ผู้นำแบบไหน ที่องค์กรต้องการ

คอลัมน์ ถามมา-ตอบไปสไตล์คอนซัลต์

โดย อภิวุฒิ พิลมลแสงสุริยา สลิงชอท กรุ๊ป

เคยสงสัยไหม วัน ๆ CEO ทำอะไร ? บ่อยครั้งที่ได้ยินพนักงานในองค์กรต่าง ๆ พูดให้ฟังเสมอว่า แทบไม่มีโอกาสได้เจอหน้านายใหญ่เลย ยกเว้นในห้องประชุม หรือตามงานเลี้ยงต่าง ๆ เท่านั้น แม้ไม่ได้อยากเจอมากนัก แต่สงสัยว่า CEO ทำอะไร ? ทำไมดูยุ่งซะเหลือเกิน ?

คำถามนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะพนักงานเพียงอย่างเดียว นักวิจัยกลุ่มหนึ่งก็เกิดความสงสัยใคร่รู้เช่นกัน พวกเขาอยากรู้ว่า “กิจกรรมที่ CEO ทำในแต่ละวัน มีความเกี่ยวโยงกับความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กร มากน้อยเพียงใด”

จึงทำการเก็บข้อมูล CEO จำนวน 1,000 คน จาก 6 ประเทศ โดยดูว่าในแต่ละสัปดาห์ CEO ทำอะไรบ้าง ? เกี่ยวข้องกับใคร ? และกิจกรรมเหล่านั้นมีการวางแผนมาล่วงหน้าหรือไม่ ?

จากนั้นจึงมาเชื่อมโยงข้อมูลที่ได้กับผลการดำเนินงานของกิจการ

สิ่งที่พบในเบื้องต้น คือ โดยทั่วไป CEO ที่ลงรายละเอียดในการบริหารจัดการ มักมีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยกว่าผู้นำที่มองภาพใหญ่แล้วปล่อยให้ทีมงานจัดการในภาพย่อยเอง พวกเขาแบ่งลักษณะการทำงานของ CEO ออกเป็น 2 ประเภท คือ CEO แบบนักบริหาร (manager) และ CEO แบบผู้นำ (leader)

จากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ CEO ทำ พบว่า CEO แบบนักบริหาร มักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเยี่ยมสาขา หรือโรงงาน มีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานที่ทำงานอยู่ตามห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ต่าง ๆ และพบปะกับลูกค้ารวมทั้งคู่ค้าอยู่เสมอ

ในทางกลับกัน CEO แบบผู้นำ มุ่งเน้นกิจกรรมไปที่การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริหารด้วยกัน พบปะ ประชุมกับหลากหลายหน่วยงานภายในองค์กร บางครั้งอาจขยายการพูดคุยไปถึงบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องด้วย เท่าที่จำเป็น โดยเน้นการสื่อสารที่ได้เห็นหน้าเห็นตากัน ไม่ว่าจะเป็นแบบเจอตัวเป็น ๆ หรือผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ตาม

จากข้อมูลที่ได้ พบว่า CEO แบบผู้นำใช้เวลาประมาณ 1/4 ของวัน อยู่คนเดียวเพื่อตอบอีเมล์ เซ็นเอกสาร หรือจัดการกับงานต่าง ๆ อีก 10% ของเวลาหมดไปกับเรื่องส่วนตัว 8% ใช้สำหรับการเดินทาง ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 56% อยู่กับคนอื่น ซึ่งส่วนมากเป็นกิจกรรมที่มีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า โดย 1/3 ของเวลาดังกล่าว ใช้ไปกับการพูดคุยแบบตัวต่อตัว ส่วนที่เหลือเป็นการคุยกันแบบกลุ่ม

สำหรับเวลาที่ใช้ไปในการพบปะผู้อื่นนั้น สามารถแบ่งออกได้ดังนี้ 35% อยู่กับฝ่ายผลิต 22% อยู่กับฝ่ายขายและการตลาด 17% อยู่กับฝ่ายการเงิน อีก 10% เป็นการพบปะเยี่ยมเยียนลูกค้า และ 7% ใช้ไปกับการพูดคุยกับคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ ส่วนที่เหลือใช้ไปกับหน่วยงานอื่น ๆ และผู้คนที่นัดหมายมาพบเจอ

คำถามที่น่าสนใจ คือ CEO แบบไหนเหมาะที่สุดสำหรับองค์กร ?

