ลำพูนโมเดล แปรรูปขยะเป็นนกฮูกทำเงิน

คอลัมน์ Eco Tech

หลายคนที่ชื่นชมกับการจัดการขยะในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน หรือญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อว่าสะอาดมากกกกกก…เพราะมองไปทางไหนก็แทบไม่มีขยะให้เห็น ซึ่งความสะอาดของบ้านเมืองไม่ควรให้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แต่ควรจะเป็นเรื่อง “ธรรมดา”

แต่น่าแปลกที่คนส่วนใหญ่ รวมถึงเรา ๆ ผู้นิยมชมชอบความสะอาด กลับไม่มีบ้านเมืองสะอาดแบบนั้นไว้ชื่นชมเลย

แต่…อย่าเพิ่งเสียกำลังใจ เพราะชุมชนสีขาวนั้นมีอยู่จริง และอยู่ในประเทศไทยเสียด้วย ที่ไหน ? อย่างไร ?

เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง

จังหวัดนี้เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ทางภาคเหนือ

แต่มีความสำคัญทางด้านการท่องเที่ยว มีพระธาตุเป็นที่เคารพบูชา เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ทั้งยังเป็นพื้นที่ปลูกลำไยที่สำคัญ โดยปีที่ผ่านมาทางจังหวัดเพิ่งประกาศเจตนารมณ์เป็น “จังหวัดปลอดขยะเปียก” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จังหวัดที่พูดถึงคือ “ลำพูน” นั่นเอง

แท้ที่จริง “ลำพูน” ริเริ่มชุมชนปลอดขยะเปียกมาตั้งแต่ปี 2549 จนได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศ โครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste )รวมทั้งยังเข้ารับการตรวจประเมินเป็นจังหวัดดีเด่นด้านการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน จังหวัดสะอาดระดับประเทศ

หลักการ และวิธีคิดที่สำคัญคือการทำให้เรื่องการจัดการขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว ง่าย และเกิดประโยชน์กับคนทำ

โดยเริ่มแรกชาวบ้านจะใช้วิธีเคาะประตูบ้านขอความร่วมมือในการคัดแยกขยะ เพื่อให้ความรู้ว่าขยะบางประเภทขายได้ มีราคา ขยะบางประเภทจัดการได้ที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องส่งเทศบาลกำจัดทั้งหมด เช่น พวกขยะเปียก, เศษใบไม้ หรือแม้แต่พวกโฟม

ขยะเปียกส่วนใหญ่จะเป็นเศษอาหารที่เกิดจากชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในแง่ปริมาณเมื่อจัดการเฉพาะครัวเรือนตนจะน้อย แต่หากรวมกันทั้งหมู่บ้านจะเป็นปริมาณสูงมาก ฉะนั้น การจัดการแบบบ้านใครบ้านมันดีที่สุด วิธีก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน แค่นำถังพลาสติกเจาะก้น

พอให้มีรูน้ำเมื่อมีการหมักลงสู่ดิน จากนั้นเสียบท่อขึ้นมาเพื่อระบายก๊าซ ฝังไว้ในแปลงผัก หรือในสวนหลังบ้าน

เมื่อมีเศษอาหาร เศษผักที่เหลือกินก็นำมาเทใส่ถัง เอาใบไม้แห้งโรยทับเพื่อดับกลิ่น และไล่แมลงวัน ทำอย่างนี้ทุกวัน แล้วจะพบว่าพืชพันธุ์ในสวนจะงอกงามทันตาเห็น

นอกจากนี้ อาหารที่ย่อยจนกลายเป็นปุ๋ยในถัง จะเป็นสารอินทรีย์บำรุงดินชั้นดี ปลูกผักอะไรก็งาม ผักงามก็อยากจะปลูก มีผักสวนครัวกินประหยัดไปอีก

การกำจัดขยะอย่างถูกวิธีเหล่านี้จะช่วยปัญหาหมอกควัน ที่เกิดจากการเผาใบไม้ของเกษตรกร ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่าที่นี่เคยมีปัญหาฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานจากการเผากิ่ง เผาใบลำไย หลังการเก็บเกี่ยว แต่ปัญหานี้หมดไป เพราะเขามีเครื่องมือ สำหรับย่อยเศษใบไม้ในสวน ใบไม้ที่ย่อยก็มาหมักกับเศษอาหาร จนกลายเป็นปุ๋ยพืชผักต่อไป

อีกรูปแบบของการจัดการขยะที่น่าสนใจของลำพูนคือการนำเศษผ้ามาทำประโยชน์ ลำพูนโด่งดังมากเรื่องผ้า

ทั้งผ้าไหมยกดอกลำพูนราคาผืนละเป็นหมื่น ขณะเดียวกัน ที่นี่ยังเป็นแหล่งผลิตผ้าทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งไปขายยังพื้นที่อื่น ๆ

ดีไม่ดีเสื้อผ้าที่คุณไปซื้อจากเชียงใหม่, เชียงราย หรือตลาดในกรุงเทพฯ อาจมาจากที่นี่ก็ได้ เพราะแต่ละปีมีปริมาณเยอะมาก จนทำให้เศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บกลายเป็นขยะกองโต

ชาวบ้านจึงดัดแปลงแปรรูปขยะให้เป็นเงินเป็นทอง ด้วยการนำเศษผ้าเหล่านี้มาออกแบบสินค้าใหม่เป็นกระเป๋านกฮูก

ใช่แล้ว…กระเป๋านกฮูกที่ฮิตกันมากในช่วงหนึ่งนั่นไง

ทำไมต้องเป็นกระเป๋านกฮูก ?

คำตอบคือนกฮูกมีลวดลายของขนสวยงาม แถมยังสลับเหลื่อมสีจนมีความโดดเด่น ชาวบ้านมองเห็นตรงนี้ จึงนำมาเป็นไอเดียเพื่อนำเศษผ้ามาปักเป็นลวดลายจนเกิดความสวยงาม ซึ่งนกฮูกตัวหนึ่งอาจมาจากเศษผ้าของชุดอื่นเป็นสิบ ๆ ตัวก็ได้

ที่น่ารักกว่านั้นคือแรงงานที่ทำลวดลายขนนกฮูกเหล่านี้คือผู้สูงอายุในชุมชน ว่าง ๆ ก็แจกจ่ายเศษผ้า เย็บมาให้เป็นขน ส่งมาที่ร้านเย็บ จบได้เงิน รับงานใหม่ ไม่เหงา มีงาน ได้เงิน ดีจะตาย

จากข้อมูลของจังหวัดเปิดเผยว่า แต่ละปีลำพูนมีปริมาณขยะ 140,000 ตัน/ปี เป็นขยะเปียก 49,000 ตัน/ปี แต่ภายในปีนี้ ขยะเปียกจะกลายเป็นศูนย์ เพราะอาจจะถูกแปรรูปไปเป็นปุ๋ย, อาหารสัตว์ หรือเครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้านจนเกิดประโยชน์

ดังนั้น หากคนในพื้นที่เอาจริงเอาจัง มีโมเดลที่สามารถจับต้องได้ สร้างระบบตั้งแต่ในขั้นตอนการจัดการในครัวเรือน มีแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ในพื้นที่ มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำ การขยายพื้นที่จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

จนอาจกลายเป็นจังหวัดอีโค่อีกจังหวัดหนึ่งก็ได้…ใครจะไปรู้

 

หมายเหตุ : หากใครมีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สามารถส่งข้อมูลมาได้ที่ [email protected]