
อาจเป็นเพราะมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ หรือสแกมเมอร์ (scammer) มีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดหลายปีผ่านมา และไม่เฉพาะแต่ต่างประเทศเท่านั้น หากประเทศไทยเอง มิจฉาชีพในโลกออนไลน์กำลังคุกคามเข้ามาหาทุก ๆ คน รวมถึงคนในครอบครัวของเราทุกคนด้วย
ไม่เท่านั้น หลายคนยังตกเป็นเหยื่อให้กับมิจฉาชีพเหล่านี้จนสูญเสียเงินไปหลายแสน หลายล้านบาท
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
ผลเช่นนี้จ๊อบส์ ดีบี (JobsDB) ประเทศไทย จึงอยากจะโฟกัสให้คำแนะนำ “ผู้หางาน” ตั้งการ์ด พร้อมกับตั้งสติเพื่อรับมือ และรู้เท่าทันความแตกต่างระหว่างมิจฉาชีพออนไลน์กับเว็บไซต์หางานที่น่าเชื่อถือ

“ดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ค่าครองชีพต่าง ๆ ที่สูงขึ้น ผู้คนจำนวนมากเริ่มมองหาโอกาสในการหารายได้เสริม และเมื่อความต้องการหางานของคนเพิ่มขึ้น โอกาสที่บุคคลเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
“ดังนั้น ในช่วงที่มิจฉาชีพกำลังแพร่ระบาดบนโลกออนไลน์ และการที่เราสามารถแยกความแตกต่างระหว่างเว็บไซต์หางานของจริง และของปลอมได้ จะทำให้ผู้หางานไม่ตกเป็นเหยื่อและสูญเสียทรัพย์สินให้กับมิจฉาชีพเหล่านี้ ดิฉันจึงอยากแนะนำ 6 วิธีสังเกตมิจฉาชีพ และประกาศงานปลอม”
หนึ่ง ยื่นข้อเสนอที่มากเกินกว่าความเป็นจริง
การได้รับเงินจำนวนมากจากการทำงานง่าย ๆ คงเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนใฝ่ฝัน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วข้อเสนองานเหล่านี้มักเป็นงานจากมิจฉาชีพ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะถูกดึงดูดด้วยข้อเสนอสวยหรูที่จะได้ทำงานง่าย และได้ค่าตอบแทนสูง ซึ่งเป็นแพ็กเกจผู้ที่กำลังมองหางานพาร์ตไทม์ มีประสบการณ์ทำงานยังไม่มาก หรือยังไม่มีประสบการณ์มักมองหา
ข้อแนะนำคือ งานที่ได้ค่าตอบแทนสูงมักเป็นงานของผู้ที่มีประสบการณ์ หรือมีระดับความเชี่ยวชาญสูง หากคุณต้องการงานเงินเดือนสูง สามารถหาประสบการณ์ในการทำงานเพิ่ม หรือพัฒนาทักษะที่มีอยู่เพื่อเพิ่มเติมคุณสมบัติให้เหมาะสมกับงานในระดับสูงขึ้น
สอง ผู้ประกอบการใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการติดต่อ
หากผู้ประกอบการติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย ควรเริ่มสงสัย และตั้งคำถาม เพราะโดยทั่วไป ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยชอบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะติดต่อผู้สมัครงานผ่านทางอีเมล์ โทรศัพท์ หรือแอปพลิเคชั่นสำหรับส่งข้อความที่สามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงขององค์กรได้ ในบางกรณีผู้ประกอบการอาจเลือกติดต่อผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงแรก แต่ท้ายที่สุด มักเปลี่ยนไปใช้วิธีทางการมากขึ้นในการเจรจาครั้งต่อ ๆ ไป
สาม องค์กรที่เปิดรับสมัคร ส่งอีเมล์ที่น่าสงสัยมาให้
การติดต่อผ่านทางอีเมล์ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าผู้ประกอบการหรือองค์กรนั้น ๆ น่าเชื่อถือเสมอไป โดยผู้หางานอาจต้องพิจารณาเนื้อหาของอีเมล์ประกอบควบคู่ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการหรือองค์กรดังกล่าวไม่ใช่มิจฉาชีพ ดังนั้น หากอีเมล์นั้น ๆ ถูกส่งมาจากอีเมล์ส่วนตัว หรืออีเมล์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นตัวแทน ผู้หางานควรตระหนักว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ข้อเสนองานนั้นอาจจะไม่ใช่ของจริง
