาน และเพื่อรับเทรนด์ของสถานประกอบการที่ต้องการจ้างคนน้อย แต่สามารถทำงานได้หลายอย่าง

สำหรับการสร้างทักษะหลากหลายด้าน (multiskill) “สุทธิดา กาญจกันติกุล” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวเสริมว่า แม้สายงานจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่แนวโน้มของตลาดแรงงานในปีนี้จะมีกระบวนการที่เข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น แรงงานต้องมีทักษะที่หลากหลาย นอกเหนือจากความรู้ตามสายวิชาชีพ แต่ยังต้องมี soft skill เช่น ทักษะการสื่อสาร, ภาษา เป็นต้น

“นอกจากนี้ รูปแบบการจ้างงานจะหันไป outsource มากขึ้น เพราะจะได้แรงงานที่มีทักษะตรงตามความต้องการ ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของสวัสดิการ บวกกับการเติบโตของแรงงานระยะสั้น (gig worker) ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และกระจายอยู่ในทุกธุรกิจ สำหรับส่วนแรงงานที่เป็นที่ต้องการปี 2560 ผลการสำรวจพบว่า 10 อันดับสายงานที่ต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ 1.งานขาย และการตลาด 2.งานบัญชีและการเงิน 3.งานไอที 4.งานวิศวกร 5.งานบริการลูกค้า 6.งานการผลิต 7.งานธุรการ 8.งานขนส่งและโลจิสติกส์ 9.งานทรัพยากรบุคคล และ 10.งานระดับผู้บริหาร”

ขณะที่ 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน ได้แก่ 1.งานขาย และการตลาด 2.งานวิศวกร 3.งานธุรการ 4.งานขนส่งและโลจิสติกส์ 5.งานบริการลูกค้า 6.งานทรัพยากรบุคคล 7.งานบัญชีและการเงิน 8.งานไอที 9.งานการผลิต 10.งานด้านภาษาต่างประเทศ ดังจะเห็นได้ว่ากลุ่มอาชีพยังคงเป็นกลุ่มเดิม คืองานขาย และการตลาด ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพการเข้า-ออกของพนักงานในกลุ่มนี้ที่สูงมาก บวกกับสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่เติบโต ทำให้ต้องทำงานหนัก พนักงานกลุ่มนี้จึงมีการโยกย้ายไปยังบริษัทอื่น ๆ

“ในปี 2561 กลุ่มอาชีพที่มาแรงคาดว่าจะเป็นธุรกิจบริการ โดยเฉพาะขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งจะได้รับอานิสงส์มาจากการค้าขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ และการลงทุนผ่านโครงการของรัฐ โดยเฉพาะอีอีซี ซึ่งจะมีการลงทุนเกิดขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือกลุ่มธุรกิจบริการ และสันทนาการที่จะรองรับกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตามองปัจจัยจาก 3 E ให้ดี คือ 1. การเลือกตั้ง (election) 2.อีอีซี (EEC) และ 3.อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) โดยทั้ง 3 ปัจจัยจะมีผลต่อการลงทุน และจ้างงานอย่างแน่นอน” สุทธิดากล่าวทิ้งท้าย

“วรรณชัย ไพบูลย์บารมี” ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวเสริมว่า นอกจากแรงงานที่ต้องพัฒนาทักษะเพื่อให้ตรงกับความต้องการตลาดแรงงานแล้ว แมนพาวเวอร์บริษัท ผู้จัดหางานยังต้องเพิ่มหน้าที่ในส่วนของการเตรียมตัวพนักงานที่กำลังจะถูกปลด เพื่อแนะนำอาชีพ เพิ่มทักษะ เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง และตรงกับความต้องการมากขึ้น

“เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ผ่านมา แมนพาวเวอร์ต้องเข้าไปเตรียมตัวพนักงานก่อนถูกปลดเพิ่มขึ้น 200% โดยเฉพาะกลุ่มการเงินการธนาคาร กลุ่มค้าปลีก ซึ่งปีที่ผ่านมามีบางบริษัทที่มีการปลดลูกจ้างสูงสุดถึง 700 ราย และในปีนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงยังคงเป็นกลุ่มการเงินการธนาคาร กลุ่มงานค้าปลีก (retail) หรือบางกลุ่ม เช่น คอลเซ็นเตอร์ อาจมีการปรับรูปแบบการทำงาน จากคุยทางโทรศัพท์ เป็นการคุยผ่านระบบแชต หรือวิดีโอคอล ก็สามารถทำให้พวกเขากลับเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ได้ แต่บางกลุ่มอาจจะต้องเพิ่มทักษะใหม่เข้าไป เช่น เพิ่มทักษะด้านภาษา เพราะทำงานร่วมกับต่างชาติมากขึ้น เป็นต้น”

ดังนั้น ไม่เพียงสถานประกอบการ หรือแรงงานที่มีการปรับตัว “วรรณชัย” ยังชี้ให้เห็นว่า แม้แต่บริษัทจัดหางานเองก็มีการปรับตัวไม่แพ้กัน เพราะครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการปรับตัวเพื่อแข่งขันกับผู้อื่น แต่เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับตนเองในระยะยาว

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”