40-hour Challenge ปั้นคนดีแทคสู่องค์กรดิจิทัล

ภายหลังจากการที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” วางเป้าหมายในการสร้างองค์กรให้เป็นผู้นำดิจิทัล ในปี 2020 ทำให้เกิดการปรับวัฒนธรรมองค์กร และพัฒนาพนักงานในทุกระดับให้ตอบสนองกับเป้าหมายขององค์กร

โดยล่าสุดดีแทคมีการเปิดตัวโปรแกรม “40-hour Challenge” ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล โดยเข้าร่วมคอร์สอบรมเกี่ยวกับดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์จำนวน 40 ชั่วโมง ที่เกิดจากความร่วมมือกับ Lynda.com Coursera และเทเลนอร์กรุ๊ป

“นาฎฤดี อาจหาญวงศ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” กล่าวว่า โปรแกรม 40-hour Challenge เป็นโปรแกรมที่ยิ่งใหญ่กว่าโปรแกรมที่ดีแทคเคยจัดมา ทั้งยังมีเป้าหมายให้พนักงานของดีแทคกว่า 4,000 คน ฝึกอบรมให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 โดยมีเป้าหมายอบรมโปรแกรมทั้งองค์กรรวมกว่า 100,000 ชั่วโมง

“โปรแกรม 40-hour Challenge จะสนับสนุนให้พนักงานของดีแทคทุกคนเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านดิจิทัลทั้งหมด ภายใต้กระบวนการทางความคิดที่ถูกต้อง และสามารถเลือกได้ตรงตามความต้องการของตัวเอง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ในการสร้างองค์กรให้เป็นผู้นำดิจิทัล ในปี 2020”

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์กว่า 50% ขององค์กรโดยทั่วไปจะมีช่องว่างเรื่อง digital skill 2 ด้านคือ ด้านที่เป็น hard skills เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (data privacy) และด้านที่เป็น soft skills เช่น การสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า (customer experience) การเข้าใจความรู้สึกของลูกค้า (customer centric) เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันทักษะที่เป็น soft skills ถือว่ามีความสำคัญกว่า hard skills

“แต่การจะทำให้ดีแทคเป็นผู้นำดิจิทัล ในปี 2020 เราต้องสร้างปัจจัยที่ทำให้เกิดการดึงดูพนักงานยุคดิจิทัล 6 ประการ ประกอบด้วยการจัดสถานที่ที่สนับสนุนให้พนักงานได้ทำงานจริง ๆ (focused on accomplishments), การเปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ได้ใช้ skills set ชุดเดิม ๆ (continuous learning), การสร้างสวัสดิการในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แต่การการเทรนนิ่งเท่านั้น แต่ต้องมีคะแนน หรือมีรูปแบบโบนัสใหม่ ๆ ที่สามารถใช้ได้จริง (non-traditional benefits)

“การสร้างคุณค่าให้องค์กร เป็นบริษัทที่คนอยากทำงานด้วย โดยเน้น soft skills and hard skills, การเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานเกี่ยวข้องกับ project ที่นอกเหนือจากงานประจำ (project-based work) และการให้พนักงานสามารถย้ายทำงานข้ามแผนกได้ (cross-functional collaboration)”

หลังจากมีการทำ Digital Transformation 2020 จนมีการปรับรูปแบบขององค์กร และพัฒนาพนักงานให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ จนทำให้ปี 2560 ผ่านมา ดีแทคเป็นองค์กรอันดับที่ 5 ที่พนักงานไทยอยากร่วมงานมากที่สุด จากผลการสำรวจของบริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งขึ้นมาจากอันดับ 9 ในปี 2559

“นาฎฤดี” กล่าวเพิ่มเติมว่า โปรแกรมการอบรมของดีแทคถือเป็นเพียงแค่ 1 ในกลยุทธ์ในด้านการบริการทรัพยากรบุคคลเท่านั้น แต่กลยุทธ์ด้านเอชอาร์ที่จะต้องทำให้เกิดเป็นองค์รวมนั้นประกอบด้วย

หนึ่ง โครงสร้างองค์กร (organization)ที่ต้องมีการปรับรูปแบบโครงสร้างให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ลดขั้นตอน และลำดับชั้น เพื่อให้มีการตัดสินใจได้รวดเร็วมากขึ้น และเปิดโอกาสให้เกิดการโอนย้ายกับทำงานระหว่างหน่วยธุรกิจภายใต้เทเลนอร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและการเรียนรู้การทำงานในระดับสากล

