การปรับทักษะ เพื่ออนาคต!

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย พิชญ์พจี สายเชื้อ

จากข่าวการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งมติ ครม.เห็นชอบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดอยู่ในช่วง 308-330 บาท/วัน (เฉลี่ย 315.97 บาท/วัน) จากอัตราเดิมในปี 2560 ที่ 300-310 บาท/วัน (เฉลี่ย 305.44 บาท/วัน) โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ เป็นการปรับขึ้นแบบไม่เท่ากันตามแต่ละพื้นที่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มตัวแปร เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI), ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวม โดยจังหวัดที่ปรับสูงสุดคือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยองที่ 330 บาท และกรุงเทพฯ อยู่ที่ 325 บาท

ผลกระทบที่เกิดแน่ ๆ จากการปรับครั้งนี้คือต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นขององค์กรโดยเพิ่มขึ้นมาประมาณ 3.44% ซึ่งศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า แรงงานที่อยู่ในกลุ่มที่จะต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้มีประมาณ 20.2% คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมอยู่ที่ระหว่าง 8-14% การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อประมาณ 0.06% และคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2561 จะอยู่ที่ 1.1%

ดิฉันคิดว่ากลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบสูงคือ กลุ่ม SME ซึ่งถ้าต้องปรับค่าแรงขึ้นมากก็จะส่งผลต่อการดำเนินการตามมาด้วย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่บริษัทต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น เนื่องจากตอนนี้ ค่าแรงของไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านอยู่ (โดยสูงกว่าพม่าประมาณ 3 เท่า เขมร และเวียดนาม ประมาณ 2 เท่า และอินโดฯประมาณ 1.6 เท่า)

โดยส่วนตัวมองว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้เป็น “สัญญาณเตือนแรงงาน ลูกจ้างรวมทั้งพนักงานให้เร่งปรับตัว” เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นขององค์กรซึ่งเกิดจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำและการยกฐานโครงสร้างเงินเดือน (เมื่อค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับขึ้น โครงสร้างเงินเดือนในบริษัทก็จำเป็นต้องปรับยกขึ้นเพื่อรักษาช่องว่างเงินเดือนระหว่างระดับพนักงานไว้) ทำให้นายจ้างต้องคิดหนักว่าการจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง

“คุ้มค่า” (กับสิ่งที่พนักงานทำให้บริษัท) หรือไม่ คือไม่สามารถใจดีจ่ายทิ้งขวางได้อีกต่อไปแล้ว นายจ้างจะถูกผลักดันให้เลือกจ่ายเฉพาะคนที่มีทักษะเหมาะสมเท่านั้น หรือนายจ้างอาจต้องพิจารณาถึงการนำหุ่นยนต์ หรือ AI มาใช้แทนคนด้วย (ในกรณีที่งานสามารถใช้หุ่นยนต์หรือคอมพ์ได้ทำไมต้องจ้างคนแพง ๆ แถมปวดหัวเรื่องการบริหารอีก จริงไหมคะ) ส่วนสิ่งที่ลูกจ้างต้องคิดคือทำอย่างไรจึงจะเป็นทางเลือกที่ใช่ของนายจ้าง ลูกจ้างจึงจำเป็นต้อง reskill ตัวเอง ลูกจ้างต้องปรับทักษะตัวเองให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานที่ปรับเปลี่ยนไป ไม่เช่นนั้นก็อาจถูกเลิกจ้าง (แล้วแทนที่โดยคนที่มีทักษะเหมาะสมกว่า) หรืองานถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ไปเลยก็ได้

ดิฉันขอนำกรณีศึกษาของประเทศสิงคโปร์มาเล่าเนื่องจากเขามีการตื่นตัวในเรื่องการปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา จากนโยบาย Smart Nation ที่ผู้นำสิงคโปร์ประกาศให้เป็นแผนเดินหน้าหลักของประเทศสิงคโปร์ นับตั้งแต่ปี 2557 เพื่อให้สิงคโปร์ก้าวสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ ผู้คนมีความสุขและสมดุลภายใต้การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อประชากร พร้อมทั้งสนับสนุนการค้นคว้าด้าน internet of things เพื่อสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของประชาชน

โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญเพื่อสามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายในการยกระดับ “การศึกษา” ของประชากร โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและนักศึกษา ให้เป็นไปแนวทางของนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสิงคโปร์ที่โดดเด่น คือ โครงการ SkillsFuture ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2559 เพื่ออุดช่องว่างทักษะอาชีพ (skill gab) โดยชาวสิงคโปร์ทุกคนที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี จะได้รับ Skill Future Credit เริ่มที่ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ ประมาณ 12,500 บาท ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนให้อย่างสม่ำเสมอ ไม่มีวันหมดอายุ ในหลักสูตรอบรมทักษะอาชีพที่ปัจจุบันรัฐบาลเห็นชอบกว่า 12,500 หลักสูตร นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2560 ชาวสิงคโปร์ทุกคนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจะมีข้อมูลการเรียนรู้รายบุคคลแบบออนไลน์เป็นของตัวเอง เพื่อการประเมินลักษณะเฉพาะของบุคคล และช่วยแนะนำเพื่อวางแผนการศึกษา การทำงาน รวมถึงการอบรมทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

โครงการ SkillsFuture (ดูรายละเอียดได้ที่ skillsfuture.sg) นี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต (The Future Economy Council – FEC) ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีสมาชิกประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ ภาคอุตสาหกรรม สภาแรงงานลูกจ้าง ภาคการศึกษา และสถาบันจัดอบรม ในโครงการมีการกำหนดทักษะที่จำเป็นของประชาชนทุกกลุ่มได้แก่กลุ่มนักเรียน คนเข้าทำงานใหม่ คนมีประสบการณ์ทำงาน นายจ้าง ผู้ฝึกอบรมและผู้ที่ต้องการเรียนรู้ โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือต้องการช่วยให้ประชาชนมีการเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสิงคโปร์มองว่าตลาดคือโลก การศึกษาและความรู้ความสามารถจึงต้องเป็นสากล เครือข่ายต้องกว้างขวาง

ดังนั้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตต้องสอดรับกับโลกที่กำลังเปลี่ยนไป โดยในโครงการจะกำหนดทักษะความสามารถที่จำเป็นในอนาคต โดยแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ เช่น 1) กลุ่ม product management 2) กลุ่ม operations planning and production 3) กลุ่ม manufacturing productivity and innovation 4) กลุ่ม quality management system 5) กลุ่ม leadership and people management เป็นต้น ซึ่งในแต่ละกลุ่มความสามารถนั้น จะระบุทักษะที่จำเป็นเช่น กลุ่ม product management จะต้องมีทักษะที่เรียกว่า strategic research and development หรือกลุ่ม public relations จะต้องมีทักษะ build international business networks และ speak with impact เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนแต่ละคนมีแนวทางในการพัฒนาตนเองที่สอดคล้องกับแนวทางหลักของประเทศ โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาโดยที่ชาวสิงคโปร์อายุเกิน 25 ปีจะได้ Skills Future Credit 500 เหรียญ เพื่อไปใช้ในการเรียนคอร์สฝึกทักษะใหม่ ๆ โดยผ่านสถาบันการศึกษาที่รัฐบาลอนุมัติ โดยเป็นการเรียนแบบ E-Learning หรือออนไลน์

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันมากก็คือ โครงการนี้จะเกิดประโยชน์แก่ชาวสิงคโปร์จริง ๆ และช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างที่ต้องการหรือไม่ ซึ่งสำหรับดิฉันคิดว่า การทำอย่างนี้อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีและทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดเวลา (life-long learning) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการนำประเทศสู่อนาคต ถึงไม่สำเร็จทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ได้แค่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ก็คุ้มแล้วค่ะ แหมชักอยากให้เมืองไทยมีอย่างนี้บ้างแล้วสิคะ โครงการแบบนี้จะช่วยลดปัญหาที่อาจตามมาในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และเป็นการวางแผนรองรับในระยะยาวได้อีกด้วย (ขออนุญาตกระซิบดัง ๆ ไปถึงผู้เกี่ยวข้องที่บังเอิญอ่านเจอด้วยล่ะกันนะคะ)