กสิกรไทย-สวทช.-สกว. หนุน SMEs ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร อัดสกิลเสริมก้าวสู่ผู้นำส่งออกไทย

กสิกรไทย จับมือสวทช. และสกว. หนุนหลัง SMEs ไทยด้านผลิตภัณฑ์อาหาร ใช้นวัตกรรมสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มช่องทางด้านจัดจำหน่ายของสินค้า พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านกลไกของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ทางโครงการเปิดโอกาสเพียง 50 SMEs เข้าร่วม และมีรางวัลจำนวน 100,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่โดดเด่น 5 รางวัล

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญสามารถผลิตส่งขายได้ทั่วโลก เป็นอันดับ 3 ของเอเชียด้านการส่งออกโดยในปี 2560 ธุรกิจผลิตอาหารมีมูลค่า 619,201 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2561 จะมีมูลค่า 653,267 ล้านบาท เติบโต 4.50-6.50% ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มที่น้อยและไม่ยั่งยืน ธนาคารกสิกรไทยจึงร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีความแข็งแกร่งในตลาดและส่งออกสู่ตลาดโลก โดยให้สองหน่วยงานลงไปช่วยเหลือลูกค้าและช่วยกันผลักดันให้พัฒนาสินค้าด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมได้จริงหลังจบโครงการ สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นของลูกค้าและต่อยอดของผลิตภัณฑ์ให้มียอดขายที่ยังยืน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโรงการ 200 ราย จะคัดเลือกเหลือเพียง 50 ราย แล้วยังมีรางวัลผู้ประกอบการที่โดดเด่น แข็งแกร่ง 100,000 บาท 5 รางวัล เพื่อนสนับสนุนพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม

ด้าน ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. มีพันธกิจหลักในด้านการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและสังคม และมีภารกิจหนึ่งในการถ่ายทอดและบริหารจัดการเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความพร้อมทางด้านบุคลากรในการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ในอนาคตต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะมีกลุ่มต่างๆด้านอาหารเข้ามา อาหารด้านสุขภาพ อาหารเกี่ยวกับของฝาก ซึ่งเมืองไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ดังนั้นผู้ประกอบการต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกลุ่ม เช่นแพคเกจจิ้ง ดีไซน์ ต้องปรับตัวตลอด ถ้าเราไม่ปรับตัวแต่ในขณะรายอื่นปรับสินค้าเราจะไม่มีตลาด ทาง สวทช. จึงนำเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มผลิตภาพ คุณภาพ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านกลไกของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ที่มีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในส่วน ITEP ได้ช่วยเหลือแล้ว 7,000 โครงการ มีโครงการที่โดดเด่นถึง 1,500 โครงการ คาดหวังว่า ผู้ประกอบการคงได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ และเป็นต้นแบบ SMEs ในอนาคต

ต่อมา รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แนะ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีแนวโน้มการทำวิจัยพัฒนาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ภาคเอกชนผู้ประกอบการ ต้องพยายามแปรรูป เพิ่มนวัตกรรมเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ที่ผ่านมาผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจในเรื่องของงานวิจัย คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆแล้วงานวิจัยเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก บางทีเรามีเทคโนโลยีอยู่แล้วแต่ไม่ได้นำเทคโนโลยีที่เรามีไปใช้เพราะเกิดการไม่เข้าใจ หวังว่าโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกิดการขายได้จริงในเชิงพาณิชย์ อันก่อให้เกิดรายได้เพิ่มกับผู้ประกอบการ