สอง วัฒนธรรมองค์กร (culture) ที่ไม่ใช่เพียงการดึงดูดคนดิจิทัลเข้ามาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรักษาบุคลากรเหล่านี้ไว้ โดยผ่านวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งดีแทคเน้นการสร้างผลงานเป็นสำคัญ (project-driven culture) มากกว่าการทำงานแบบกิจวัตร จนทำให้งานประสบความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างรวดเร็ว

สาม ทักษะและความคิด (skill & capability) โดยการส่งเสริมให้มีทักษะที่เหมาะสมกับการทำงานยุคดิจิทัล ทั้ง hard skills และทักษะเชิงอารมณ์ soft skills

สี่ เส้นทางพนักงานดิจิทัล (digital journey) ซึ่งเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ดิจิทัลแก่พนักงาน สร้างค่านิยมและความคิดต่อการขับเคลื่อนสู่ดิจิทัล โดยกระตุ้นให้พนักงานทำเรื่องดำเนินการต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล รวมถึงโปรแกรมหลักสูตรออนไลน์ เพื่อให้พนักงานเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านแพลตฟอร์ม dtac academy

“อย่างโปรแกรม 40-hour Challenge ที่เป็นคอร์สอบรมออนไลน์ 24 ชั่วโมง พนักงานแต่ละคนจะสามารถเลือกให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง และนำมาประยุกต์ให้กับการทำงานจริง ซึ่งมีทั้งทักษะ digital marketing, digi-tal channels, applied analytics, design และ product development”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้โปรแกรม 40-hour Challenge เปลี่ยนรูปแบบการเทรนนิ่ง ไม่มีการฟิกซ์เวลา โดยคอร์สส่วนใหญ่จะใส่เข้าไปในแพลตฟอร์ม เพื่อให้พวกเขาเลือกคอร์สเองได้ จะเรียนตอนไหน เรียนแบบไหนก็ได้ จะใช้เวลาเรียนนานแค่ไหน ก็ได้ เรียนได้ 24 ชม. 7 วัน ทั้งยังมีโปรแกรม career by me ที่แนะนำเส้นทางความก้าวหน้าในสายงาน และรวมถึงการค้นหาคอร์สที่ต้องการจากที่ไหนก็ได้ด้วย

“นาฎฤดี” กล่าวอีกว่า สำหรับแอปพลิเคชั่นที่พนักงานของดีแทคสามารถเข้าไปเรียนจะประกอบด้วย Telenor Campus, dtac academy, PLEARN ซึ่งจะเป็น on stop shop ที่มีแพลตฟอร์มในการเรียน ฝึกอบรม และไม่ใช่การเรียนรู้ที่เคร่งเครียด แต่จะเน้นฟีเจอร์ที่ช่วยให้พนักงานเรียนรู้อย่างสนุกสนาน

“โดยมีทั้งการเรียนรู้แบบที่เป็นเกมเหมือนฟาร์มวิว ซึ่งจะได้ทั้งความรู้ ความสนุกสนาน และยังได้พอยต์คะแนน สามารถนำมาใช้ได้จริง หรือดีแทคพอยต์ ซึ่งเป็นการคิดแบบ agile เพื่อใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟได้ด้วย จนทำให้อีโคซิสเต็มในการเรียนรู้ มีความสนุกสนาน”

“นอกจากนี้ยังมี My Learning App ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Lynda.com Coursera และเทเลนอร์ ซึ่งจะมีคอร์สมากมายให้พนักงานเลือกเรียน ทั้งจาก London Business School โดยสามารถเรียนแบบเฟซทูเฟซ หรือแบบออนไลน์ก็ได้”

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการวัดผลจากการบันทึกในการเข้าไปใช้งานแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งโปรแกรม 40-hour Challenge ถือเป็นโปรแกรม on top แต่ในขณะที่การฝึกอบรมอื่น ๆ ยังมีเหมือนเดิม มีโปรแกรมที่ เป็น local ด้วย

“ตรงนี้เราคิดไป ทำไป แก้ไป เพื่อให้ตอบสนองกับเป้าหมายการสร้างองค์กรให้เป็นผู้นำดิจิทัล ในปี 2020 ของดีแทคต่อไป”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว