LPC วิสาหกิจเพื่อสังคม วางแผน 3 ปี ช่วยสตรีด้อยโอกาสมีงานทำ

LPC

ต้องยอมรับว่า “สตรีด้อยโอกาส” ในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาหนึ่งของสังคม แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนพยายามช่วยเหลือแก้ไข พร้อมกับโอกาสต่าง ๆ ให้กับพวกเธอ แต่กระนั้น ในสภาพเศรษฐกิจที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ล้วนส่งผลไปถึงสถาบันครอบครัว จนทำให้บุคลากรภายในครอบครัว อันประกอบด้วย พ่อ-แม่-ลูก และญาติพี่น้อง จึงต้องปากกัดตีนถีบ โดยเฉพาะกับสังคมในระดับฐานราก

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่บริษัท แอลพีซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (LPC) บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ให้บริการด้านความสะอาดในพื้นที่อาคารทั้งอาคารสำนักงาน และอาคารชุดพักอาศัย

รวมถึงงานบริการด้านอื่น ๆ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จนทำให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรในฐานะที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความมั่นคงด้านรายได้ให้กับสตรี และผู้สูงอายุด้อยโอกาส

โดยวางแผนระยะสั้นระหว่างปี 2566-2568 ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสการทำงานให้กับสตรีด้อยโอกาสไม่น้อยกว่า 2,000 คน ทั้งยังตั้งเป้ารายได้เติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน

“สุรัสวดี ซื่อวาจา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลพีซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (LPC) บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพในการให้บริการดูแลทำความสะอาดทั้งในพื้นที่อาคารสำนักงาน อาคารเชิงพาณิชย์ ที่พักอาศัย และในชุมชนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

พร้อมกับขยายเครือข่ายการให้บริการออกไปจากการให้บริการโครงการภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างเครือข่าย และพัฒนาสตรี และผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสในสังคมมีโอกาสในการทำงาน และสร้างรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน

“ตอนสิ้นปี 2565 เรามีการจ้างงานสตรี และผู้สูงอายุด้อยโอกาสอยู่กว่า 1,600 คน คิดเป็นสัดส่วน 65% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 2,500 คน พอในปี 2566 เรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนการจ้างงานสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 1,700 คน คิดเป็นสัดส่วน 65% ของเป้าหมายจำนวนพนักงานทั้งสิ้นกว่า 2,600 คน

ทั้งยังคาดว่าจะจ้างงานสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสแตะระดับ 2,000 คน ได้ในปี 2568 ตามแผนการขยายงานและทิศทางการเติบโตของบริษัทที่วางไว้ไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี”

การที่สตรี และผู้สูงอายุด้อยโอกาส 1 คน สามารถทำงานและมีรายได้จะช่วยลดภาระทางสังคม ขณะเดียวกัน ยังสร้างโอกาสในการศึกษาให้กับสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 1-2 คน ดังนั้น การที่เราสามารถสร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับพนักงานเกือบ 2,000 คน

หมายถึงเราสามารถสร้างโอกาสในการศึกษาให้กับคนในครอบครัวเขาอีก 2,000-4,000 คน อันเป็นเป้าหมายสำหรับเรา (LPC) ในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาและสร้างโอกาสให้กับสังคม

กล่าวกันว่า จากแผนดังกล่าว ในปี 2566 บริษัทจึงตั้งเป้าขยายงานบริการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่ในห้องชุด พนักงานต้อนรับและขับรถ จากการให้บริการกับโครงการภายใต้การบริหารจัดการของ LPN ไปสู่การให้บริการกับโครงการภายนอก LPN มากขึ้นจากปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2565 บริษัทให้บริการอยู่ทั้งสิ้น 252 โครงการ

โดยแบ่งเป็นโครงการของ LPN และโครงการนอก LPN สัดส่วนอยู่ที่ 70 : 30 ตามแผนในปี 2566 จะเพิ่มการให้บริการเป็น 270 โครงการ หรือเพิ่มขึ้น 15-20 โครงการ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัท 525 ล้านบาทในปี 2566 เพิ่มขึ้น 5% จากรายได้รวม 500 ล้านบาทในปี 2565 และเติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5% ในปี 2567-2568

“สุรัสวดี” กล่าวต่อว่า เนื่องจากเราเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม กำไรที่ได้จากการดำเนินงานทั้งหมดจะถูกส่งต่อให้กับสมาชิกของเรา ซึ่งคือพนักงาน ความแตกต่างของเรากับบริษัทจำกัดที่แสวงหากำไรทั่วไป คือ กำไรของเราทุกบาทจะถูกส่งกลับไปให้กับพนักงานของเราทั้งหมด ทั้งในรูปของรายได้ที่เราจะจ่ายให้กับพนักงานสูงกว่าอัตราการจ้างงานในตลาดในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ 10%

นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสวัสดิการให้กับพนักงาน รวมไปถึงการให้ความรู้ และเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ปัจจุบัน LPC มีพนักงานประมาณ 2,500 คน มีพนักงานที่เป็นหนี้นอกระบบทั้งสิ้น 492 คน จากการให้ความรู้กับพนักงานในเรื่องของการออม การจัดการกับภาระหนี้ที่เกิดขึ้น ทำให้พนักงานในกลุ่มที่มีหนี้นอกระบบสามารถลดภาระหนี้ลงอย่างต่อเนื่อง และมีการออมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังจัดสวัสดิการส่งเสริมให้การศึกษากับพนักงานในทุกระดับ จำนวน 383 คน

รวมถึงการให้ทุนการศึกษากับบุตรของพนักงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้บุคลากรของบริษัทที่เป็นสตรี และผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสในสังคม กลับคืนสู่สังคมจนเป็นผู้มีโอกาส และส่งต่อให้กับสมาชิกในครอบครัว เพื่อลดปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น

“LPC จึงเปิดโอกาสในการทำงานให้กับสตรีกลุ่มนี้เข้ามาเป็นพนักงานบริการชุมชน โดยแบ่งออกเป็น พนักงานบริการความสะอาด พนักงานต้อนรับชุมชน และพนักงานขับรถ พร้อม ๆ กับให้โอกาสในการศึกษา และพัฒนาฝีมือการทำงานตามมาตรฐานสากล สามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นที่พึ่งพาของครอบครัวได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

ทั้งนี้เพราะเป้าหมายของ LPC ตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2566-2568) คือการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืน มีส่วนในการพัฒนาสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสให้กลายเป็นบุคลากรที่มีส่วนในการสร้างรายได้และดูแลครอบครัวได้ ไม่เป็นปัญหาให้กับสังคม และสามารถส่งต่อครอบครัวที่มีคุณภาพคืนสู่สังคม

กล่าวกันว่า การที่จะทำแบบนี้ได้ ต้องมีแผนพัฒนาองค์กร โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสนับสนุน และพัฒนางานของพนักงาน ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับพนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รักษาอัตราการเติบโตของรายได้ขององค์กร และของพนักงาน เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต

เพราะครอบครัวที่มั่นคงเป็นรากฐานที่สำคัญของการสร้างสังคมที่ดี