หัวอก HR ?

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

ผมมักได้ยินคนทำงาน HR บ่นให้ฟังว่า MD หรือผู้บริหารในหน่วยงานต่าง ๆ มักจะพูดเชิงตำหนิ HR ทำนองนี้…ทำไม HR ถึงรับพนักงานไม่มีคุณภาพเข้ามาทำงาน

“ถ้าพนักงานเข้าใหม่ไม่ผ่านทดลองงาน ถือเป็นความผิดพลาดในการรับคนของ HR ด้วยหรือไม่”

“ควรกำหนดคุณภาพของการรับคนเข้าทำงานเป็น KPI ของ HR หรือไม่”

นี่เป็นตัวอย่างของคำถามที่เกี่ยวกับคุณภาพของการรับพนักงานใหม่ว่าเป็นความรับผิดชอบของ HR ในฐานะคนสรรหาคัดเลือกคนเข้ามาทำงานในบริษัท

คำถามเหล่านี้ล้วนถามหาความรับผิดชอบมาที่ HR เป็นหลัก !!

ถ้าบริษัทไหนกำหนดให้ HR มีหน้าที่ในการสรรหา และคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในทุกหน่วยงาน โดยที่ line manager ของแต่ละหน่วยงานไม่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกคนเลย เช่น ตำแหน่งงานที่ผู้สมัครงานไม่จำเป็นต้องมีทักษะความชำนาญหรือไม่จำเป็นจะต้องมีประสบการณ์ทำงานใด ๆ มาก่อน ในบางบริษัทก็จะให้ HR ทำหน้าที่คัดเลือกคนแล้วส่งตัวไปทำงานที่หน่วยงานที่ต้องการคนโดยตรงโดยที่หน่วยงานนั้นไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวอะไรในการคัดเลือก

ถ้าเป็นแบบนี้ แล้วพนักงานที่เข้ามาทำงานมีปัญหาในเรื่องคุณภาพละก็…HR คงหนีความรับผิดชอบไม่พ้นหรอกครับ

แต่ถ้าเป็นกระบวนการในการคัดเลือกคนเข้าทำงานกับบริษัทโดยทั่ว ๆ ไปมักจะทำกันทำนองนี้คือ

1.เมื่อมีพนักงานลาออก หรือมีความต้องการจ้างคนเข้าทำงานตามอัตรากำลังที่ได้รับอนุมัติใหม่ในหน่วยงานใด ผู้บริหารในหน่วยงานนั้นจะแจ้งความต้องการร้องขออัตรากำลังทดแทนมาที่ HR

2.เมื่อ HR ได้รับการร้องขออัตรากำลังทดแทน ต้องไปดูในสต๊อกใบสมัครงาน เพื่อคัดกรองใบสมัครที่มีคุณสมบัติตรงกับตำแหน่งงานที่หน่วยงานร้องขอมาประกอบกับการดู JD (Job Description) ของตำแหน่งงานนั้น ๆ ว่าต้องการคุณสมบัติอะไรบ้าง

3.ส่งใบสมัครที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วว่าตรงกับตำแหน่งงานนั้นไปให้ผู้บริหารในหน่วยงานนั้น ๆ พิจารณาแบบที่ภาษา HR จะเรียกว่าส่ง “short list candidate” ไปให้ line manager ดู

4.ผู้บริหารในหน่วยงานจะส่งใบสมัครที่ตนเองดูแล้วเห็นว่ามีคุณสมบัติตรงกับที่ต้องการและน่าสนใจมาเพื่อให้ HR ติดต่อผู้สมัครให้มาทดสอบข้อเขียนหรือทดสอบปฏิบัติ (ถ้ามี) หรือมาสอบสัมภาษณ์

5.ด่านสุดท้ายก่อนการตัดสินใจที่จะรับหรือไม่รับผู้สมัครงานคือการสัมภาษณ์ ซึ่งอาจจะมีรูปแบบการสัมภาษณ์แบบคณะกรรมการคือมี HR ร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานต้นสังกัด หรือ HR อาจจะสัมภาษณ์เพื่อคัดกรองในเบื้องต้น และส่งผู้สมัครที่ผ่านการคัดกรองไปสัมภาษณ์เดี่ยวกับผู้บริหารในหน่วยงานนั้น ซึ่งไม่ว่ารูปแบบการสัมภาษณ์จะเป็นแบบไหนก็ตามที่ผมบอกมานี้สรุปได้ว่าอย่างไร line manager จะต้องมีส่วนร่วมในการคัดเลือกด่านสุดท้ายคือการสัมภาษณ์ผู้สมัครงานอยู่ดี

