ม.ศรีปทุม ผนึก กทม. ปลดล็อกปัญหาทางเท้า ร่วมแก้ไขอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยคณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผนึกกำลังกับสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เดินหน้าโครงการ “เส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน” แก้ไขปัญหาทางเท้าและสะพานลอยจากบริบทเมืองที่เปลี่ยนแปลง

อาทิ ทางเท้าแคบ บันไดสะพานลอยขวาง โดยใช้พื้นที่บางบัว-สะพานใหม่ ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร เป็นต้นแบบการพัฒนา และทำการสำรวจร่วมกับภาคประชาชน เพื่อแก้ปัญหาให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อเนื่องตลอดเส้นทาง แต่ยังคงอัตลักษณ์ของชุมชนไว้

“อ.ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์” คณบดีคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยศรีปทุมให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบ และได้รับรู้ถึงปัญหาขาดความสะดวกสบายในการใช้ทางเท้าบริเวณบางบัว-สะพานใหม่ ซึ่งติดกับสถานีรถไฟฟ้า จึงมีผู้ใช้เส้นทางในการเดินทางจำนวนมาก ทั้งกลุ่มประชาชนวัยเรียน วัยทำงาน ผู้พิการ และผู้สูงอายุ

“ที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ถาวรและรวดเร็ว เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคหลายส่วนทั้งระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสาร รวมถึงสตรีตเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ดังนั้น การดำเนินการแก้ไขบนความร่วมมือเป็นทางออกสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้”

ด้วยเหตุนี้ คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสำรวจ วิจัย และออกแบบ จึงเป็นตัวเชื่อม กทม. มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ และประชาชนในพื้นที่มาร่วมสำรวจและวางแผนการแก้ไขทางเท้าให้เป็นมิตรต่อการเดินทางของทุกคน

บนแนวคิดแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด ใน 3 ลักษณะหลัก คือ 1.การออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางบนทางเท้า 2.ปรับบันไดสะพานลอยตั้งแต่ช่วงชานพัก และ 3.ขยายพื้นที่ทางเท้าด้านชิดอาคารริมทางสัญจร บนโรดแมปการแก้ไขที่เห็นชอบร่วมกันของทุกฝ่าย โดยมีเป้าหมายใช้เป็นโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาทางเท้าเฉพาะจุดให้ทุกคนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

(ซ้ายไปขวา) อ.ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์, กฤษณะ ละไล และประสิทธิ์ อินทโฉม

“อ.ธีรบูลย์” กล่าวด้วยว่า การนำเสนอโครงการเส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน ปรับปรุงพื้นที่ทางสัญจรริมถนน กรณีต้นแบบบางบัว-สะพานใหม่ เกิดจากการผนึกกำลังทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยความร่วมมือจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และประชาชนในพื้นที่ ในการทำการสำรวจปัญหาพื้นที่ทางสัญจรบางบัว-สะพานใหม่ และมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้ยื่นเสนอกับกรุงเทพมหานคร พร้อมรับความเห็นชอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาลักษณะปัญหาอื่น ๆ ตลอดเส้นทาง

หากสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ โครงการนี้นำร่องเป็นมาตรฐานโครงการต้นแบบ ให้เอกชนออกมาเชื่อมโยงประสานความร่วมมือหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขทางสัญจรในพื้นที่ของตังเอง ปลดล็อกการแก้ปัญหาทางเท้าทั้งระบบได้อย่างยั่งยืน และหวังว่าโครงการนี้จะการเป็นตัวจุดประกายให้พื้นที่อื่น ๆ ร่วมมือกันปรับทางเท้าบริเวณชุมชนของตนเองในทั้งในพื้นที่ กทม. และต่อยอดไปทั่วประเทศ

“โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาผลิตนักศึกษา สร้างบุคลากรคุณภาพสู่สังคมแล้ว อีกหนึ่งด้านที่ยังคงให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องคือ การพัฒนาชุมชนและสังคม โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ตามภารกิจของสหประชาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับหลัก ESG ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการองค์กรที่ดี”

“กฤษณะ ละไล” ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์ กล่าวเสริมว่า ด้วยรูปแบบผังเมืองปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ทางเท้าแคบลง มีสิ่งกีดขวาง พื้นขรุขระ ทำให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกับผู้พิการ ผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เดินทางไปไหนมาไหนด้วยตัวเองไม่สะดวกและขาดความปลอดภัย

ปัจจุบันพบปัญหาที่ผู้พิการและผู้สูงอายุในการสัญจรทางเท้า เช่น ผู้ใช้วีลแชร์สัญจรไม่ได้เพราะบันไดสะพานลอยกีดขวางทำให้ทางเท้าแคบลง สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ บนทางเท้า ถูกขยับขยายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เอื้อต่อผู้ใช้ทางเท้า ควรเชื่อมโยงทางสัญจรให้เชื่อมโยงใช้งานกันอย่างทั่วถึงไร้รอยต่อ ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ร่วมมือแก้ไขสภาพแวดล้อมที่พิการได้จะเป็นแก้ปัญหาทางสัญจรที่ยั่งยืน ทำให้ กทม.เป็นหนึ่งในเมืองหน้าอยู่บนหมุดแผนที่โลกได้สำเร็จ

การคำนึงถึงการออกแบบทางเท้าให้สามารถรองรับการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ตามหลักออกแบบอารยสถาปัตย์ (universal design) เพื่อให้ทุกคนได้มีสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้โดยไม่เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิต เช่น เรื่องของขนาดพื้นที่ใช้งาน วัสดุอุปกรณ์ ราวจับ ความลาดชัน รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ

“ประสิทธิ์ อินทโฉม” รองผู้อำนวยการ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้พัฒนาระบบคมนาคมทั้งรถเมล์ชานต่ำและรถไฟฟ้าที่พร้อมจะส่งคนพิการไปยังจุดหมาย รวมถึงได้เดินหน้าพัฒนาปรับปรุงทางเท้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนพิการเดินทางได้ด้วยตนเองตามกำลังความสามารถ ลดการพึ่งพาผู้อื่น

แต่การพัฒนาเมืองและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เอื้อต่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต การปรับปรุงเส้นทางการจราจร การตัดถนน อาจทำให้ทางเท้าซึ่งสร้างตามมาตรฐานไปกระทบการใช้งานของประชาชน การขยายความกว้างถนนทำให้ทางเท้าแคบลง บันไดสะพานลอยกลายเป็นสิ่งกีดขวาง ตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้า การติดตั้งเสาไฟ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ บนพื้นที่ทาง ทำให้การใช้งานทางเท้าเปลี่ยนแปลงไป