CSV “เงินติดล้อ” ความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อ

อาจเป็นเพราะบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ทุกประเภท สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และนายหน้าประกันวินาศภัย ภายใต้แบรนด์เงินติดล้อ โดยมีสาขากว่า 400 สาขา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 74 จังหวัด

โดยมีกลุ่มลูกค้าหลัก คือ รากหญ้า หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร เป็นต้น

กลุ่มคนเหล่านี้มักมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งยังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการเงินภายในครอบครัวของตัวเอง จึงทำให้เกิดหนี้สินจากหนี้นอกระบบเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ในฐานะที่ “เงินติดล้อ” ดำเนินธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ จึงคิดทำโครงการเพื่อสังคม ในลักษณะของ creating shared value (CSV) หรือการสร้างคุณค่าทางธุรกิจให้กับสังคม ด้วยการสร้างโอกาสทางความรู้อย่างยั่งยืนให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในชุมชนต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม

แม้กระทั่งกลุ่มพนักงานติดล้อ ที่ต้องการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงินด้วย

จนที่สุด จึงเกิดโครงการ “นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้” โดยโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อสร้างโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมกับกิจกรรม ด้วยการเปิดรับอาสาสมัคร “เงินติดล้อ เราอาสา” เพื่อให้พนักงานมีโอกาสร่วมทำประโยชน์ให้กับสังคม ทั้งยังเป็นการสร้างความเข้าใจ และสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งมอบโอกาสทางการเงินที่เป็นธรรม และโปร่งใสให้กับผู้คนในสังคมอย่างยั่งยืน

สำหรับครั้งนี้ โครงการ “นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้” ลงพื้นที่บริเวณชุมชนคลองกำกับ (หลวงพ่อขาว) อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

“ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาเรื่องปากท้องยังถือเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน โดยเฉพาะคนรากหญ้า หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ อาจเพราะพวกเขาไม่มีหลักฐานทางการเงินที่ชัดเจน ไม่มีเครดิต พวกเขาจึงหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ จนทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องตามมา

“ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล

“เงินติดล้อจึงสร้างโอกาสในการให้ความรู้ทางการเงินสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการการเงินขั้นพื้นฐาน จัดการหนี้ครัวเรือน และวิธีบริหารรายรับรายจ่าย รวมถึงความรู้อื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”

นอกจากนั้น “ปิยะศักดิ์” ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงขั้นตอนสำคัญในการดำเนินโครงการ “นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้” ที่จะต้องมี 6 เรื่องประกอบกัน คือ

หนึ่ง research place-การหาพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย โดยเปิดโอกาสให้พนักงานทุกสาขาทั่วประเทศ เป็นผู้นำเสนอชุมชนที่ต้องการความรู้ด้านการเงิน และประสานงานกับผู้นำชุมชนนั้น ๆ

สอง plan for activities-การวางแผนจัดกิจกรรมเป็นขั้นตอน การประสานงานกับผู้นำชุมชนอย่างเป็นทางการ การกำหนดวันสำรวจชุมชน และกำหนดวันจัดกิจกรรมร่วมกัน

สาม communicate with volunteers-ขั้นตอนการเปิดรับอาสาสมัคร การรวบรวมรายชื่ออาสาสมัคร การนัดประชุมเพื่อกำหนดหน้าที่ของแต่ละฝ่าย และกำหนดงบประมาณจัดกิจกรรม

สี่ conduct survey-ทีมงาน และอาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชุมชนนั้น ๆ ผ่านแบบสำรวจที่ครอบคลุมพฤติกรรม และความสนใจด้านการเงิน เพื่อนำผลมาวิเคราะห์ วางแผนหลักสูตรการฝึกอบรมให้ตรงกับความต้องการ

ห้า activities-ทีมงานจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ด้านการเงินด้วยเนื้อหาที่เหมาะสม หลังจากนั้นสรุปผลกิจกรรม เพื่อนำมาปรับปรุง พัฒนากิจกรรมให้มีประสิทธิภาพ

หก follow up results-หลังจากจบกิจกรรม ทีมงานติดต่อผู้เข้ารับการอบรม เพื่อติดตามผลการอบรม และประโยชน์ที่ได้รับ

“โครงการนำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้ ดำเนินไปแล้ว 16 ครั้ง มีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วกว่า 585 คน และมีพนักงานอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 247 คน และโครงการดังกล่าวจะยังคงเดินหน้าต่อเนื่องตลอดไป”

รัชนี สุริยันต์

ถึงตรงนี้ เมื่อสอบถาม “รัชนี สุริยันต์” ประธานชุมชนคลองกำกับ (หลวงพ่อขาว) เธอบอกว่า โครงการนี้ดีมาก เพราะชุมชนของเราประกอบอาชีพเกษตรกร และค้าขายเป็นหลัก ซึ่งเมื่อก่อนชาวบ้านในชุมชนมีหนี้สินมากมาย เพราะไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการการเงิน

“แต่พอโครงการนำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้ เข้ามา ปรากฏว่าชาวบ้านได้รับความรู้อย่างมาก ทั้งยังนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ดิฉันคิดว่าโครงการนี้น่าจะช่วยเหลือชาวบ้านได้จริง และอยากให้มาบ่อย ๆ พวกเขาจะได้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”


คงจะจริง เพราะเท่าที่ดูจากการทำกิจกรรมวันนั้น ทุกคนต่างสัมผัสได้จริง ๆ ว่า พวกเขาน่าจะนำความรู้ทางการเงินอย่างง่าย ๆ ไปช่วยเหลือครอบครัวได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด