บริบทใหม่ “จีน” ภารกิจอนุรักษ์ “สิ่งเเวดล้อม”

เสาชาร์จไฟสำหรับรถระบบไฟฟ้า โดยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016 – 2020) จีนจะสร้างเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 5 ล้านคันภายในปี 2020

สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ราว 1.3 พันล้านคน และด้วยจำนวนประชากรที่มาก จึงทำให้จีนจำเป็นต้องผลิตพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากร อีกทั้งจีนยังสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเป็นแหล่งผลิตสินค้าให้กับบริษัทจากต่างประเทศทั่วโลก เพราะมีจุดแข็งด้านกำลังคน

ผลของการใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงาน และการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ที่ผ่านมาจีนประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง ตามข่าวที่เคยปรากฏผ่านมาทั้งทางสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และโลกออนไลน์

อาศรมสยาม-จีนวิทยา สมาคมปัญญาภิวัฒน์ และ บมจ.ซีพี ออลล์ เพื่อเยี่ยมชมเรียนรู้แหล่งวัฒนธรรม และศึกษาสถานที่สำคัญ ทำให้พบว่า

แต่ปัจจุบัน จีนเริ่มตื่นตัวกับสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ และมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น โดยกระทรวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติจีนออกประกาศการดำเนินโครงการกำกับดูแลธุรกิจที่ปล่อยมลพิษอย่างผิดกฎหมายเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชนปี 2013 ระบุภารกิจสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่

เสาชาร์จไฟสำหรับรถระบบไฟฟ้า

หนึ่ง การตรวจสอบและปราบปรามปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการทำลายคุณภาพของอากาศ และปัญหานํ้าเสีย

สอง ควบคุมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของธุรกิจที่ปล่อยมลพิษสูง อาทิ ธุรกิจการหล่อหลอมโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก ธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่สะสมไฟฟ้าแบบตะกั่ว ธุรกิจการชุบโลหะด้วยไฟฟ้า เป็นต้น

สาม ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมการผลิตยาอย่างรอบด้าน

นอกจากนั้น เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2018 รัฐบาลจีนอนุมัติ “แผนโครงการเส้นแดงปกป้องระบบนิเวศ” เพื่อจำกัดการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าอุทยานแห่งชาติ หรือเขตคุ้มครองธรรมชาติ โดยผืนดินที่ครอบคลุมในแผนรวมเนื้อที่ประมาณ 610,000 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับ 25% ของพื้นที่ใน 15 มณฑลรวมกัน ซึ่งจีนตั้งเป้าให้มณฑลและภูมิภาคทั่วประเทศดำเนินการตามแผนภายในสิ้นปี 2020

“ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม”

“ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม” ผู้อำนวยการ อาศรมสยาม-จีนวิทยา โดยบอกว่า ถ้าจีนได้ลองตั้งใจทำอะไรดี ๆ แล้วย่อมสำเร็จ ดังนั้นจะได้เห็นสิ่งแวดล้อมของจีนในเมืองใหญ่ ๆ ดีขึ้นอย่างแน่นอน

“ตอนนี้จีนกำลังกวดขันเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันเสีย โดยหากพบโรงงานที่ไม่มีระบบปรับปรุงนํ้าเสีย หรือไม่มีการดูแลการปล่อยควันพิษที่ดีจะถูกปรับหรือปิดทันที รวมทั้งยังมีการจัดระเบียบให้โรงงานย้ายออกไปอยู่นอกเมือง และเน้นการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์

จะเห็นได้จากการมีแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแนวยาวบนพื้นที่ว่างตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง นอกจากนั้นยังมีการรณรงค์ให้ประชาชนใช้รถยนต์ระบบไฟฟ้าแทนระบบนํ้ามัน เพราะต้องการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ทั้งยังจัดให้มีที่ชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าตามลานจอดรถในสถานที่สำคัญ ๆ อีกและจีนยังจำกัดการใช้รถยนต์ด้วยการกำหนดให้ที่จอดรถมีราคาแพง โดยแต่ละบ้านที่ต้องการที่จอดรถจะต้องซื้อสิทธิ์ 30-40 ปี ในราคาราว 3 แสนหยวน

“ปริ้นซ์ แอ็ดทา โอโพคู” (Prince Atta Opoku) นักศึกษาปริญญาเอก วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเหอไห่ (Hohai University) เมืองหนานจิง สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในจีนเน้นเรื่องนวัตกรรมที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมสอดแทรกในหลายวิชา อีกทั้งการเรียนสาขาที่เกี่ยวกับวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมยังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มนักศึกษาจีน และนักศึกษาต่างชาติที่เดินทางมาเรียนที่จีน

“จากที่เรียนทางด้านสิ่งแวดล้อมในจีนได้เห็นว่าจีนเข้มงวดในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เริ่มเก็บภาษีคาร์บอน ปรับอัตราภาษีการปล่อยมลพิษสูงขึ้น ทั้งยังจัดการดูแลรักษาความสะอาดบนพื้นที่สาธารณะดีขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างในพื้นที่มหาวิทยาลัย และหลายสถานที่มีการใช้ระบบประหยัดไฟแบบเซ็นเซอร์ เมื่อไม่มีคนอยู่ในพื้นที่นั้นดวงไฟก็จะดับเพื่อประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ จีนมีจุดแข็งในด้านเงินลงทุน หากเห็นว่าเทคโนโลยีไหนจะสามารถช่วยปรับปรุงสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะไม่รีรอที่จะศึกษาและนำมาใช้”

นับว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของจีนตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวไปสู่การเป็นประเทศประหยัดพลังงาน