6.ในการตัดสินใจคัดเลือกผู้สมัครงานนั้นสมมุติว่า HR มีความเห็นในการคัดเลือกผู้สมัครต่างจากที่ line manager เช่น HR มีความเห็นว่าควรเลือกผู้สมัครรายที่ 2 แต่ถ้า line manager มีความเห็นว่าควรรับผู้สมัครรายที่ 5 มากกว่า ในที่สุดต้องรับผู้สมัครรายที่ 5 ตามที่ line manager อยากได้แหละครับ

7.เมื่อรับผู้สมัครงานเข้ามาทำงาน มักจะมีระยะเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน (เป็นส่วนใหญ่) ซึ่งผู้บริหารในแต่ละหน่วยงานจะต้องดูแลให้มีการสอนงานพนักงานใหม่, ติดตามผลการทำงานของพนักงานใหม่, ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานใหม่ ฯลฯ

8.line manager พิจารณาจัดการพนักงานทดลองงานไปตามผลการปฏิบัติงาน เช่น ถ้าผ่านทดลองงานก็บรรจุเป็นพนักงานประจำ แต่ถ้าไม่ผ่านทดลองงานก็ดำเนินการไปตามแนวปฏิบัติที่บริษัทกำหนดไว้

จากที่ผมสรุปกระบวนการคัดเลือกคนเข้าทำงานมาตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 8 ท่านจะเห็นได้ว่า HR ไม่ได้เป็นคนคัดเลือกคนเข้าทำงานแต่เพียงฝ่ายเดียวนะครับ

ถามว่าใครล่ะที่เป็นคนตัดสินใจรับผู้สมัครเข้าทำงาน, สอนงาน, ประเมินผลการทดลองงาน, ตัดสินใจว่าจะบรรจุหรือไม่บรรจุพนักงานทดลองงานเข้าเป็นพนักงานประจำ ?

ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาพนักงานเข้าใหม่ไม่มีคุณภาพอย่างที่บริษัทต้องการ ทำไมถึงมาบอกว่า HR จะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวละครับ ?

จากที่ผมเล่ากระบวนการมาทั้งหมดนี้ ถ้าคนที่มีใจเป็นกลาง และเป็นธรรม คงจะคิดได้แล้วนะครับว่าตกลงแล้วใครควรจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบถ้าหากพนักงานเข้าใหม่ไม่มีคุณภาพอีกบ้าง และน้ำหนักของความรับผิดชอบในเรื่องนี้ควรจะเป็นของใครมากกว่ากันระหว่าง HR หรือ line manager

ฟังนิทานเรื่องหนึ่งดีไหมครับ

เพื่อนผมอยากมีแฟน เลยมาบอกผมให้ช่วยหาแฟนให้หน่อย ผมก็ไปสรรหาคนมาให้เพื่อนเลือกตามสเป็กที่เพื่อนบอกมาได้สัก 3 คน เพื่อนก็ตัดสินใจเลือกคบ 1 คนที่เขาเลือกเองว่าน่าจะเป็นคนที่พอดีกับเขา แต่พอคบหาดูใจกันไปสัก 3 เดือน 6 เดือนหรือ 1 ปี เกิดระหองระแหงทะเลาะกันมีปัญหากัน จนในที่สุดไปกันไม่ได้ต้องเลิกคบกัน เพื่อนกลับมาด่าผมหาว่าไปหาคนไม่มีคุณสมบัติที่ดี (อย่างที่เพื่อนต้องการ) มาให้ และจะให้ผมรับผิดชอบเรื่องนี้

ถ้าจะถามว่าคนที่เพื่อนผมบอกว่าไม่ดีน่ะ ใครเป็นคนตัดสินใจว่าจะคบเป็นแฟน, เขาเป็นคนไม่ดีอย่างที่เพื่อนบอกมาน่ะจริงหรือไม่ แล้วเพื่อนผมล่ะประพฤติปฏิบัติตัวกับเขาดีแล้วหรือยัง ฯลฯ

ง่ายดีไหมครับในการโยนความผิดมาให้คนอื่นโดยที่ตัวเองไม่ต้องร่วมรับผิดชอบอะไรเลย

หวังว่าท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะได้ข้อคิดบ้างแล้วนะครับ แต่ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วผู้บริหารคนไหนยังแยกแยะไม่ออก หรือคิดไม่ได้และยังยืนยันจะให้ HR รับผิดชอบเรื่องนี้แต่เพียงฝ่ายเดียวอยู่อีกละก็…เลือกเติมคำในช่องว่างเอาตามที่สบายใจแล้วกันนะครับ…555