TCP แลเมืองแร่นอง จัดการขยะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

TCP

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำพาองค์กรไปสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน กลุ่มธุรกิจ TCP จึงดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ “TCP Sustainability” อันประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ integrity (ความซื่อสัตย์), quality (คุณภาพ) และ harmony (ความสามัคคี) ทั้งยังให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ มาสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อให้เกิดบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน

สำหรับล่าสุดจัดกิจกรรมชวนอาสาสมัครลงใต้ ร่วมทีม TCP Spirit “คณะเศษสร้าง แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ” ที่ จ.ระนอง พร้อมผนึกความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)

สราวุฒิ อยู่วิทยา
สราวุฒิ อยู่วิทยา

“สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า TCP Spirit เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยสร้างโมเดลการจัดเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ และจัดการขยะ ซึ่งเป็นโครงการยกระดับแนวปฏิบัติการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility-EPR) ที่ทำงานร่วมกับ IUCN ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม

โดยตั้งเป้าจัดเก็บขยะอย่างน้อย 730 ตัน รวมทั้งสร้างโมเดลต้นแบบการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ และการจัดการขยะแบบบูรณาการ เพื่อนำไปสู่การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มหลังการบริโภคของกลุ่มธุรกิจ TCP ภายในระยะเวลา 3 ปี

“บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เราจึงเน้นสร้างการมีส่วนร่วมกับพันธมิตร ชุมชน และอาสาสมัคร ผ่านกิจกรรมที่ให้ความรู้ ความเข้าใจการจัดการเศษขยะมาสร้างให้เกิดประโยชน์ใหม่ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน”

TCP Spirit “คณะเศษสร้าง แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ” ปีนี้ปักหมุดที่บ้านหาดทรายดำ จังหวัดระนอง ประตูสู่ภาคใต้บนความงดงามของชายฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเครือข่ายพัฒนาโครงการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการปัญหาขยะที่กลุ่มธุรกิจ TCP ทำงานร่วมกับ IUCN ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำนานาชนิด

ชาวบ้านในชุมชนจึงมีรายได้หลักจากการทำประมงพื้นบ้าน แต่ปัจจุบันมีปัญหาปริมาณขยะเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีข้อจำกัดในการจัดการขยะที่กำลังเริ่มสร้างผลกระทบต่อคนในพื้นที่มากขึ้น

นอกจากนี้ อาสาสมัคร TCP Spirit ยังลงพื้นที่ทำกิจกรรมการจัดการขยะที่โรงเรียนบ้านทุ่งหงาว จ.ระนอง และประดิษฐ์ถังขยะ “ฉลามวาฬ” เพื่อส่งมอบให้โรงเรียนบ้านทุ่งหงาว เพื่อใช้ในการคัดแยกขยะขวดพลาสติกต่อไป ซึ่งกิจกรรมตลอด 3 วัน อาสาสมัครได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ผ่านการพูดคุยกับผู้นำชุมชน ลงมือเก็บขยะร่วมกับชาวบ้าน เข้าใจเรื่องการจัดการขยะในมิติต่าง ๆ ทั้งยังเห็นมูลค่าของวัสดุรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้น และเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างเห็นถึงความสำคัญ จนเริ่มลงมือแยกขยะ

สุปราณี กำปงซัน
สุปราณี กำปงซัน

“สุปราณี กำปงซัน” หัวหน้าแผนงานประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กล่าวเสริมว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากขยะที่หลุดลอดมาจากการบริโภค และใช้สอยในครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนบกประมาณ 80% และกิจกรรมทางทะเล 20%

ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการป้องกันขยะจากครัวเรือนไม่ให้เล็ดลอดลงไปในทะเล เราจึงต้องเริ่มจากปลูกฝังองค์ความรู้เรื่องการคัดแยก และวิธีการจัดการตามประเภทให้กับคนในชุมชน

โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ให้ชุมชนบริหารจัดการขยะแต่ละประเภทด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการจัดการขยะเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องทำให้เป็นปกติ ไม่ได้เน้นย้ำว่าวัสดุรีไซเคิลต้องนำไปขายเพื่อรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยกันเพื่อลดการปนเปื้อน และปกป้องมลพิษจากขยะในพื้นที่ธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารและแหล่งรายได้อย่างยั่งยืนให้กับคนในชุมชน

“ความร่วมมือภายใต้โครงการ TCP Spirit วันนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญ เพื่อเก็บหลักฐานเชิงประจักษ์ และรู้ว่าปลายทางในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ที่มาจากการอุปโภคบริโภคของคนในชุมชนเป็นอย่างไร เกิดปัญหาอะไร มีช่องว่างในการเรียกเก็บกลับคืน และนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลตรงไหน ชุมชนขาดทรัพยากรอะไร นำข้อมูลที่ได้มาไปวิเคราะห์ และหาแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจในบทบาทของตนเองในการจัดการขยะทุกประเภทในชุมชน รวมถึงบรรจุภัณฑ์และร่วมรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่”

ไพบูลย์ สวาทนันท์
ไพบูลย์ สวาทนันท์

“ไพบูลย์ สวาทนันท์” แพทย์ประจำตำบลหงาว จ.ระนอง ผู้นำชุมชนบ้านหาดทรายดำกล่าวว่า ต้องการสร้างชุมชนบ้านหาดทรายดำให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ มาศึกษา ว่าจะจัดการขยะให้หมดภายในชุมชนได้อย่างไร โดยชุมชนทำได้เอง และไม่เป็นภาระส่วนกลางมารับขยะไปจัดการต่อ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าแรง ค่ารถขนขยะ ช่วยประหยัดงบประมาณได้ปีละ 2-3 ล้านบาท ที่สำคัญเราตั้งเป้าขยะเท่ากับศูนย์ใน 1 ปี

“ภารกิจของเราในปัจจุบันคือ การปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจกับชุมชน โดยชี้ให้เห็นว่าน้ำเสียและขยะจะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย สัตว์น้ำไม่มี จากที่เคยสร้างรายได้และอาชีพให้ชุมชนก็จะหมดในที่สุด ขยะจะกลายเป็นวัสดุรีไซเคิลไม่ได้เลย หากไม่มีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งผลที่ได้รับจากกิจกรรม TCP Spirit ครั้งนี้ สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (caring) ของกลุ่มธุรกิจ TCP เพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน”


นับว่าน่าสนใจทีเดียว