ไม้ต่อธุรกิจ “IHL” “เราให้ตำแหน่งแสดงว่าเขาทำได้”

ภายใต้ร่มคันใหญ่ของบริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน) -IHL ที่ประกอบธุรกิจฟอกหนังสำหรับทำเบาะรถยนต์ และผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังมีบริษัทย่อยอีก 2 บริษัทอยู่ในเครือประกอบด้วยบริษัท อินเตอร์ซีท คัฟเวอร์ จำกัดที่ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายชุดหุ้มเบาะรถยนต์ หุ้มพวงมาลัย และหุ้มเกียร์ และบริษัท อินเตอร์กรีน จำกัด ที่ประกอบธุรกิจผลิตโปรตีนจากขี้หนังสัตว์ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรมมีโรงงานทั้งหมด 10 โรงงานมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 1,500 คนซึ่งมีกลุ่มลูกค้าหลักจากหลายค่ายรถยนต์ด้วยกัน อาทิ โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, มิตซูบิชิ, ฟอร์ด, มาสด้า และอีซูซุ ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ “องอาจ ดำรงสกุลวงษ์” ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน)

ที่ทุกวันนี้เริ่มผ่องถ่ายการบริหารธุรกิจในเครือมาให้ลูกสาวคนโต (วรรณวิสา ดำรงสกุลวงษ์) ดูแลทางด้านบัญชี และการเงินของบริษัท ขณะที่ลูกชายคนกลาง (วศิน ดำรงสกุลวงษ์) ดูแลทางด้านผู้จัดการทั่วไปที่เกี่ยวกับการผลิต วิจัยพัฒนา และฝ่ายขาย ส่วนลูกชายคนเล็ก (วริทธิ์ ดำรงสกุลวงษ์) กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด ทั้งยังเป็นเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์จากเครื่องหนัง Minore

ยิ่งเฉพาะ “วศิน” ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจของครอบครัว เพราะนอกจากจะเป็นลูกชายคนกลางที่เรียนจบปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต ประเทศสหรัฐอเมริกา เขายังไปเรียนภาษาญี่ปุ่นอีกระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะมาฝึกงานกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไลน์การผลิตที่โรงงานโตโยต้าแถวบางนา

ปัจจุบัน “วศิน” เรียนทางด้านหลักสูตรการบริหารจัดการทางด้านไฟแนนซ์ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขายอมรับว่าการเรียนหนังสือแม้จะทำให้มีความรู้ก็จริง ทั้งยังสามารถนำมาปรับใช้ได้กับการทำงานในปัจจุบัน

“แต่กระนั้น ตั้งแต่เด็ก ๆ ผมฝึกงานมาตลอด เพียงแต่ตอนนั้น อาจไม่รู้อะไรมากมาย แต่จากการเข้าไปช่วยคุณพ่อกับคุณแม่ (ชุติมา บุษยโภคะ) กรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมทีเป็นธุรกิจครอบครัว จึงทำให้รู้ในเวลาต่อมาว่าธุรกิจเครื่องหนังไม่มีโรงเรียนใดสอน เพราะเป็นเรื่องเทคนิคที่ส่งต่อกันมาเป็นทอด ๆ อีกอย่างคุณพ่อมักสอนผมว่าถ้าเรามีส่วนร่วมในการทำงานเร็ว เราก็จะเรียนรู้ธุรกิจในอีกขั้นตอนหนึ่งอย่างรวดเร็วเช่นกัน”

“ฉะนั้น จึงไม่แปลกเพราะหลังจากผมเรียนจบปริญญาตรี จึงใช้โอกาสหนึ่งไปฝึกภาษาที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเข้ามารับไม้ต่อทางธุรกิจ เพราะครอบครัวของเรามีพี่น้อง 3 คนเท่านั้นเอง ผมเองเป็นลูกชายคนกลาง ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการผลิต วิจัยพัฒนา และฝ่ายขาย จึงต้องพยายามฝึกปรือทุกสิ่งทุกอย่างจากคุณพ่อ และคุณแม่”

