ทำเรื่องเล็ก ให้เป็นเรื่องใหญ่

คอลัมน์ Inside Out Story โดย จิตระวี ล่ำปิยะ

หากเรามองภาพใหญ่ กิจกรรมที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือซีเอสอาร์ คงเป็นภารกิจที่บริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหลายต้องปฏิบัติ มีงบประมาณเฉพาะ มีการประชาสัมพันธ์มากมาย

แต่หากมองให้เล็กลง และใกล้มากขึ้น กิจกรรมซีเอสอาร์เป็นกิจกรรมที่ง่าย ๆ ที่เราทุกคนสามารถเข้าถึง และลงมือทำได้

ครั้งหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสร่วมกิจกรรมซีเอสอาร์งานหนึ่ง เป็นกิจกรรมทำความสะอาดชายหาด ในงานวันนั้น “พลากร สุวรรณรัฐ” องคมนตรีมาเป็นประธานในพิธี ได้กล่าวถึงการดำเนินกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมไว้อย่างน่าสนใจว่า…โครงการ หรือกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ ล้วนเป็นโครงการที่ดี แต่กิจกรรมเหล่านี้ไม่ควรต้องเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง เพราะจะน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก

ดังนั้น แม้ไม่มีหน่วยงานจากเอกชนเข้ามาดำเนินการ ผู้บริหารในท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีหน้าที่ทางกฎหมาย ก็ควรจะเข้ามาเป็นเจ้าภาพดำเนินการได้

สิ่งที่องคมนตรีกล่าวไปนั้นทำให้เราเห็นถึงความใกล้ชิดกันระหว่างชุมชนกับกิจกรรมซีเอสอาร์มากยิ่งขึ้น ในเมื่อทุกคนมีส่วนใช้ประโยชน์ หรือในอีกแง่หนึ่งคือ มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วเหตุใดถึงต้องเป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งที่เข้ามารับผิดชอบผลจากการกระทำของส่วนรวม

การทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองของตนเอง เป็นสิ่งที่ประชาชนพึงทำอยู่แล้ว แต่บางครั้งอาจขาดเจ้าภาพ หรือผู้นำในทางปฏิบัติก็อาจจะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น หรือขาดช่วงก็พอจะเข้าใจได้

ดังนั้น หากเราทุกคนเห็นปัญหา ช่วยกันหยิบจับ ทำเรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้ให้เกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่จะไม่ดีกว่าหรือ ?

หากมีคนในท้องที่เห็นปัญหา และมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่โดยตรงเข้ามารับบทบาทในการเป็นผู้นำ ก็จะเป็นการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงมากกว่าหรือไม่ ?

เช่นเดียวกัน กิจกรรมซีเอสอาร์อีกรูปแบบที่ผู้เขียนได้ไปเข้าร่วม และมองว่าเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ง่าย ๆ แต่ไม่ค่อยเห็นนักคือเรื่องการให้ความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชน ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้กันถ้วนหน้า นั่นคือกิจกรรมของ “สมหวัง เงินสั่งได้”

ซึ่งเป็นบริษัทที่ปล่อยเงินกู้ให้แก่รายย่อย กิจกรรมที่แสดงออกต่อการรับผิดชอบทางสังคมของเขานั้นไม่ได้ใช้ชื่อว่าซีเอสอาร์ แต่เป็น sustainable development หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการให้ความรู้ด้านการเงิน แก่ 2 กลุ่ม ได้แก่ นักเรียน เพื่อปูพื้นฐานความรู้

เรื่องการบริหารการเงิน การลงทุน รวมไปถึงการเลือกเส้นทางอาชีพด้านการเงินในอนาคต เพื่อให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่ประสบปัญหาการกู้ยืมนอกระบบ และสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปขยายผล แบ่งปันคนใกล้ชิด ทั้ง พ่อ-แม่ เพื่อน ๆ อีกกลุ่มคือประชาชนในพื้นที่ที่