นอกจากนี้ ผู้หางานยังสามารถสังเกตมิจฉาชีพได้จากวิธีการเขียนอีเมล์ หากเนื้อหาไม่ได้ถูกเขียนขึ้นอย่างมืออาชีพ และมีข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์มากมาย มีความเป็นไปได้ว่าข้อเสนอเหล่านั้นอาจเป็นของปลอม ฉะนั้น ควรตรวจสอบเสมอว่าใครคือผู้ที่ส่งอีเมล์มาให้ หากเป็นผู้ประกอบการจริงจะต้องมีข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ของบริษัท
สี่ ผู้ประกอบการขอข้อมูลส่วนตัวเกินความจำเป็น
ผู้ประกอบการ หรือองค์กรทั่วไปจะสนใจเฉพาะข้อมูลในเรซูเม่เท่านั้น อาทิ ประสบการณ์การทำงาน วุฒิการศึกษา สิ่งที่ผู้สมัครงานเชี่ยวชาญ และข้อมูลส่วนตัวขั้นพื้นฐาน นอกเหนือจากนั้น ผู้ประกอบการหรือองค์กรไม่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ อาทิ รายละเอียดบัญชีธนาคารหรือหมายเลขประกันสังคม โดยข้อมูลเหล่านี้ผู้หางานสามารถเปิดเผยได้ก็ต่อเมื่อบริษัทจ้างงานแล้วเท่านั้น
ห้า ได้รับข้อเสนองานทันที โดยไม่ต้องส่งใบสมัคร
หากมีติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ และเสนองานให้ทันที ให้ตระหนักไว้ก่อนว่าเป็นสัญญาณอันตราย โดยปกติแล้ว การเสนองานจะเกิดขึ้นหลังจากการกรอกสมัครงานอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่การส่งเรซูเม่ และจดหมายสมัครงาน ตลอดจนการสัมภาษณ์งานอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ไม่มีตำแหน่งงานที่น่าเชื่อถือใดถูกเสนอผ่านทางอีเมล์ หรือโซเชียลมีเดียในทันที โดยไม่มีการพิจารณาปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง
สแกมเมอร์บางรายอาจอ้างว่าพบเห็นข้อมูล หรือผลงานของเราผ่านทางออนไลน์ และเห็นว่าคุณมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับงานนี้ ซึ่งแม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องจริง แต่การที่ผู้ประกอบการ หรือองค์กรไม่ต้องการสัมภาษณ์เพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการค้นหาพนักงานที่มีความสามารถอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ การจ้างงานพนักงานเป็นกระบวนการที่มักใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ซึ่งในทางกลับกัน หากเป็นมิจฉาชีพ พวกเขามักจะดำเนินการอย่างเร่งด่วน และรวดเร็ว
หก ขอให้ชำระเงินเมื่อสมัครงาน
ปีที่ผ่านมา สแกมเมอร์หลอกลวงเหล่าผู้หางานมากมาย ทำให้เกิดการเสียทรัพย์ และสูญเงินไปเป็นจำนวนกว่าหลายล้านบาท พวกเขามักโน้มน้าวเหยื่อให้จ่ายเงินโดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของงาน เพื่อแลกกับเงินจำนวนที่มากกว่าในอนาคต การที่ผู้ประกอบการถามหาเงินจากผู้หางาน ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณของมิจฉาชีพที่เห็นชัดที่สุด
หากผู้หางานต้องจ่ายเงินเพื่อสมัครงานนั้น ๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจถูกหลอก และถ้าเผชิญกับมิจฉาชีพเหล่านี้ จึงอยากแนะนำให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพเหล่านี้กระทำผิดต่อไปได้อีก
นอกจากนี้ ผู้หางานไม่ควรให้ข้อมูลบัตรเครดิตกับเว็บไซต์สมัครงานที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะโดยทั่วไปการสมัครงานออนไลน์มักไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น