“พูดให้ชัดขึ้นคือธุรกิจครอบครัวของเราเป็นธุรกิจเฉพาะทาง ยิ่งเราเริ่มเร็วเท่าไหร่จะมีผลดีต่อเราเร็วเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเราไปทำงานข้างนอกก่อน เราจะได้เรียนรู้แค่แผนกนั้น ๆ ซึ่งอย่างน้อยก็แค่แผนกสองแผนก แต่การที่เรากลับมาเริ่มธุรกิจในครอบครัว ผมต้องเรียนรู้ทุกแผนก และแต่ละแผนกจะมีความแตกต่างกัน ปัญหาทุกปัญหา แนวทางการแก้ไข ก็มีความแตกต่างกัน ผมจึงต้องเรียนรู้ทุกห่วงโซ่การผลิตให้เร็วที่สุด”

“วศิน” ยอมรับว่าการเป็นไม้ต่อธุรกิจเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเราจะเป็นทายาทโดยตรง แต่สิ่งสำคัญ และเหนือกว่าคือการสร้างการยอมรับ ลูกน้องของคุณพ่อบางคนเห็นเรามาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่มาวันหนึ่งเราต้องขึ้นมาบริหาร เราจะทำอย่างไรให้เขายอมรับเราให้ได้

“สำหรับพี่สาวอาจไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเขาดูแลบัญชี และการเงินที่ไม่ต้องไป touch กับคนมาก แต่สำหรับผม ที่เปิดแผนกใหม่ขึ้นมาเพื่อดูแลลูกค้า ดังนั้น หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรถึงจะให้ลูกค้าพอใจที่สุด เพราะเบาะรถยนต์อายุใช้งานประมาณ 4 ปี แต่ถ้า 4 ปีเกิดปัญหา ลูกค้าไม่พอใจ เราต้องเข้าไปเซอร์วิส เพื่อให้พอใจในการต่อสัญญากับเรา ตรงนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก”

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุณพ่อสอนคือเรื่องการบริหารคน ผมยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก แต่คุณพ่อบอกว่าเมื่อเราเป็นหัวหน้างาน เราจะต้องแฟร์กับทุกคน และไม่ว่าจะเป็นคนระดับไหน พนักงานระดับปฏิบัติงานเขาก็มีความสำคัญ สตาฟก็มีความสำคัญ รวมไปถึงผู้บริหารในไลน์การผลิตทุกคนก็มีความสำคัญเช่นกัน เราต้องมีความเท่าเทียมกับทุกคน และจะต้องรับฟังทุกปัญหาของลูกน้อง แม้เขาอาจจะไม่จบสูง แต่เขามีความเชี่ยวชาญมากกว่า เราก็ต้องรับฟัง”

“หน้าที่ของผมจึงต้องบาลานซ์ระหว่างคนเก่ากับคนรุ่นใหม่ให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เราต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราพร้อมที่จะช่วยเหลือเขาทุกเรื่องนะ โดยเฉพาะถ้าเขาติดปัญหาอะไร เราต้องยื่นมือเข้าไปช่วยในภาวะคับขัน และเขาจะรู้สึกยินดีกับเรา ที่สุดเราก็จะซื้อใจเขาได้ แต่กระนั้น เรื่องเหล่านี้ใช่ว่าจะทำสำเร็จกับทุกคน มีบ้างบางคนเหมือนกันที่รับเราไม่ได้ แม้จะพยายามอย่างไร และที่สุดเขาก็ลาออกไป โดยไม่มีความเข้าใจในตัวเรา”

“วศิน” บอกว่าแนวทางการแก้ปัญหา ผมใช้วิธีคุยกันตอนทานอาหารเช้า และเที่ยงด้วยกัน มีอะไรจะปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ช่วงนั้นตลอด บางครั้งสิ่งที่ผมทดลองนำมาใช้ได้ผลดี เขาก็ให้ทำต่อ แต่ถ้าแนวทางไหนเห็นแล้วเป็นเรื่องเทคนิค เป็นเรื่องซีเรียส และทำท่าว่าจะไม่ดี เราต้องหยุดทบทวนในสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะผิดพลาด ผมจะไม่ฝืนทำต่อเด็ดขาด