“สมหวังฯ” ไปตั้งสาขา เพื่อให้รู้เท่าทัน ทั้งกรณีก่อนจะไปกู้ยืม เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็น การบริหารจัดการบัญชีครัวเรือน เพื่อให้เห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงในการพิจารณาว่าทุกวันนี้ใช้จ่ายอย่างมีเหตุมีผลแล้วหรือไม่

บางครั้งอาจทำให้ไม่ต้องกู้ยืมในปริมาณที่สูงเกินไป เพียงแต่ตัดรายจ่ายบางรายการออกไป หรือกรณีที่จำเป็นต้องเป็นหนี้ ก็สามารถพิจารณาได้ว่าการกู้ยืมที่ถูกกฎหมาย ไม่เกิดปัญหาการกู้เงินนอกระบบจนเป็นภาระดอกเบี้ยเกินตัว

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของความรู้ที่สามารถแบ่งปันกันได้ โดยทาง “สมหวังฯ” เล่าว่าทุกวันนี้คนไทยมีปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดหนี้นอกระบบเป็นสิ่งที่เข้ามาหลอกหลอนมาก เพราะดอกเบี้ยที่แพงระยับ ทั้งที่จริงแล้วเขามีทางเลือกในการกู้เงินจากสถาบันทางการเงินที่ถูกกฎหมาย หรือหากมีความเข้าใจ หรือมีความรู้ด้านการบริหารการเงินเขาอาจจะไม่ต้องกู้เงินด้วยซ้ำ ตรงนี้ไม่ใช่ความผิดของใคร แต่เป็นเพียงความ “ไม่รู้”

หากมองให้ดีปัญหาหนี้ของสังคมไทยเป็นตัวบั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชากร เพราะไม่เกิดการงอกเงยทางการลงทุนแล้ว รัฐบาลยังต้องแบกรับภาระในการจัดการอีก

การดำเนินการดังกล่าว เป็นความพยายามตัดวงจรปัญหา โดยใช้ปัญญานำทาง หากประชาชนมีความรู้ สามารถชั่งตวงวัดก่อนการตัดสินใจ จะส่งผลให้ลดปัญหาที่จะพอกพูน และการให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ซึ่งยังเป็นวัยที่ยังไม่ก่อหนี้ก็เป็นการตัดวงจร สร้างประชาชนน้ำดีที่ไม่ก่อหนี้ (เสีย) ในอนาคต

อาจจะเห็นว่าการดำเนินกิจกรรม จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องมาจากบริษัทใหญ่ ๆ คนโต ๆ กรณีการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ ก็มีให้เห็น อย่าง “มาดี ฮับ” ซึ่งเป็นโค เวิร์คกิ้ง สเปซ ที่ให้พื้นที่แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างกิจการเพื่อสังคม หรือ social enterprise เพื่อยกระดับคุณภาพสังคม โดยเป็นทั้งพื้นที่ให้มาใช้ประโยชน์ ยังเป็นเหมือนแม่สื่อ

ในการสร้างเครือข่ายให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มาพบเจอกับผู้มีแนวคิดเดียวกัน จนเกิดเป็นกิจกรรมแนวซีเอสอาร์มากมายจะเห็นได้ว่าแต่ละคน แต่ละองค์กรมีแนวทางตามที่ตนเองถนัด มีตั้งแต่เล็กไปใหญ่ ใหญ่ไปเล็ก แต่ส่วนใหญ่ล้วนแล้วมุ่งเป้าเข้าไปดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะทุกคนต่างต้องการเห็นสังคมของเราเป็นสังคมที่ดี การที่มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี มนุษย์ก็ย่อมเบียดเบียนน้อยลง

หากเรามองว่าการความดีเป็นเรื่องง่าย เราจะสามารถทำสิ่งนั้นได้อย่างสม่ำเสมอ และยาวนาน ฉะนั้น แม้ว่าความรับผิดชอบต่อสังคมของเราเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม แต่เมื่อรวมพลังกันหลาย ๆ พลังแล้ว เรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ โดยไม่ต้องใช้พละกำลังขององค์กรใหญ่ ๆ เลยก็ได้


ว่าไปแล้ววันนี้…คุณเริ่มหรือยัง ?