สปส.เผยผู้ประกันตนเพิ่ม เหตุรู้สิทธิ์-ศก.ดีช่วยหนุน คาดสิ้นปี”61 ยอดผู้ประกันตนอาจถึง 15 ล้านคน

ประกันสังคม เผยตัวเลขสถานประกอบการ และผู้ประกันตน พบแนวโน้มเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านเลขาธิการ สปส. แจงสาเหตุจากเศรษฐกิจเติบโต และผู้ประกันตนเข้าใจสิทธิในระบบประกันสังคมมากขึ้น ณ เดือนมกราคม 2561 มีผู้ประกันตนเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้ว 14,647,101 คน คาดสิ้นปี 2561 ยอดผู้ประกันตนอาจแตะถึง 15 ล้านคน

 

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงตัวเลข จำนวนสถานประกอบการและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นว่า สาเหตุมาจากสภาวะ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้จำนวนสถานประกอบการและผู้ประกันตนเข้าสู่ระบบประกันสังคม มากยิ่งขึ้น โดยตัวเลขจำนวนสถานประกอบการในปี 60 ที่ผ่านมามีจำนวน 444,868 แห่ง ผู้ประกันตนมีจำนวน 14,647,101 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2559 พบว่ามีจำนวนสถานประกอบการ และผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.20 และร้อยละ 4.31 ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าในปี 2561 จะมีจำนวนสถานประกอบการ และผู้ประกันตนเข้าสู่ระบบประกันสังคมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจแตะถึง 15 ล้านคน

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำนักงานประกันสังคมได้ติดตามสถานการณ์ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อดำเนินการวางนโยบายพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้อง กับสภาพเศรษฐกิจ อันจะทำให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุดจากสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาช่องทางการชำระเงินสมทบของนายจ้าง ผู้ประกันตน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) เข้ามาสนับสนุนการทำงานให้บริการรับ – จ่ายเงิน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบ และลดความเสี่ยง ป้องกันการทุจริตหรือเกิดความผิดพลาดในการรับ – จ่ายเงิน

สอดรับกับนโยบายกระทรวงแรงงาน โดย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญ ในการดูแลทุกข์สุขของผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนทั้ง 7 กรณี เพื่อสร้างหลักประกันทางสังคม ที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ให้สามารถคุ้มครองแรงงานได้อย่างทั่วถึง สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งของแรงงาน และขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักธรรมาภิบาล เพื่อร่วมกันสร้างและวางรากฐานสังคมไทยให้เกิดความอยู่ดีมีสุข โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และตอบสนองวิสัยทัศน์ประเทศไทย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ต่อไป