“แพนดอร่า” ยึดหลัก 3 P สร้างอัญมณีในหัวใจพนักงาน

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีพระราชบัญญัติส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งในด้านการส่งเสริมอาชีพ และคุ้มครองการมีงานทำของคนพิการ เพื่อให้คนพิการเหล่านี้มีโอกาสใช้ความสามารถ มีรายได้ พึ่งพาตนเอง ทั้งนั้นเพื่อเปลี่ยนสภาวะคนพิการจากภาระมาเป็นพลังสำคัญ ในการเสริมสร้างทางเศรษฐกิจของครอบครัว และประเทศต่อไป

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดวิธีการให้คนพิการมีการประกอบอาชีพ 3 กรณี คือ 1.รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 โดยมีอัตราทุกหนึ่งร้อยคนต่อคนพิการหนึ่งคน 2.ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 และ 3.ให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการตามมาตรา 35

เพียงแต่ที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดในเรื่องของเนื้องาน และสถานที่ซึ่งไม่เอื้อต่อการเข้าทำงานของผู้พิการ จึงทำให้หลาย ๆ สถานประกอบการใช้การส่งเงินเข้ากองทุนเป็นส่วนใหญ่ แต่กระนั้น ยังพอมีแบรนด์ใหญ่ ๆ อย่างบริษัท แพนดอร่าโพรดักชั่น จำกัด ผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณีชื่อดังสัญชาติเดนมาร์ก ที่มองเห็นศักยภาพของผู้พิการจนมีการจ้างงานผู้พิการสูงที่สุดในกลุ่มสถานประกอบการหลายแห่ง

“จำรูญ ทองอ่อน” รองประธานสายงานทรัพยากรบุคคล และพัฒนาองค์กร บริษัท แพนดอร่าโพรดักชั่น จำกัด กล่าวว่า แพนดอร่าเป็นแบรนด์ที่มีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลก สิ่งที่แบรนด์เน้นหนักนอกเหนือจากเรื่องของคุณภาพงาน ยังตระหนักเรื่องการเฟ้นหาผู้เข้าร่วมทำงานที่มีศักยภาพสูงมาโดยยอมรับในความหลากหลายทางด้านสัญชาติ วัฒนธรรม และเพศ อีกทั้งให้ความสำคัญกับการจ้างงาน และการปฏิบัติต่อพนักงานโดยเท่าเทียม รวมไปถึงนโยบายช่วยเหลือผู้พิการอีกด้วย

“ปัจจุบันแพนดอร่ามีพนักงานทั่วโลก 23,800 คน แบ่งเป็นช่างฝีมือเครื่องประดับอัญมณี 13,200 คน โดยส่วนนี้ปฏิบัติงานอยู่ที่ฐานการผลิตหลักในประเทศไทย ส่วนที่เหลือจะเป็นฝ่ายอื่น ๆ ที่กระจายอยู่ในสาขาต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลัก และแรงงานทักษะก็เป็นคนไทย จึงทำให้เห็นศักยภาพของคนไทยโดยเฉพาะเรื่องความประณีต ความเป็นช่างที่อยู่ในสายเลือด และความบกพร่องทางร่างกาย ก็มิได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานฝีมือ เพราะพวกเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถเป็นพนักงานของแพนดอร่าสูงถึง 112 คน”

“เดิมทีแพนดอร่าเน้นการให้พื้นที่ผู้พิการสำหรับจำหน่ายสินค้า ตามมาตรา 35 แต่พบว่าสามารถเข้าถึงผู้พิการได้น้อย จึงทำให้ในปี 2560 แพนดอร่าปรับมาใช้มาตรา 33 คือการจ้างงาน

ผู้พิการ ซึ่งมีจำนวน 112 คน แบ่งออกเป็นพนักงานโรงงานที่กรุงเทพมหานครจำนวน 79 คน และโรงงานที่จังหวัดลำพูนจำนวน 33 คน โดยกระจายอยู่ในแผนกติดต้น ติดก้าน จัดออร์เดอร์ และแผนกฝังพลอยในเทียน”

นอกจากเป็นการให้โอกาสผู้พิการ ทางแบรนด์แพนดอร่ายังได้รับการชื่นชมจากลูกค้า เนื่องจากสินค้าของบริษัทส่งออกไปทั่วโลก นอกเหนือจากคุณภาพสินค้า สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือแบรนด์ที่จะต้องดูแลสังคม บริษัทจึงใส่ใจว่าแพนดอร่าดูแลพนักงานดีไหม ดูแลสิ่งแวดล้อมไหม ใส่ใจสังคมหรือเปล่า ซึ่งแบรนด์สามารถตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ครบถ้วน

“จำรูญ” กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแต่ในแง่จำนวน สำหรับด้านการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน และสวัสดิการ แพนดอร่ามีความมั่นใจว่าไม่เป็นรองใคร เพราะวิธีสรรหาบุคลากรในปัจจุบันเราจะเน้นผู้พิการทางการได้ยิน แต่มีสายตาดี โดยเราจะประสานเรื่องนี้ผ่านมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ คุณสมบัติคือ มีความรอบคอบ ใส่ใจ เป็นคนดี มีทัศนคติดี

“พนักงานเหล่านี้จะต้องฝึกอบรม 3 เดือน จากนั้นจะดูตามทักษะ เพื่อจำแนกไปทำงานที่มีความยากง่ายแตกต่างกันไป ในโรงงานเราจะสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงาน เช่น มีล่ามภาษามือเป็นพนักงานประจำ จัดอบรมการสอนงานด้วยภาษามือเพื่อการสื่อสารเบื้องต้นแก่หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน มีตู้ล่ามให้กับพนักงานได้สื่อสารกัน อบรมซ้อมหนีไฟด้วยภาษามือ มีทางลาด และลิฟต์สำหรับผู้พิการ มีที่นั่งพิเศษให้ผู้พิการนั่งรถราง เป็นต้น”

“ที่สำคัญ พนักงานที่นี่มีวัฒนธรรมองค์กรคือ หลัก 3 P ได้แก่ pride ความเป็นทีม และความภาคภูมิใจในองค์กร, passion ความมุ่งมั่น ใส่ใจ และ performance ความมุ่งมั่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังนั้น อัตราการเข้า-ออกของพนักงานจึงต่ำมากอยู่ที่ 3% เมื่อเทียบกับที่อื่น ๆ ที่มีอัตรา 13-14%”

“ดังนั้น ความท้าทายของเราคือการพัฒนาทักษะ อย่างในกลุ่มที่ทำงานฝีมือ ต้องพัฒนาให้ทันกับดีไซน์ที่ออกมาใหม่ มีความซับซ้อนมากขึ้น พนักงานต้องมีความหลากหลายในทักษะ การพัฒนาตรงนี้ไม่มีวันหยุดนิ่ง โดยผ่านโรงเรียนสอนจิวเวลรี่ของแพนดอร่าเอง ที่ผลิตคนได้ปีละ 200 คน ส่วนกลุ่มสำนักงานคือเรื่องของการผูกใจพนักงาน การคัดเลือกพนักงานให้เข้ามาอยู่กับแพนดอร่า เนื่องจากกลุ่มนักออกแบบ นักวิจัย เป็นกลุ่มที่เป็นที่ต้องการของท้องตลาด ดังนั้น แนวทางของเราจะเน้นเรื่องสวัสดิการ มีโอกาสในการก้าวหน้า มีความมั่นคงในการทำงาน ทั้งยังได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ที่สำคัญ พวกเขาจะต้องมีความสุขกับการทำงานร่วมกัน”


ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เวลาพนักงานมีปัญหา จึงมีนักจิตวิทยาเข้ามาเป็นที่ปรึกษา โดยเขาอาจจะคุยทางโทรศัพท์ หรือมานั่งคุยก็ได้ และที่ผ่านมาบริษัทได้รับการตอบรับจากพนักงานดีมาก ปัจจุบันที่แพนดอร่ามีนักจิตวิทยา 2 คน แต่ต่อไปอาจเพิ่มอีก 2-3 คน เพราะเรื่องที่พวกเขาเข้ามาคุยส่วนใหญ่ มักเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว ความรัก และหนี้สิน ซึ่งทุกเรื่องล้วนใช้เวลาทั้งสิ้น และทุกเรื่องล้วนเป็นสิ่งสะท้อนจากแนวทางการบริหารจัดการบุคลากรของแพนดอร่าที่ต้องการมอบความมั่นคงทางจิตใจให้แก่พนักงาน เพราะหากจิตใจมีความมั่นคงแล้ว นั่นเท่ากับว่าอาชีพ และการทำงานก็จะมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน