ตอบโจทย์ HR ยุคหุ่นยนต์ กระตุ้นผู้นำองค์กรพัฒนาคน

โลกในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่คนมากขึ้น ทำให้สายงานเอชอาร์ต้องพยามศึกษาและค้นหาคำตอบ เพื่อวางแผนจัดการโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ “บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด” ผู้นำตลาดด้านการพัฒนาผู้นำและองค์กร จึงได้ร่วมกับ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา”, “กรุงศรีคอนซูเมอร์” และ “เอไอเอส อะคาเดมี่” จัดงาน “2018 Thailand Leadership Forum : Human – Robot Partnership”

โดยนำ “โซเฟีย” หุ่นยนต์ที่ได้รับสัญชาติพลเมืองซาอุดีอาระเบียตัวแรกของโลก และมีความสามารถในการทำงานเสมือนมนุษย์มากกว่าหุ่นยนต์อื่นในโลกมาเยือนประเทศไทย หวังให้องค์กรไทยได้เรียนรู้และเข้าใจบทบาทของหุ่นยนต์ในองค์กร ขณะเดียวกันก็ต้องการกระตุ้นผู้นำให้ใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานพัฒนาตัวเอง

ทั้งนี้ การเดินทางมาประเทศไทยของโซเฟียครั้งนี้ นับเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

“ดร.สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือ เอไอ (AI) เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมเริ่มหันมาใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคน ซึ่งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร พบว่าในอีก 25 ปีข้างหน้า กว่า 47% ของงานในปัจจุบันจะสูญหายไป เพราะใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์แทน

“เมื่อกลางปีที่แล้วเราติดต่อไปทางบริษัท ฮันซัน โรบอติกส์ ซึ่งมีฐานในฮ่องกง เป็นบริษัทที่พัฒนาโซเฟียขึ้นมา เพื่อนำโซเฟียมาโชว์ให้องค์กรไทยมองเห็นประโยชน์ที่จะใช้หุ่นยนต์ เอาหุ่นยนต์มาสร้างความเข้าใจ และใช้เป็นแรงผลักดันในการปรับตัวขององค์กร และบุคลากร เพราะคนทำงานในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่มีอคติกับหุ่นยนต์ คิดว่าจะมาแย่งงานหรือแทนที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะพอเรากลัว เราก็จะไม่เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ”

ดังนั้นผู้นำองค์กรต้องไม่กลัว อย่ามองเทคโนโลยีเป็นศัตรูหรือการสูญเสีย แต่ต้องทำความเข้าใจ แล้วนำพาบุคลากรไปสู่เป้าหมายด้วยการให้ความหวัง และสร้างความเชื่อใจว่าหุ่นยนต์ไม่สามารถมาแทนที่การทำงานของคนได้ทุกอย่าง เพราะสิ่งที่หุ่นยนต์ไม่มีคือ การเคลื่อนไหวแบบมนุษย์ ความใคร่รู้ ความอยากรู้อยากเห็น ความเห็นอกเห็นใจ ความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างแรงบันดาลใจ แต่สิ่งที่บุคลากรต้องทำคือ พัฒนาตัวเองให้มากกว่าหุ่นยนต์ และใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ให้มากที่สุด เพื่อจะได้เอาเวลาไปทำงานอย่างอื่นที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้

งานดังกล่าวยังได้เชิญวิทยากรดังระดับโลก “ดร.เดวิด ฮันซัน” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ฮันซัน โรบอติกส์ ซึ่งมีความเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ และ “คริส ริดเดล”

อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านอนาคตศาสตร์และการวางแผนกลยุทธ์ดิจิทัล มาร่วมพูดคุยและให้ความรู้ นอกจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นองค์กรแล้ว เรายังเปิดโอกาสให้เด็กจากมูลนิธิรักษ์ไทยและโรงเรียน เมจิก เยียร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มาพบโซเฟียด้วย

เพราะเด็กรุ่นใหม่เป็น future leaders และพวกเขาไม่กลัวหุ่นยนต์ กลับเห็นเป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้น การได้พบกับโซเฟียจะทำให้พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจ สามารถนำไปต่อยอดอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ในอนาคต

