“MQDC” ระดมกูรูยั่งยืน วางมาสเตอร์แพลนชีวิตให้สมดุล

โทบี้ บลันท์ - บิล โคน
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) องค์กรที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนและนวัตกรรมทางความคิด เพื่อสร้างแนวคิดใหม่ของการใช้ชีวิตทั้งในวันนี้และในอนาคต ทั้งยังเป็นองค์กรที่บริหารจัดการความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงทำให้ช่วงผ่านมามีการจัดงานสัมมนาประจำปีในหัวข้อ “Annual International Well-being and Sustainability Forum Bangkok 2018”

ด้วยการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบ การดูแลสุขภาพ ผู้สูงอายุ และความยั่งยืนระดับนานาชาติ มาเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ว่าจะเป็น “โทบี้ บลันท์” รองประธานอาวุโส บริษัทฟอสเตอร์ พลัส พาร์ทเนอร์ บริษัทด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่มีชื่อเสียงจากประเทศอังกฤษ

“บิล โคน” ผู้ก่อตั้งและประธาน บริษัท ไอเทค เอ็นเตอร์เทนเมนท์ บริษัทสัญชาติอเมริกัน ผู้นำด้านออกแบบประสบการณ์ลูกค้าในสวนสนุกทั่วโลก “รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต” หัวหน้าที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ดร.วิลเลี่ยม อี.ไรช์แมน” ประธานกรรมการและซีอีโอ บริษัทเบย์เครสต์ ศูนย์วิจัยและดูแลผู้สูงอายุชั้นนำของโลกจากประเทศแคนาดา และ “ศ.ดร.จอห์น ดี. สแปงเลอร์” ศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและการอยู่อาศัยของมนุษย์ ประจำวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที.เอช. ชาน สถาบันสุขภาพแห่งสหรัฐ

โดยงานสัมมนาดังกล่าวมีการพูดถึงข้อมูลเชิงลึกทั้งด้านความรู้และแนวทางการจัดการประเด็นต่าง ๆ อาทิ ประชากรผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงาน คุณภาพชีวิต และชีวิตที่ยั่งยืนของคนเมือง

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต – ดร.วิลเลี่ยม อี.ไรช์แมน

มาสเตอร์แพลนความยั่งยืน

“โทบี้ บลันท์” กล่าวว่า สถาปัตยกรรมเป็นปัจจัยใหญ่ที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัยในอนาคต เพราะเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง เช่น การคมนาคม พลังงาน จำนวนประชากร ดังนั้นการสร้างมาสเตอร์แพลนถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเมืองที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายของคนนอกเมืองเข้าสู่ในเมืองมากขึ้น ทำให้เกิดความแออัด หากเราไม่นำสถาปัตยกรรมที่มีนวัตกรรมเหมาะสมมาออกแบบที่พักอาศัย จะทำให้ที่อยู่อาศัยของคนหมู่มากเป็นชุมชนแออัด

“เช่นเดียวกัน หากเราไม่บริหารจัดการพลังงานที่ดี จะส่งผลให้พลังงานหมด ยกตัวอย่างการลดความต้องการของการใช้รถยนต์ของเมืองอาบูดาบี ที่ทำได้สำเร็จถึงแม้เป็นเมืองที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศแบบทะเลทราย แต่ด้วยการออกแบบผังเมืองที่เหมาะสม ทำให้คนในเมืองสามารถออกมาเดินเล่นตามถนนหนทางได้อย่างสดใส ไม่จำเป็นต้องเดินทางด้วยรถส่วนตัว เพราะเรามีโลกเพียงใบเดียว ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีแพลนที่จะทำให้ทรัพยากรของโลกอยู่กับเราไปได้นาน ๆ”

สวนสนุกสร้างคุณค่า

ขณะที่ “บิล โคน” มองว่า ธุรกิจความบันเทิงไม่ใช่เพียงแต่ช่วยสร้างความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาขึ้นบนโลกใบนี้ เพราะความบันเทิงสามารถสร้างประสบการณ์ ทั้งสุข เศร้า และความขำขัน

“ความบันเทิงจึงเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างคุณค่ามากขึ้นให้กับที่อยู่อาศัยได้ เป็นแรงบันดาลใจต่อการเกิด Interaction Technology เช่น การสร้างสวนสนุกในสนามบิน ห้างสรรพสินค้า หรือในเขตที่อยู่อาศัย สวนสนุกจึงเป็นความบันเทิงที่สร้างความสุข ความประทับใจ และความทรงจำให้กับลูกค้าในสถานที่นั้น ๆ นึกถึงและอยากกลับมาใช้บริการอีก”

ผสมผสานความสมดุล

สำหรับ “รศ.ดร.สิงห์” มองว่า การสร้างความยั่งยืนคือการเปลี่ยนจากเรื่องที่เป็นกระแสมาเป็นความเข้าใจและสร้างพฤติกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแข็งแรง เพราะความยั่งยืนที่แท้จริงคือการละทิ้งแนวทางมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (human centric) ตัวอย่างเช่น การสร้างที่อยู่อาศัยไม่ควรคิดถึงแต่ความต้องการของคน แต่ต้องคำนึงถึงเจ้าของพื้นที่เดิมด้วย นั่นคือ ธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ หรือแม้แต่แมลงต่าง ๆ

“ทั้งนี้ การสร้างความยั่งยืนต้องเริ่มจากตัวเรา ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างใจและความคิด ในการคิดถึงสิ่งที่คนเราต้องการในชีวิตจริง ๆ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการรักษาเมือง และลดความฟุ่มเฟือยในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะหากเรามุ่งเน้นแต่จะสร้างอาคารสถานที่โดยไม่คำนึงถึงการจัดการของเสีย การจัดการระบบเพื่อนบ้านรอบ ๆ ก็คงยากที่จะเกิดความยั่งยืน”

“รศ.ดร.สิงห์” ยังยกตัวอย่างเมืองสำคัญ ๆ บนโลกที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการสร้างความยั่งยืนว่า เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจ แต่กลับไม่มุ่งเน้นสร้างความเติบโตด้านเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะลอนดอนพยายามทำให้เมืองมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50% และทำสำเร็จในปี 2015 ในขณะที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็น 3 คนต่อตารางเมตร ทั้ง ๆ ที่มาตรฐานที่ควรเป็นคือ 9 คนต่อตารางเมตร

“อีกตัวอย่างคือกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีการเซ็นข้อตกลงว่าด้วยการดูสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังในปี 2015 หรือกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เปลี่ยนหลอดไฟในเมืองเป็นแบบประหยัดไฟเกือบทั่วทั้งเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลก”

ผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง

“ดร.วิลเลี่ยม อี.ไรช์แมน” ผู้นำด้านการดูแลรักษาผู้สูงอายุระดับนานาชาติระบุถึงความสำคัญของสังคมผู้สูงวัยว่า โรคอัลไซเมอร์กำลังเป็นภัยร้ายอันดับ 1 แทนที่โรคมะเร็งและโรคหัวใจ โดยเกือบทุกประเทศบนโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่การรับมือของหลาย ๆ ประเทศกับปัญหาดังกล่าวกลับไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะใช้วิธีสร้างสิ่งต่าง ๆ เพื่อคิดแทนผู้สูงอายุ แต่ไม่ได้ใช้ผู้สูงอายุเป็ศูนย์กลาง

“ผมจึงมองว่าวิธีที่ถูกต้องคือ เราควรจัดโปรแกรมที่ส่งเสริมการออมก่อนถึงวัยเกษียณ สร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยที่มีกำลังซื้อ รวมถึงการสร้างการเข้าถึงบริการด้านการเงินให้กับผู้สูงวัย รวมไปถึงการเข้าถึงคมนาคม และการส่งเสริมความสัมพันธ์ของครอบครัว นอกจากนั้นควรให้สิทธิผู้สูงอายุควบคุมสภาพแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง เช่น การสร้างบ้านพักคนชราควรออกแบบให้เป็นที่ที่ผู้สูงอายุกำหนดการตกแต่งและกิจกรรมต่าง ๆ ในแบบที่พวกเขาชอบ”

“ศ.ดร.จอห์น ดี.สแปงเลอร์”

3 Capitals ต้องเข้มแข็ง

“ศ.ดร.จอห์น ดี.สแปงเลอร์” ร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนว่า ภัยคุกคามบนโลกเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่อย่างไรก็ตามเรายังสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ เช่น เดอะฟอเรสเทียส์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชานเมืองของกรุงเทพฯ ถือว่าเป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่ริเริ่มในการให้ความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างคนและธรรมชาติอย่างแท้จริง

“เมืองที่ดีต้องมีความเข้มแข็ง 3 ส่วน ด้วยกันคือ Nature Capital, Human Capital และ Social Capital เพราะเป็นปัจจัยชี้วัดความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างป่าในเมือง เพราะผลจากการวิจัยระบุว่า จำนวนผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีเขียวมีอายุยืนกว่าผู้หญิงที่อยู่ในป่าคอนกรีต 12%”

นับเป็นงานสัมมนาที่บูรณาการองค์ความรู้ที่ช่วยส่งเสริมความเข้าใจความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบโจทย์กับประเด็นสำคัญ ๆ ของโลกเพื่อมุ่งเน้นสู่ความยั่งยืนอย่างครบถ้วนจริง ๆ