“ฉะนั้น ช่วง 2-3 ปีที่ผมเข้ามาทำงาน จึงเป็นการลองผิดลองถูกหลายเรื่อง และหลายเรื่องไปได้ดี ที่สำคัญ ผมมองว่าแนวทางในการทำงานควรใช้เวลาจากการทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่คิดจะทำแต่โอที แรก ๆ พนักงานอาจไม่เข้าใจ แต่เมื่อเราทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เพื่อจะได้นำเวลาส่วนหนึ่งไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“มีเวลาคิด มีเวลาอยู่กับครอบครัว ผมว่าพวกเขาน่าจะแฮปปี้ขึ้น เพราะสไตล์การทำงานของผมออกจะฝรั่งหน่อย ๆ มองประสิทธิภาพช่วงเวลาทำงานจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุด แม้ผมจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่จะต้องทุ่มเททำงานทุกวินาทีก็จริง แต่เราควรมีเวลาส่วนตัวบ้าง โดยอาจใช้เวลาเหล่านี้ไปสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้องบ้าง พูดคุยกับเขาบ้าง เพื่อเราจะได้รู้จักเขา และเขารู้จักเรา ผมว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับคนในองค์กรที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย”

“เนื่องจากพวกเขาทำงานในสถานที่จริง เขาจะรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานจริง ซึ่งเมื่อก่อนเวลาประชุมกันจะรายงานผ่านพาวเวอร์พอยต์ แต่เดี๋ยวนี้ เรารายงานกันสด ๆ มีอะไรก็ซักถามกันทันที ผมว่าสิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งคุณพ่อผมก็ชอบ เพราะสัมผัสกันได้ทันที อีกอย่างถ้ามีปัญหาอะไรก็สามารถช่วยเหลือกันได้ทันทีเช่นกัน”

จนที่สุด “วศิน” จึงค่อย ๆ สร้างกลุ่ม Talnet Group ขึ้นมาส่วนหนึ่ง และคนเหล่านี้นอกจากจะถูกวาง career path ให้เติบโตในสายบริหาร และสายการผลิต บุคคลเหล่านี้ยังถูกวางให้อยู่ในกลุ่ม succession plan เพื่อเตรียมก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารในระดับสูงต่อไปในวันข้างหน้าด้วย

“คุณพ่อพูดกับผมเสมอว่าถ้าไก่ไม่ขัน พระอาทิตย์คงไม่ขึ้น ความหมายคือบริษัทต้องเดินไปข้างหน้า ถ้าคนเหล่านี้ไม่อยู่ เราต้องฝึกคนใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งเหมือนกับการให้ตำแหน่งพนักงาน คุณพ่อจะไม่ให้ตำแหน่งก่อน โดยที่ไม่รู้ว่าเขาจะทำได้หรือเปล่า เพราะเสี่ยงเกินไป แต่คุณพ่อจะให้ตำแหน่งเมื่อรู้แล้วว่าพนักงานคนนั้นทำได้ และทำได้จริง ๆ ถึงจะให้ตำแหน่ง ตรงนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้กลวิธีการบริหารจากคุณพ่อ”

แม้ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ “วศิน” เข้ามาบริหารบริษัทในเครือ IHL ที่จะต้องเผชิญกับบริบท และความท้าทายมากมาย แต่ถึงวันนี้ เขารู้แล้วว่าการที่เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเร็วเท่าไหร่ ยิ่งจะทำให้เขาเรียนรู้โลกของธุรกิจรวดเร็วเท่านั้น

ซึ่งเหมือนกับวันนี้ที่เขากำลังเรียนรู้โลกของการบริหารธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อหวังในวันข้างหน้าว่าธุรกิจในเครือ IHL จะต้องเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดไป