สร้างคนสไตล์ “อิมแพ็คฯ“ ดึงคนรุ่นใหม่มีทักษะสู่ธุรกิจไมซ์

ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล
ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล

ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอด 3 ปีผ่านมา ทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวรอบด้าน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่ง “อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น” ในฐานะผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องในทุกมิติเช่นกัน รวมถึงประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรบุคลากรที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย

โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE : meetings, incentive travel, conventions, exhibitions) ที่มีความท้าทายมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เนื่องจากต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทั้งยังเป็นงานที่อาศัยทักษะหลายด้าน

“ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ของอิมแพ็คฯดูแลเรื่องคนของบริษัทในเครือบางกอกแลนด์ทั้งหมด ในส่วนทิศทางของฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กรบริษัทกำลังมองเรื่องการทรานส์ฟอร์ม

เพราะผลจากการเกิดโควิด-19 กระทบพฤติกรรม และความต้องการของคนทำงาน พวกเขาต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น บริษัทจึงต้องมีรูปแบบการจ้างหลายแนวทาง เช่น การจ้างประจำ การจ้างงานแบบ project based และการจ้างแบบพาร์ตไทม์

โครงการกล้า MICE

นอกจากนั้น เงื่อนไขการทำงาน สภาพแวดล้อมการทำงาน กระทั่งคนร่วมงาน ก็ต้องปรับให้สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่สนใจเข้ามาทำงานร่วมกัน เราจึงเปลี่ยนแปลง HR ให้เป็น HR teach เพื่อมุ่งสู่ดิจิทัลมากขึ้น และกำลังจะปรับเปลี่ยนแบรนด์ให้ดูทันสมัยมากขึ้นด้วย ตอนนี้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของหลาย ๆ องค์กรกำลังเผชิญปัญหาเดียวกันคือหาคนยากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็มีความท้าทายในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจไมซ์ เพราะงานสายไมซ์เป็นงานที่ท้าทาย และเด็กรุ่นใหม่หลายคนไม่ได้สนใจในธุรกิจไมซ์มากนัก

“เพราะบางวันถ้ามีอีเวนต์อาจมีการทำงานล่วงเวลา และรับมือกับผู้คนมากมาย ที่สำคัญ เด็กรุ่นใหม่หลายคนอยากทำธุรกิจที่เป็นนายของตัวเอง อยากเป็น gig workers ไม่อยากเข้ามาอยู่ในแวดวงของงานประจำ นอกจากนั้น สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยมีการเปิดสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องของธุรกิจไมซ์โดยตรงเพียงไม่กี่แห่ง

อิมแพ็คฯในฐานะศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมไมซ์กว่า 20 ปี ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่เกิดขึ้นนี้ จึงมีการจับมือกับหลายสถาบันการศึกษา และโปรโมตธุรกิจไมซ์ให้ไปสู่นักศึกษา ทำให้พวกเขาเห็นภาพว่า งานไมซ์เป็นอย่างไร”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้อิมแพ็คฯทำโครงการกล้า MICE ขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อให้นักศึกษาปูพื้นฐานเตรียมความพร้อมก่อนทำงานจริง ทั้งยังได้รู้จักอิมแพ็คฯและธุรกิจ MICE ผ่านเวิร์กช็อปสนุก ๆ สอนโดยพี่ ๆ ชาวอิมแพ็คฯทดลองใช้ชีวิตแบบวัยทำงาน เปิดโลกและสร้างแรงบันดาลใจในการค้นหาตัวเองว่าชอบงานแบบไหน รวมถึงการร่วมทำโปรเจ็กต์ใหญ่กับเพื่อน ๆ เพื่อใช้ความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนรู้มา

โครงการกล้า MICE

ที่สำคัญ โครงการกล้า MICE ยังสอดรับกับทิศทางของอิมแพ็คฯที่ต้องการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development goals : SDGs) ในด้านสังคม

โดยเฉพาะส่งเสริมให้คนมีอาชีพ เพราะนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสที่จะร่วมทำงานจริงกับอิมแพ็คฯ แต่ไม่ใช่ข้อผูกมัด ทุกคนสามารถร่วมงานกับองค์กรอื่น ๆ ได้ เพราะเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง และส่งเสริมบุคลากรให้แก่อุตสาหกรรมไมซ์ไทย รวมถึงการวางแผนระยะยาวเพื่อไปสู่การทำ MICE academy ในอนาคต

“โครงการกล้า MICE คือส่วนหนึ่งของการทำแบรนดิ้งในแง่ของ employer branding เพราะไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักอุตสาหกรรมไมซ์ แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าอิมแพ็คฯทำอะไรบ้าง ส่วนใหญ่รู้จักแค่พื้นที่จัดคอนเสิร์ต เราจึงคิดว่าทำให้เด็กเข้าถึงอิมแพ็คฯมากขึ้น เราจึงลงไปทำแบรนดิ้งกับเด็กตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย เมื่อเด็กจบแล้วก็จะรู้จักอิมแพ็คฯแล้วอยากมาทำงานกับเรา”

“ทมิตา” กล่าวด้วยว่า คนที่เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมไมซ์ไม่จำเป็นต้องจบ หรือมีประสบการณ์เฉพาะด้านไมซ์มาก่อน แต่สามารถมาเรียนรู้ และทำงานในธุรกิจนี้ได้ ซึ่งตอนนี้อิมแพ็คฯเปิดกว้างในการที่รับสมัครงานใหม่ ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมไมซ์

“โดยทักษะที่เรามองหา ไม่ได้จำกัดว่าต้องมีทักษะใดทักษะหนึ่ง ควรมีทักษะหลากหลาย (multi skills) ไม่ใช่ 1 คน ทำงาน 1 งาน แต่ 1 คนต้องทำได้หลายงาน หรือต้องทำงานช่วยเพื่อนร่วมงาน หรือทำงานร่วมกับหลายฝ่ายได้ สำหรับการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ทางบริษัทเร่งเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ แก่พนักงาน ปัจจุบันมีกว่า 2,000 คน

และพยายามปลูกฝังแนวคิดด้านนวัตกรรม (innovative mindset) ให้พนักงานผ่านโครงการประกวดนวัตกรรม R2i (from routine to innovation) ที่ส่งเสริมการคิดนอกกรอบ การคิดแก้ปัญหาจากแนวทางใหม่ ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรแสดงศักยภาพของตนเอง สร้างความมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาองค์กร โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 4 และมีหลายผลงานที่ได้รับคัดเลือกไปพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงในเชิงธุรกิจด้วย”

นอกจากนั้น บริษัทยังให้ความสำคัญในการสร้างโอกาสการเติบโตให้พนักงานภายในองค์กร โดยมีโอกาสปรับเปลี่ยนงานภายในบริษัท และบริษัทในเครือ รวมทั้งให้พนักงานสามารถทำงานพาร์ตไทม์ในบริษัทเพื่อเพิ่มรายได้ มีการปรับเปลี่ยนแผนสวัสดิการพนักงาน ด้วยการเน้น wellness program เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงาน (employee experience)

นอกจากนี้ ยังเปิดกว้างในเรื่อง diversity and inclusion (D&I) คือแนวคิดการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร ทั้งด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม พื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ความบกพร่องทางร่างกาย เพศสภาพ และประสบการณ์ เป็นต้น

โครงการกล้า MICE

“ทมิตา” อธิบายว่า อิมแพ็คฯต้องการทำองค์กรให้เป็น happy work place คนทำงานแล้วมีความสุข เจอเพื่อนที่ดี หัวหน้าที่ดี สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี ส่วนเรื่อง work life balance พยายามบอกหัวหน้าฝ่ายอยู่แล้วว่าเราไม่ต้องการให้พนักงานทำงานเกินเวลา ทุกคนต้องหยุดพัก ทั้งยังพยายามสร้าง และปลูกฝังเรื่องพาร์ตเนอร์ชิป

โดยมีโปรแกรมพิเศษ เช่น โปรเจ็กต์ The Good คนทำดีต้องได้รับการชื่นชม เราไม่อยากให้แค่หัวหน้าชื่นชม แต่อยากให้เพื่อนร่วมงานชื่นชมกันด้วย อยากจับถูก ไม่อยากจับผิด เป็นโครงการที่เพื่อนสามารถแชร์เพื่อนพนักงานชื่นชมกันมากขึ้น

“อุตสาหกรรมไมซ์เข้าสู่ยุคใหม่ และอิมแพ็คฯยอมรับว่าคนกลายเป็นความท้าทายหลัก ที่เทคโนโลยีไม่ช่วยตอบโจทย์ได้ทั้งหมดเหมือนธุรกิจอื่น เราจึงต้องเตรียมพร้อมทุกมิติ เน้นการสร้างแนวคิดนวัตกรรม เร่งเติมทักษะให้บุคลากร พร้อมดึงคนรุ่นใหม่เข้าร่วมงาน เพื่อรองรับธุรกิจฟื้นตัว พร้อม ๆ กับการสร้างการเติบโตให้แก่องค์กร”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว