โลกใหม่ ธุรกิจใหม่ “SEAC” ไขปริศนา “Disruption”

เชื่อว่าภาพจำของธุรกิจที่ปรึกษา การฝึกอบรม และพัฒนาผู้บริหารระดับสูงตลอดระยะเวลาผ่านมากว่า 25 ปี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เอพีเอ็ม กรุ๊ป” คือหนึ่งในบริษัทเหล่านั้นที่มีผู้นำองค์กรต่าง ๆ จากทั่วประเทศไทยต่างใช้บริการ

แต่เมื่อกระแสของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จึงต้องยอมรับความจริงว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่ปรึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย หาไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ อย่างตรงจุดได้

ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้ “อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ South East Asia Center (SEAC) ศูนย์พัฒนาผู้นำ และผู้บริหารระดับสูงพยายามหาข้อมูลจากหลาย ๆ ประเทศ ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย โดยเฉพาะกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “Disruption” กระทั่งพบว่าจริง ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาตลอด

อย่างครั้งหนึ่งเคยมีคำว่า “CHANGE” พอถึงตอนนี้กลายเป็น “Disruption” ซึ่งในมุมมองของ “อริญญา” มองว่า “Disruption” คือการเปลี่ยนแปลงในวิธีใหม่เท่านั้นเอง ไม่ได้มีความน่ากลัวอย่างที่ใคร ๆ กังวลกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของ “Disruption” คือการเปลี่ยนแพลตฟอร์มของการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ ที่เคยทำอย่างต่อเนื่องนานมาแล้ว เพื่อทรานส์ฟอร์มองค์กรของตัวเองในการก้าวเดินไปสู่โลกใบใหม่ ทั้งในเรื่องวิธีคิด มุมมอง และการดำเนินธุรกิจในลักษณะที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

“อริญญา” บอกว่าผลจากการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดทำให้แน่ใจว่าสิ่งที่จะนำพาองค์กรของตัวเองก้าวข้ามผ่านธุรกิจเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าองค์กรต่าง ๆ ได้ จะต้องไม่จำกัดอยู่เฉพาะแค่ตลาดในประเทศเท่านั้น แต่จะต้องนำพาตัวเองเข้าไปสัมผัสกับตลาดในอาเซียนด้วย จนที่สุดจึงเกิด SEAC ในปี 2017

ทั้งยังมีการมองหาพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อกระแสของ “Disruption” ทั้งนั้นเพราะ “อริญญา” มองว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันมาจาก 5 สาเหตุหลัก ๆ ด้วยกันคือหนึ่ง ความสามารถของคนในการสร้างเทคโนโลยีขึ้นมา กอปรกับเทคโนโลยีฉลาดกว่าคนในหลาย ๆ เรื่อง อีกทั้งเทคโนโลยียังทำให้เกิดความเร็วของข้อมูลข่าวสารที่ไม่สามารถควบคุมได้ จนทำให้การแข่งขันทางธุรกิจเป็นคนละเกมกับแบบเดิม ๆ อย่างเช่น เมื่อก่อนถ้าจะลงทุนด้านการตลาด จำเป็นต้องมีเงินจำนวนมหาศาล ที่จะให้สินค้า หรือบริการเป็นที่รู้จัก แต่ตอนนี้หากเรามีเทคโนโลยีที่โดดเด่น การใช้เครื่องมือจะช่วยสร้างมาร์เก็ตติ้งได้ โดยใช้งบประมาณไม่สูงมาก

“ทั้งนั้นเพราะเทคโนโลยีทำให้หลาย ๆ อย่างเร็วขึ้น ทั้งยังมีความเชื่อมโยงกัน ที่ไม่ใช่แค่เรา แต่เป็นเพื่อนเรา เพื่อนของเพื่อน ๆ อีก ตรงนี้ถือเป็นความน่ากลัว เพราะเทคโนโลยีสามารถช่วยทำให้ราคาประชาสัมพันธ์ และการตลาดถูกลงมาก จนทำให้บางคนนำเทคโนโลยีไปเปลี่ยนแปลงธุรกิจ”