เมื่อนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายรวมถึงสถานที่ตั้งของสำนักงาน ขนาดขององค์กร ประเภทของธุรกิจที่ทำ ฯลฯ พบว่า CEO ที่มีกิจกรรมโน้มเอียงไปทางการเป็นผู้นำ มีโอกาสช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ เกิดประสิทธิผลและสามารถทำกำไรได้มากกว่า CEO แบบนักบริหาร

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยเพิ่มเติมพบว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่ CEO แบบผู้นำทำ ส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรเพียงแค่ 20% ส่วนที่เหลืออีก 80% เป็นผลมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ประเภทของธุรกิจ สถานที่ตั้งของกิจการ ประสิทธิภาพของเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือรวมถึงอุปกรณ์การทำงานต่าง ๆ เป็นต้น

ด้วยข้อมูลนี้ จึงนำไปสู่ความสงสัยต่อไปว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ CEO แบบผู้นำ ประสบความสำเร็จมากกว่า เป็นเพราะบังเอิญทำงานในองค์กรที่มีแนวโน้มจะสำเร็จอยู่แล้ว ?

นักวิจัยจึงวิเคราะห์เจาะลึก โดยทำการเปรียบเทียบข้อมูลขององค์กรก่อนที่ CEO แบบผู้นำ จะเริ่มต้นทำงานและหลังจากที่ได้ทำงานไปแล้วสักระยะหนึ่ง พวกเขาพบว่า CEO เหล่านี้สามารถสร้างประสิทธิผลให้กับองค์กรได้มากกว่า CEO แบบผู้บริหารจริง โดยผลลัพธ์ดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนหลังจากทำงานในตำแหน่งเกินกว่า 3 ปีขึ้นไป ซึ่งแปลว่าแม้กิจกรรมที่ทำจะมีผลต่อความสำเร็จเพียงแค่ 20% แต่การทำงานหนักของ CEO ช่วยปรับเปลี่ยนองค์กรให้ดีขึ้นได้ !

ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า CEOแบบผู้นำ ดีที่สุดสำหรับทุกองค์กรใช่ไหม ?

จากข้อมูลข้างต้น อาจทำให้เข้าใจได้เช่นนั้นว่า CEO ที่ดี คือ CEO แบบผู้นำ ที่บริหารงานแบบเน้นภาพใหญ่ ไม่ลงรายละเอียดมากนัก แต่ในความจริง ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป

ข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ไม่มีสูตรสำเร็จของลักษณะ CEO ที่เหมาะกับทุกสถานการณ์ ใช้ได้ดีกับทุกองค์กร

CEO ผู้นำเหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูง และต้องการทักษะที่เฉพาะเจาะจงในการทำงาน ในขณะที่ CEO แบบผู้บริหาร เหมาะกับองค์กรที่มีขนาดเล็ก และมีความซับซ้อนน้อยกว่า ที่สำคัญ ยังพบว่า CEO แบบผู้บริหาร สามารถนำพาความสำเร็จมาให้องค์กรได้เช่นกัน

ทั้งนั้นเพื่อสนับสนุนข้อมูลข้างต้น นักวิจัยจึงทำการศึกษาองค์กรที่ต้องใช้แรงงานทักษะต่ำ (low or unskilled labor) กับ CEO ทั้ง 2 ลักษณะ พบว่า CEO แบบผู้บริหาร ไปกันได้ด้วยดีกับองค์กรลักษณะนี้ สามารถช่วยทำให้ผลประกอบการออกมาสวยงามกว่า CEO แบบผู้นำ

ดังนั้นในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นไปได้ว่า ความสำเร็จ หรือล้มเหลว อาจเป็นผลมาจากการเลือก CEO ที่ไม่เหมาะกับลักษณะขององค์กร ก็เป็นได้ เพราะบางองค์กรต้องการผู้บริหารที่ลงรายละเอียด ในขณะที่บางแห่งต้องการผู้บริหารที่มองภาพใหญ่ และสามารถสื่อสารให้พนักงานระดับล่าง ๆ เข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้

แต่ความเชื่อมโยงเช่นนี้ มีน้อยคนนักที่จะตระหนักถึง โดยมากแล้วองค์กรมักมองหา CEO จากประสบการณ์ และความสำเร็จของตัวบุคคล แต่ไม่ได้มองว่า องค์กรของตนต้องการ CEO แบบไหน และลักษณะของ CEO คนนั้น ๆ ที่กำลังจะเลือกขึ้นมา เหมาะสมกับองค์กรหรือไม่

ถึงแม้งานวิจัยจะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดลักษณะของ CEO ซึ่งถูกกำหนดโดยกิจกรรม และเวลาที่ใช้ไป จึงมีความสัมพันธ์กับการขับเคลื่อนองค์กรที่มีลักษณะแตกต่างกัน แต่บทเรียนสำคัญที่ได้จากเรื่องนี้ คือ การจับคู่ระหว่างลักษณะของผู้นำกับลักษณะขององค์กร มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จหรือล้มเหลว แน่นอน !

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”