ถอดมุมคิด “ไทยวา” สร้างองค์กรน่าทำงานที่สุดในเอเชีย

บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) หรือ TWPC ก้าวเข้าสู่ปีที่ 76 ในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตวุ้นเส้น และเส้นก๋วยเตี๋ยวใหญ่ที่สุดในไทย และเวียดนาม ปี 2566 บริษัทมีเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร พันธมิตร และกำลังการผลิตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สู่การเป็นองค์กรที่ยังยืนและน่าทำงานที่สุดในเอเชีย

“หทัยกานต์ กมลศิริสกุล” ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ ความยั่งยืน นวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานและสำนักงาน 15 แห่ง ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย และล่าสุดกัมพูชา ที่กำลังจะเปิดสำนักงานในปลายปี 2566 โดยบริษัทขายสินค้าในประเทศต่าง ๆ ที่มีโรงงานอยู่ และส่งออกกว่า 35 ประเทศทั่วโลก

หทัยกานต์ กมลศิริสกุล
หทัยกานต์ กมลศิริสกุล

ปัจจุบันประกอบธุรกิจ 3 ประเภท ได้แก่ หนึ่ง ธุรกิจแป้ง (plant-based) ดำเนินธุรกิจแบบการค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ภายใต้แบรนด์ ROSE สอง ธุรกิจอาหาร (วุ้นเส้นและเส้นก๋วยเตี๋ยว) ภายใต้แบรนด์ มังกรคู่ หงษ์ และกิเลนคู่ ดำเนินธุรกิจแบบการค้าระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C)

สาม ธุรกิจใหม่คือไบโอพลาสติก (biodegradable plastic) จากแป้งมันสำปะหลังครั้งแรกในโลก ภายใต้แบรนด์ ROSECO ดำเนินธุรกิจแบบ B2B

“สำหรับไบโอพลาสติกจากแป้งมันสำปะหลัง เป็นธุรกิจที่ไทยวาเริ่มวิจัยและพัฒนาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว โดยมีโรงงานที่ จ.ระยอง จากนั้นเริ่มทำการตลาดปี 2565 และได้ผลการตอบรับค่อนข้างดี เพราะเทรนด์ไบโอพลาสติกกำลังมา บวกกับหลายประเทศกำหนดให้ไบโอพลาสติกเป็นส่วนประกอบในการผลิตพลาสติกด้วย ดังนั้น ปลายปี 2566 บริษัทจะเพิ่มกำลังผลิตกว่าเท่าตัว

นอกจากนั้น เรายังมีกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างสมดุลระหว่างกลุ่มลูกค้า B2C และ B2B ทั้งในประเทศไทย จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และทั่วโลก”

กล่าวกันว่าไทยวาทุ่มเทเวลาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เตรียมความแข็งแกร่งให้พร้อม คว้าโอกาสหลังการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 จนทำให้ปี 2565 ความต้องการสินค้าในพอร์ตโฟลิโอทั้งหมดมีการเติบโตมากยิ่งกว่าในช่วงก่อนโควิด-19 ทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565

ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้รับรางวัล Steward Leadership 25 (SL25) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในการรับมือความท้าทายด้านสังคมในปัจจุบัน และในปี 2565 บริษัทยังคว้ารางวัลองค์กรดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย ประจำปี หรือ HR Asia Best Company to Work for in Asia 2022

“หทัยกานต์” กล่าวด้วยว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ ในฐานะที่บริษัททำธุรกิจในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร จึงมุ่งมั่นพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืน ตั้งแต่กระบวนการปลูกไปจนถึงมือผู้บริโภค (creating innovation and sustainability from farm to shelf)

โดยห่วงโซ่คุณค่าของไทยวาเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ตั้งแต่เกษตรกร คู่ค้าทางธุรกิจ ตลอดจนสังคม และผู้บริโภค ทั้งยังแบ่งภารกิจความยั่งยืนออกเป็น 4 กลยุทธ์หลักคือ การพัฒนาเกษตรกร, การพัฒนาโรงงานและชุมชนสีเขียว, การพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวพนักงาน และการวิจัยอาหารออร์แกนิกและอาหารเพื่อสุขภาพ

“บริษัทซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรโดยตรง ทั้งมันสำปะหลัง ข้าว และถั่วเขียว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราใช้เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมเกษตรกร และสนับสนุนสมาชิกเกษตรกรใช้ปุ๋ยหมักแทนสารเคมี ทั้งยังมีการจัดการอบรมเกี่ยวกับทักษะอาชีพและความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกร มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคิดเป็นร้อยละ 16 ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด เพิ่มคุณค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรผ่านนวัตกรรมการผลิตไบโอพลาสติกเป็นต้น”

นอกจากนั้น ภายในปี 2568 ไทยวาจะรุกลงทุนในด้านพลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 15 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นระยะยาวในการลดปริมาณคาร์บอนให้เป็นศูนย์ และเป็นการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพในฐานะองค์กรหลัก

“การจะขยายธุรกิจและเดินตามเป้าหมายความยั่งยืนที่ตั้งใจไว้ ไทยวาจึงกำหนดให้คนเป็น top agenda ขององค์กรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งใจจะพัฒนา local talents (คนเก่งที่อยู่ในท้องที่แต่ละประเทศ) เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนองค์กรและร่วมสร้างธุรกิจให้เติบโต”

“ดวงกมล จิรพรเกษมสุข” ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล กล่าวเสริมว่า ไทยวาส่งเสริมให้พนักงานมีบทบาทในการเสนอแนวคิดในการดำเนินการด้านความยั่งยืนขององค์กร บริษัทจึงมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมอย่างอิสระ

โดยทุกวันของการทำางาน บริษัทยินดีรับฟังผลสะท้อนกลับจากการทำงานของพนักงาน เพื่อนำมาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญในการมุ่งสู่ความสำเร็จคือ การที่พนักงานเข้าใจวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจ และมีความเชื่อในคุณค่าของการทำงานร่วมกัน

“ที่สำคัญ ไทยวาส่งเสริมการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และสนับสนุนความหลากหลาย พร้อมยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร (diversity and inclusion) โดย 1 ใน 3 ของกรรมการอิสระของบริษัทเป็นผู้หญิง, ร้อยละ 50 ของคณะผู้บริหารเป็นผู้หญิง, ร้อยละ 40 เป็นคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย ร้อยละ 60 จากผู้บริหารระดับสูงสุดจำนวน 25 คน เป็นผู้หญิง และคณะผู้บริหารครึ่งหนึ่งของบริษัทเป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 45 ปี”

นอกจากนั้น ไทยวายังวางกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างระบบการบริหารสมรรถนะ (competency management system) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

หนึ่ง สมรรถนะหลัก หมายถึงทักษะ และคุณลักษณะที่ทุกคนในองค์กรจำเป็นต้องมี

สอง สมรรถนะด้านการเป็นผู้นำ หมายถึงความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะที่จำเป็นของระดับหัวหน้างาน รวมถึงผู้นำของหน่วยงาน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ ค่านิยม และทิศทางเชิงกลยุทธ์ขององค์กร

สาม สมรรถนะตามบทบาทหน้าที่ หมายถึงความรู้ ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะที่ใช้ร่วมกันตาม job family ซึ่งเป็นกลุ่มงานที่มีลักษณะการทำงาน การพัฒนา และการจัดการสายอาชีพที่ใกล้เคียงกัน

“การสร้างผู้นำรุ่นใหม่เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของไทยวา จึงทำโครงการ Thai Wah Leadership Academy (TLA) เพื่อพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของพนักงานในทุก ๆ ระดับ เตรียมพร้อมคนข้างในองค์กรให้เติบโตขึ้นเพื่อเป็นผู้นำรุ่นใหม่ในอนาคต

โดยรูปแบบการเรียนรู้จะเป็นการถ่ายทอด Thai Wah DNA จากประสบการณ์ความสำเร็จของผู้บริหารรุ่นเก่า ผู้บริหารรุ่นปัจจุบัน และออกแบบมาให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพตามหลักการ 70-20-10 70% คือ การเรียนรู้และพัฒนาผ่านประสบการณ์ 20% เรียนรู้และพัฒนาผ่านผู้อื่น และ 10% เรียนรู้และพัฒนาผ่านการอบรมและเรียนหลักสูตรต่าง ๆ”


จนทำให้ “ไทยวา” กลายเป็นองค์กรที่น่าทำงานในที่สุด