สอง เทคโนโลยีทำให้การใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนแปลง อาทิ การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน ที่ไม่ใช่เพียงโทรศัพท์ แต่มีแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ มากมายที่ตอบสนองกับความต้องการในการใช้ ซึ่งมีความสะดวกสบาย และเมื่อมีความสะดวกสบายเกิดขึ้น มือถือเพียงเครื่องเดียวสามารถทำอะไรก็ได้ เพราะทำให้เกิดการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ผ่านสมาร์ทโฟน จนทำให้บางธุรกิจ หากไม่มีการปรับตัวตามความสะดวกที่เกิดขึ้น จะทำให้ไม่สามารถเข้ากับ market trend ได้ และไม่ใช่เรื่องของ Generation ต่าง ๆ ด้วย เพราะการเชื่อมโยงผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้เกิดความคุ้นชิน เราจะเข้าถึงบริการที่รวดเร็ว และมีความสะดวกสบายขึ้น

สาม ความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งแต่เดิมกว่าจะได้ข้อมูลต่าง ๆ เราต้องพึ่งพาหน่วยงานอื่นในการค้นหาข้อมูล แต่ปัจจุบันด้วยความรวดเร็ว (Speed) ทำให้เข้าถึงข้อมูลอย่างง่าย ๆ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มีความคุ้นชินกับการใช้เวลานาน ๆ หรือแม้กระทั่งลูกค้าต้องการความรวดเร็ว และความเร็วถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิต

สี่ เมื่อโลกเต็มไปด้วยข้อมูลที่หลากหลาย ทำให้คนเก่งขึ้น โดยไม่ต้องใช้เวลาในการมีประสบการณ์ หรือใช้เวลาเติบโตในสายงานอาชีพเป็นลำดับขั้น เพราะเมื่อโลกเต็มไปด้วยข้อมูล คนรุ่นหลัง ๆจึงหาข้อมูล กระทั่งนำมาพัฒนาเป็นสินค้า และบริการที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน ตรงนี้เห็นได้จากกลุ่ม startup เพราะพวกเขามีข้อมูล มีความกล้า และสามารถสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาแข่งขันกับธุรกิจในโลกยุคเก่า

ห้า คนเริ่มมีความรู้สึกว่าเราอยู่กับปัญหาแบบเดิม ๆ มานานพอแล้ว จึงเกิดความต้องการที่จะออกไปหาอะไรใหม่ ๆ และตัวเลือกอื่น ๆ เพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก หรือแม้แต่ในอาเซียนก็ตาม

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “อริญญา” ไม่เพียงโฟกัสธุรกิจแค่เฉพาะประเทศไทย หากมองไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด โดยมีการวางแผน ทำการสำรวจตลาดอย่างใกล้ชิด ทั้งยังแบ่งช่วงเวลาการขยายตลาดออกเป็นช่วง ๆ สำหรับช่วงแรกเราขยายธุรกิจที่เมียนมา และเวียดนาม

“สำหรับตลาดเมียนมา เราเน้นเจาะตลาด local เป็นหลัก เพราะอยากรู้ว่าตลาดในประเทศเติบโตแบบไหน ส่วนเวียดนาม เราเริ่มต้นจากลูกค้าในประเทศไทยที่มีโรงงาน หรือสาขาที่เวียดนามที่เขานำผลิตภัณฑ์ของเราไปใช้ แล้วปรากฏว่าเป็นที่ยอมรับ ก็เลยมีลูกค้าในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ต่อจากนั้น เรากำลังลุยต่อในเฟส 2 เพื่อขยายตลาดไปยังสิงคโปร์ และอินโดนีเซียตามลำดับต่อไป”

“นอกจากนั้น เรายังทำการศึกษาเพิ่มเติมจนพบว่ามีอยู่ 2 เรื่องที่เหมือนกันทุกประเทศคือรูปแบบการนำ (leadership) จะไม่เหมือนเดิม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจ หรือภาคเอกชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาครัฐด้วย จึงทำให้เราต้องสร้างการนำรูปแบบใหม่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้รูปแบบการนำแบบเดิมไม่สามารถใช้การได้ เราจึงมาโฟกัสเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ วิธีการในการสร้างผู้นำในยุคปัจจุบัน และอนาคต”

“ส่วนเรื่องนวัตกรรม ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เหมือนกันในทุกประเทศ ถึงแม้ว่าเราเองจะมีการคิดค้นเรื่องใหม่ ๆ ออกมาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับนานาชาติยังถือว่าน้อย โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมที่สะท้อนถึงตัวสินค้า และบริการ และรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงยังมีอยู่น้อยมาก เราจึงต้องพัฒนาตรงนี้เพิ่มขึ้น หรืออาจด้วยการหาพันธมิตรเข้ามาเป็นตัวช่วย”