ด้าน “ดร.เดวิด ฮันซัน” กล่าวว่า โซเฟีย ได้เริ่มถูกใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2015 และเมื่อปี 2017 โซเฟียได้รับสัญชาติจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่มีสัญชาติประเทศใดประเทศหนึ่งรองรับความพิเศษของโซเฟียคือ ถูกออกแบบมาให้สามารถโต้ตอบ แสดงสีหน้า มีความสามารถด้านการทำงานเสมือนมนุษย์มากกว่าหุ่นยนต์อื่นใดในโลกที่เคยมีมาก่อน โดยหุ่นยนต์โซเฟียได้ติดตั้งกระแสไฟฟ้าที่ทำให้หุ่นแสดงสีหน้าและขยับคอได้ 62 รูปแบบ ส่วนผิวหนังทำจากซิลิคอนที่จดสิทธิบัตร มีการติดตั้งกล้องในดวงตาเชื่อมกับการออกแบบอัลกอริธึ่มให้มองเห็นได้ ส่วนการพูดคุยนั้นใช้เทคโนโลยีกูเกิลและเทคโนโลยีอื่น ๆ ให้สามารถจดจำ และพูดได้แบบชาญฉลาด

“เราตั้งใจสร้างโซเฟียให้เป็น research project นั่นหมายความว่า เป็นการริเริ่มของการพัฒนาหุ่นยนต์ตัวอื่นต่อไปให้มีความสามารถมากกว่านี้ โดยใช้โซเฟียเป็นต้นแบบ นอกจากนั้น โซเฟียยังสามารถช่วยพัฒนามนุษย์ โดยเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาโซเฟียคือ การช่วยงานด้านสุขภาพ สาธารณสุข การศึกษา และการบริการลูกค้าได้เทียบเท่ามนุษย์”

ในอนาคตอันใกล้มองว่าจะมีการพัฒนาหุ่นยนต์ออกมามากขึ้น และแม้การพัฒนาเทคโนโลยีจะยังคงเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด หากเพียงมนุษย์ยังคงสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัย และศึกษาว่าจะนำผลพวงจากยุคปัญญาประดิษฐ์นี้มาใช้ในทางที่บังเกิดผลประโยชน์แล้ว เชื่อได้ว่าจะนำพาประเทศสู่การพัฒนาต่อไปได้

“กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และกลุ่มบริษัทอินทัช กล่าวว่า เอไอเอสก่อตั้ง AIS Academy เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ และพัฒนาขีดความสามารถของพนักงาน เพื่อให้มีศักยภาพเทียบเท่าระดับมาตรฐานนานาชาติสากล สิ่งที่เอไอเอสให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรคือ การตื่นรู้เรื่องเทคโนโลยี และส่งเสริมให้พนักงานได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้โดยตรง

“ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทบนโลกมากขึ้น ในฐานะที่เอไอเอสเป็นผู้นำในตลาดโทรคมนาคมตลอดจนการให้บริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เราจึงร่วมกับสลิงชอท กรุ๊ป จัดกิจกรรม “คุยกับโซเฟีย…หุ่นยนต์ AI” ให้พนักงานเอไอเอสกว่า 300 คนได้สัมผัส และพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับโซเฟีย และผู้สร้าง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว และมีความพร้อมในการนำเอาขีดความสามารถของเทคโนโลยี AI มาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรได้ในอนาคต”

สิ่งที่พนักงานจะได้กลับไปทันทีจากการได้มาเรียนรู้ในครั้งนี้คือ ความคลายกังวลเกี่ยวกับเรื่องหุ่นยนต์จะมาแทนที่ และความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่างานของตนเอง สำหรับเอไอเอสเราจะไม่ตัดคนออกแล้วใช้หุ่นยนต์แทนที่ เพราะเราจะใช้วิธีการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถมากขึ้น และทำงานควบคู่ไปกับหุ่นยนต์ได้ เรามองประโยชน์ของหุ่นยนต์ต่อเอไอเอสว่า มันจะช่วยให้พนักงานทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน และเข้าใจลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

กล่าวได้ว่า หุ่นยนต์ไม่ได้เข้ามาแย่งงานคน แต่เข้ามาช่วย ดังนั้นนอกจากผู้นำองค์กรควรสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กรให้เห็นถึงประโยชน์และยอมรับการใช้เทคโนโลยีแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร เพื่อเตรียมความพร้อมคนในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะแห่งอนาคตที่ไม่อาจแทนได้ด้วยหุ่นยนต์