สำหรับเรื่องนี้ “อริญญา” เล่าให้ฟังว่าตอนนี้ SEAC เริ่มมองหาพันธมิตรใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาช่วยในการทำให้เป้าหมายของเราประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องของ leadership และ innovation โดยเรื่องของนวัตกรรม เราร่วมมือกับ Stanford Center for Professional Development, Stanford University สหรัฐอเมริกา เหตุผลสำคัญที่เราร่วมมือกับสแตนฟอร์ด เนื่องจากปริมาณผู้นำยุคใหม่ และปริมาณผู้นำที่สแตนฟอร์ดไปช่วยโค้ช หรือช่วยให้คำแนะนำกับสตาร์ตอัพในซิลิคอนวัลเลย์มีจำนวนมาก อีกทั้งยังมองถึงวิธีคิด และรูปแบบที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วย

“ส่วนเรื่อง leadership เรามองถึงการสร้างผู้นำที่ตอบโจทย์การสร้างองค์กรเพื่ออนาคต เราจึงร่วมมือกับ The Ken Blanchard Companies ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องการพัฒนาผู้นำ ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างผู้นำอย่างต่อเนื่องมาเป็นพันธมิตร เพราะเราต้องการพัฒนาผู้นำในอนาคต ที่มีมุมมองแตกต่างกันออกไป โดยผ่านความเข้าใจเรื่องวิธีคิด การมองโลก มองคน จนทำให้เราไปร่วมมือกับ The Arbinger Institute สถาบันที่เน้นเรื่องของการเชิญชวนให้คนเปลี่ยนวิธีการมอง”

“เหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องหาพันธมิตร เพราะถ้าเริ่มใหม่จากศูนย์จะมีความยาก แต่การหาพันธมิตรให้สอดคล้องกับแนวทาง และวิสัยทัศน์ของเราจะทำให้ทุกอย่างขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว และทันที”

“อริญญา” บอกว่าหลังจากทำมาช่วงหนึ่ง ปรากฏว่ากลุ่มลูกค้า family business ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ (family owner) เอง ทั้งขนาดใหญ่และเล็กในเมียนมา, เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีการตอบรับดีขึ้น เพราะเขาต้องการเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ และสิ่งที่เขาทำง่ายกว่าประเทศไทยคือเขาไม่เสียเวลามาสานต่อธุรกิจเดิม แต่เขาพร้อมที่จะก้าวกระโดดไปหาธุรกิจใหม่ทันที

“หรือแม้กระทั่งสิงคโปร์ก็ตาม ตอนนี้ต้องถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าอีกกลุ่มที่สนใจการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเดิมค่อนข้างมาก ไม่เว้นแต่องค์กรขนาดใหญ่ ๆ ของไทย ธนาคาร หรือแม้แต่องค์กรข้ามชาติที่มาดำเนินธุรกิจในเมืองไทย เขาต้องการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มในการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ เพราะเขารู้ดีว่าเครื่องมือทางเทคโนโลยีกำลังถาโถมเข้ามา หากไม่เปลี่ยนแปลงเขาจะอยู่ไม่ได้”

“แต่การจะทำเช่นนั้นให้ประสบความสำเร็จ เราต้องเน้นการเปลี่ยนแปลงในระดับผู้นำ (leadership approach)ก่อน โดยเริ่มพัฒนาแบบ top down คือเปลี่ยนมุมมองผู้บริหารก่อน จากนั้นถึงจะค่อย ๆ ลงมาสู่พนักงาน ผู้ปฏิบัติงานในระดับอื่น ๆ ตรงนี้ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาองค์กรให้รับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “อริญญา” มองว่าสิ่งที่จะช่วยทั้งหมดให้เกิดขึ้นเป็นภาพใหม่ได้จริง หลักสูตร Leading in a Disruptive World (LDW) จะเป็นตัวไขปริศนาของคำตอบว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันครั้งนี้น่าจะแก้ไขได้

“เพราะหลักสูตร LDW เป็นหลักสูตรที่เจาะลึกด้านนวัตกรรม และการดำเนินธุรกิจในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยทาง SEAC ร่วมกับ Stanford Center for Professional Development (SCPD) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งถือว่าเป็นแห่งเดียวในเอเชีย ที่มีความเฉพาะกับบริบท และความจำเป็นในยุคอนาคตของผู้บริหารภูมิภาคนี้”

“นอกจากนั้น หลักสูตรนี้จะพัฒนาผู้นำองค์กรให้เข้าถึงแก่นการเรียนรู้ มีความสามารถในการค้นพบแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ผ่านการลองผิดลองถูก กล้าที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว พร้อมพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้นำ และแนวทางในการคาดการณ์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ ซึ่งองค์กรต้องยืนหยัดและรับมือให้ได้”

“เพราะหลักสูตร LDW จะให้ผู้บริหารเรียนรู้กับศาสตราจารย์ของสแตนฟอร์ด พร้อมกับเดินทางไปศึกษาดูงานยังซิลิคอนวัลเลย์ ศูนย์รวมสำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ ปัจจุบันดำเนินโปรแกรมไปแล้วทั้งหมด 2 รุ่น รุ่นละประมาณ 30 คน”

ทั้ง SEAC ยังมีแผนในปี 2018 ที่ทำอย่างไรถึงจะมีโปรแกรมนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะ “อริญญา” ต้องการให้ผู้นำธุรกิจในประเทศไทยมีโอกาสสัมผัส และฟังเหล่าบรรดาศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้าน disruption จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดโดยเฉพาะ

โดยอาจเชิญมาเป็นบางส่วนหรือใช้การไลฟ์สดมายังประเทศไทยเพราะเป้าหมายของ “อริญญา” ต้องการยกระดับการจัดการการศึกษาในเรื่องขององค์กรยุคใหม่เพื่อก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสหัสวรรษใหม่ นอกจากนั้น ยังวางโปรแกรมต่อเนื่องออกมาในชื่อ “Leading Innovation with Design Thinking” ซึ่งถือเป็นโปรแกรมพัฒนานวัตกรรมอันล้ำสมัย ด้วยการคิดเชิงออกแบบ และถือเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมที่ SEAC และ SCPD ร่วมกันพัฒนาสำหรับผู้นำองค์กร และผู้บริหาร

“โปรแกรมนี้จะส่งเสริมกระบวนการในการคิดที่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภค และผู้รับบริการเป็นหลัก โดยเฟ้นหากลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์นวัตกรรมอันล้ำสมัย พร้อมทั้งลงมือ และฝึกทักษะภาคปฏิบัติ จนสามารถนำเทคนิค และความรู้กลับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กรได้จริง และทันท่วงที จนตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และผู้รับบริการทันที ในการสร้างความก้าวหน้า และความแตกต่างให้แก่องค์กร”

“จากการที่เราเข้าไปศึกษาตัวกระบวนการนี้ ทำให้รู้ว่าแนวคิดของ design thinking ไม่ได้เชื่อว่าคนหนึ่งคนจะเป็นอย่างสตีฟ จ็อบส์ได้ทุกคน แต่เราต้องการให้องค์กรหันมาสนใจ และเสาะแสวงหาคนเก่งที่สุดอยู่ตรงไหนมากกว่า เพราะคนเหล่านี้คือทาเลนต์ขององค์กร เพราะความเป็นจริง คนเก่ง ๆ มักหายาก จนทำให้เกิดการแย่งชิงคนเก่ง ดังนั้น กระบวนการของ design thinking จึงมองไปที่การหาสินค้าใหม่, ผลิตภัณฑ์ใหม่, การบริการใหม่ และการบริหารองค์กรใหม่ ด้วยการใช้กระบวนการ (process) มาเป็นตัวคัดสรร เพราะรูปแบบนี้จะไม่ได้เน้นที่ตัวคน แต่เป็นการใช้กระบวนในการค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา”

“ทั้ง 2 โปรแกรมถือว่าเป็นจุดเด่นของเราในปีนี้ เพราะโปรแกรมแรกเป็นการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริหาร ผู้นำในองค์กร ส่วนโปรแกรมที่สองเป็นการลงมือปฏิบัติจริง ในขณะที่โปรแกรมสนับสนุนอื่น ๆ ยังมีอยู่ ซึ่งความร่วมมือในการสร้างผู้บริหาร ผู้นำองค์กรยุคใหม่ถือเป็นการยกระดับบทบาทที่ปรึกษาของเราให้ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง ที่ไม่อยู่เฉพาะประเทศไทย แต่เราพร้อมก้าวไปในภูมิภาคอาเซียนแล้ว”

ซึ่งไม่ธรรมดาเลย